top of page
image.png

ธอส. สุดยอดธนาคารแห่งปี 2565


นิตยสารดอกเบี้ย และ นสพ.ดอกเบี้ยธุรกิจ ประกาศยกย่อง “ธนาคารอาคารสงเคราะห์” หรือ ธอส. “สุดยอดธนาคารแห่งปี 2565”...Bank of the year 2022

ทั้งนี้ด้วยผลการดำเนินงานของธนาคารที่เติบโต และไม่เพียงทำหน้าที่ธนาคารที่ช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงแหล่งของเงินในระบบจนสามารถมีบ้าน/ที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้เท่านั้น แต่ยังพร้อมช่วยเหลือดูแลลูกค้าและสังคมให้ผ่านสถานการณ์ต่างๆ มาได้โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัด

อย่างที่รู้กันว่าปี 2565 เป็นปีแห่งความหวังของผู้คนว่าจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ และกิจกรรมธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวได้ใหม่หลังจากผ่านสถานการณ์ย่ำแย่จากโควิดอย่างหนักหน่วงมาตั้งแต่ปี 2563-2564 แต่เอาเข้าจริงในปี 2565 สำหรับเศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้นคืนชีพอย่างที่หวังได้เร็วนักภายใต้สถานการณ์ที่ยังคงระบาดอยู่ของโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจยังลักปิดลักเปิด โดยเฉพาะภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เมื่อปากท้องยังมีปัญหา นั่นหมายถึงความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย/การผ่อนบ้าน/การคิดขยับขยายซื้อบ้านใหม่ย่อมเป็นปัญหาตามมา ทว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ “ธนาคารบ้าน” อย่าง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. กลับทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา

ตามพันธกิจของ ธอส. สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ... "ทำให้คนไทยมีบ้าน" ... ธอส.มีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านการปล่อยสินเชื่อให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์

แม้ปี 2565 จะเป็นอีกปีที่ไม่ง่ายเพราะเพิ่งผ่านสถานการณ์แห่งความยากลำบากมา 2 ปีเต็มๆ จากโควิด...แต่ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบการก่อตั้ง ธอส. 69 ปี เพื่อก้าวสู่ปีที่ 70 ผู้บริหารพนักงาน ธอส.ก็ยิ่งร่วมแรงร่วมใจกันมากขึ้น เพื่อผลักดันธนาคารให้ประสบความสำเร็จตามพันธกิจและเป้าหมายจนประสบความสำเร็จในที่สุด

ความสำเร็จจากการปล่อยสินเชื่อของ ธอส.ไม่เพียงเป็นผลงานของเหล่าผู้บริหารพนักงาน แต่นั่นหมายถึงผลลัพธ์ที่ว่า ธอส. สามารถช่วยให้คนมีบ้าน ยิ่งปล่อยสินเชื่อมากเท่าไหร่ก็คือช่วยให้คนมีบ้านได้มากขึ้นไปอีก

ด้วยตัวเลขผลการดำเนินงาน ธอส.ในปี 2565 พบว่าสามารถทลายกำแพงเป้าหมายได้อย่างทะลุทะลวง จากการตั้งเป้าแผนการดำเนินงานสำหรับปี 2565 ให้การเติบโตของสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นจากปี 2564 5% ของสินเชื่อใหม่ในปี 2564 ที่ 2.15 แสนล้านบาท และบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 4.67% ของสินเชื่อรวม

การดำเนินการปี 2565 ภายใต้ยุทธศาสตร์แนวคิด GHB Next Move Sustainable Bank มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนด้วย 3 แนวทางหลักในการขับเคลื่อนองค์กร ประกอบด้วย

1. เพิ่มประสิทธิภาพ Technology ใช้ Technology Digital ปรับกระบวนการให้บริการลูกค้าด้วย Digital Services และ Implement Digital Operation สำหรับ Digital Services พัฒนา Mobile Application : GHB ALL GEN เป็น New Version Mobile Application : GHB ALL ให้ทันสมัยใช้งานง่ายตอบโจทย์ Lifestyle แบบ New Normal ของลูกค้าทุก Generation ทั้งในด้านเงินฝากตั้งแต่กระบวนการเปิดบัญชี การโอนเงิน การซื้อสลากออมทรัพย์ การชำระหนี้เงินกู้สามารถใช้บริการเงินฝากประจำผ่าน Mobile Application

ในด้านบริการสินเชื่อ ธอส.ยกระดับทั้งกระบวนการตั้งแต่การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ การติดต่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อ (Digital Loan Officer) การทราบราคาประเมินผ่านระบบ GHB Digital Appraisal การแจ้งผลอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงการลงนามสัญญาแบบ Electronic ผ่านระบบ e-Contract ซึ่งลูกค้าจะได้รับเอกสารสัญญาเงินกู้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยลูกค้าจะสามารถทำธุรกรรมทั้งหมดกับ ธอส.ได้โดยผ่าน Mobile Application : GHB ALL GEN Any where Any time

ขณะที่กระบวนการประนอมหนี้ ลูกค้าสามารถประนอมหนี้ผ่าน Mobile Application : ALL Be Friend และซื้อบ้านมือสองของ ธอส. หรือ GHB NPA ผ่าน Mobile Application : ALL HOME ทุกธุรกรรมที่สำคัญลูกค้าจะได้รับการยืนยันผ่าน Line Application : GHB Buddy ซึ่งมีการแจ้งเตือนบริการใหม่ๆ เพิ่มเติม

ส่วนกระบวนการปฏิบัติงานภายในของธนาคารทั้งหมด ถูกยกระดับด้วย Digital Operation เช่น ระบบสื่อสารภายในของธนาคารผ่าน Application : WE รวมถึงระบบ Digitizer ซึ่งเป็นระบบการจัดการอนุมัติเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น นำแบบฟอร์มเข้าระบบ ช่วยลดชั่วโมงการทำงานลง

2. ยกระดับ Operation การทำงานที่เกี่ยวกับลูกค้า โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางผ่าน Customer Journey เพื่อให้ลูกค้ารู้จัก เข้าถึง ใช้จริง บอกต่อ และ Loyalty กับธอส.

เริ่มจากการสร้างความ "รู้จัก" ด้วยการส่งเสริมภาพลักษณ์ของ ธอส. ให้เป็น Super brand ธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้านของลูกค้าทุกกลุ่มที่ต้องการใช้บริการจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านโครงการที่น่าสนใจ อาทิ GHB Online Virtual Event : มหกรรมการเงินออนไลน์บนโลกเสมือนจริง พร้อมข้อเสนอที่ดีที่สุด ที่ให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายผ่านหน้าจอโทรศัพท์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2565

"เข้าถึง" ด้วยการเพิ่มช่องทางการติดต่อให้กับลูกค้าผ่านดิจิทัล อาทิ โครงการ B-Mall เพื่อติดต่อลูกค้าผ่านช่องทาง Line Official แยกเขตพื้นที่ตามภูมิภาคเพื่อให้สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่สินเชื่อ Digital Loan Officer ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อ Virtual Branch อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่สนใจยื่นกู้โดยลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา

"ใช้จริง" ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายและอัตราดอกเบี้ยต่ำ นำโดยโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรกเท่ากับ 1.99% ต่อปี สำหรับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยในระดับราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1.2 ล้านบาท

นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ นำมาจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อโดยตรงในลักษณะเดียวกันกับ Peer-to-Peer Lending (P2P) ที่เชื่อมโยงเงินระหว่างผู้มี Wealth มาเจอกันกับผู้ต้องการขอสินเชื่อ

"บอกต่อ" โดยการจัดทำโครงการ "Data Driven Analytic" การนำฐานข้อมูลการใช้บริการของลูกค้ามาวิเคราะห์และจัดผลิตภัณฑ์หรือโปรโมชันให้ตรงกับความต้องการ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาบ้านให้กับลูกค้าที่ประสบอุบัติเหตุมีปัญหาการผ่อนชำระด้วยช่องทางการติดต่อประนอมหนี้ผ่าน Application : GHB ALL Be Friend รวมถึงมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สะท้อนความเข้าใจและอยู่เคียงข้างกับลูกค้าในช่วงที่ประสบปัญหาให้ได้ดีที่สุดต่อไป

เหล่านี้ทำให้ ธอส.มั่นใจว่าจะทำให้เกิด "Loyalty" เกิดขึ้นจากการที่ ธอส.มอบความช่วยเหลือลูกค้าในยามวิกฤต นำไปสู่การใช้บริการอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น และยังคงอยู่กับกับ ธอส. ตลอดไป

3. พัฒนาผู้ปฏิบัติงานสู่ People Excellence เพื่อให้มีความพร้อมและมีความสามารถในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พร้อมทำงานด้วยความรวดเร็วและเป็นมืออาชีพ เพื่อเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ “ธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน”

ภายใต้ความมุ่งมั่นและการเดินตามแผนยุทธศาสตร์ผลปรากฏให้เห็นชัดถึงความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ธอส.สามารถ สร้าง “ปรากฏการณ์ใหม่!!” นั่นคือ ปล่อยสินเชื่อบ้านทะลุ 1 แสนล้านบาทได้ภายในเวลาเพียง 5 เดือน ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565...ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อได้เช่นนี้ และเป็นจำนวนที่สูงขึ้นถึง 21.17% หากเทียบกับ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 สะท้อนการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือให้คนไทยมีบ้าน

ทำให้มั่นใจว่า ณ สิ้นปี 2565 ธอส.จะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 280,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 226,423 ล้านบาท

หากแต่ ธอส.ทำให้เกินความคาดหมายคือ ไม่เพียงปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทะลุ 200,000 ล้านบาทเป็นการฉลองการก่อตั้งธนาคารครบรอบ 69 ปีในเดือนกันยายน 2565 แต่ยังเดินหน้าสร้างผลงานได้แรงกว่านั้นโดยสามารถปล่อยสินเชื่อได้เกินกว่าที่ตั้งเป้า (ที่ขยายไว้แล้ว) ที่ 280,000 ล้านบาท โดยผลปรากฏว่าทั้งปี 2565 ธอส.สามารถทำได้ทะลุ 300,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

การที่ ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แตะ 300,000 ล้านบาทนี้ นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์สูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

การที่ ธอส.ประสบความสำเร็จในการปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากต่างประเทศทั้งกรณีรัสเซีย ยูเครน การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ สถานการณ์เงินเฟ้อ ต้นทุนพลังงาน และราคาวัสดุก่อสร้างที่แพงขึ้น ค่าบ้านที่แพงขึ้น แต่ ธอส. ยังคงให้สินเชื่อโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในตลาด และยังคงประกาศตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด

ทั้งนี้ ธอส.สามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน คณะกรรมการธนาคารเห็นชอบปรับแผนการระดมเงินทั้งในส่วนของเงินฝากและการออกสลากออมทรัพย์เพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อ

พร้อมกันนี้ ธอส.ยังได้จัดแผนรับมือสถานการณ์ในช่วงโค้งท้ายปลายปี ที่แบงก์ชาติไม่ต่ออายุมาตรการ LTV และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นช่วงขาขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้ประชาชนเร่งขอสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นด้วยการเตรียมพร้อมปล่อยสินเชื่อ และเดินหน้าทำแผนตามโครงการ “บ้านล้านหลัง เฟส 3” วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้สูงสุด 1.5 ล้านบาท

ขณะที่โครงการบ้านล้านหลัง เฟส 2 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 99,760 ราย ยื่นขอสินเชื่อ 20,311 ราย วงเงินสินเชื่อ 18,358 ล้านบาท และได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 18,707 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 16,322 ล้านบาท (ตัวเลขครึ่งปี 2565)

ขณะเดียวกัน จากมาตรการต่าง ๆ ที่ธนาคารได้เร่งออกมาช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้ม NPL กลับมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลให้สิ้นปี 2565 คาดว่าหนี้เสียของ ธอส. จะอยู่ที่ระดับ 60,000 ล้านบาท หรือราวๆ 4-5% ของสินเชื่อรวมกว่า 1,600,000 ล้านบาท

จากผลงานนี้คาดหมายว่า ธอส.จะสามารถสร้างกำไรได้ตามเป้าหมายตัวชี้วัดมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และสามารถนำส่ง 45% ของกำไร เข้าเป็นรายได้ให้กับกระทรวงการคลังนำไปใช้จ่ายเป็นงบประมาณแผ่นดิน

ในด้านการเป็นธนาคารที่มีความทันสมัย สำหรับปี 2565 ธอส.เดินหน้าเต็มพิกัดเพื่อเป็นดิจิทัลแบงกิ้งเต็มรูปแบบภายในปี 2566 โดยพยายามลดธุรกรรมบนเคาน์เตอร์เกือบหมด และให้บริการผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น

ธอส.ลงทุนพัฒนาทางด้านระบบเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลใหม่ๆ ด้วยงบประมาณลงทุนรวมไม่เกิน 400 ล้านบาท โดยใช้ชื่อว่า End to End Process หรือการให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายผ่านบริการด้านดิจิทัลทั้งหมด

ทั้งนี้ ธอส. ลงทุนพัฒนาทางด้านระบบเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลใหม่ๆ ด้วยงบประมาณลงทุนรวมไม่เกิน 400 ล้านบาท โดยใช้ชื่อว่า End to End Process หรือการให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายผ่านบริการด้านดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารได้ไปพร้อมกัน โดยมี 3 Module หลักประกอบด้วย 1. ด้าน Funding 2. ด้านสินเชื่อ และ 3. ด้านการบริหารจัดการทรัพย์ด้อยคุณภาพ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Fingers Strategy คือ ให้ประชาชนรู้จัก ธอส. เข้าถึง ใช้จริง บอกต่อ และเกิด Loyalty

โดย Module ด้าน Funding ธอส. มีการระดมทุนผ่านหลายช่องทาง ทั้งเงินฝากแบบปกติที่มีสมุดบัญชี เงินฝากแบบอิเล็กทรอนิกส์ สลากออมทรัพย์ พันธบัตร อนุพันธ์ (Derivatives) ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่นเดียวกับการจัดทำสลากออมทรัพย์ ธอส. ที่มีความแตกต่างจากสลากของสถาบันการเงินอื่นในตลาด

นอกจากนี้ได้ทุ่ม 70 ล้านบาทพัฒนาเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน “GHB ALL GEN” ถือเป็น Application ใหม่ที่ธนาคารได้พัฒนาขึ้นมารองรับการใช้งานแทน Application GHB ALL เดิมที่มีลูกค้าสมัครและใช้บริการอยู่มากกว่า 1 ล้านคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้ดียิ่งขึ้นและรองรับลูกค้าของ ธอส. ได้ทุก Generation ใช้งานเฟสที่ 1 ได้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565

อีกทั้งยังมีการนำ Data Analytic ทางด้านการประเมินราคาที่อยู่อาศัยมาพัฒนาระบบ Digital Appraisal ทำให้ลูกค้าทราบราคาประเมินบ้านเบื้องต้นได้ทันทีและลูกค้ายังสามารถเซ็นสัญญาเงินกู้แบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการลงนามรูปแบบกระดาษได้ด้วย e-Contract และเมื่อได้เป็นลูกค้าของ ธอส. แล้วก็จะสามารถผ่อนชำระเงินกู้ผ่าน GHB ALL GEN ได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา

รวมทั้งได้เปิดตัวแอปใหม่ GHB ALL BFRIEND เพื่อนที่พร้อมอยู่เคียงข้างลูกค้าที่ประสบปัญหาการผ่อนชำระธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้และประสบปัญหาในการผ่อนชำระ สามารถเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือด้านการประนอมหนี้ของธนาคารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ทางการเงินยุคปัจจุบันบนโลกออนไลน์

ด้วยการเตรียมการนี้จะทำให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าผ่านระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ (Full Digital Banking) ภายในปี 2566 จะประสบความสำเร็จในที่สุด และเป็น Digital Banking ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ในด้านการทำหน้าที่เพื่อสังคม ธอส.ก็โดดเด่นมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่หัวเรือใหญ่ จัดกิจกรรม “GHB Green Together” ลดภาวะโลกร้อน รณรงค์ให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ไลฟ์สไตล์กรีน เรียนรู้และลงมือทำอย่างจริงจัง ช่วยลดการเกิดขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งวงจร ตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค เข้ากันกับแนวทางหลักของประเทศที่ชูบทบาทในเรื่องนี้ในการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการช่วยเหลือเมื่อคนไทยมีความเดือดร้อนหนัก อย่างเช่นกรณีน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา ทั้งช่วยในส่วนที่เป็นเหตุเฉพาะหน้าให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ เป็นการเร่งด่วน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR ของธนาคาร ด้วยความห่วงใยและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และการช่วยซัพพอร์ตภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าดูแลในเรื่องการผ่อนปรนสินเชื่อ การยืดหนี้ และการให้สินเชื่อดูแลซ่อมแซมบ้านของผู้เดือดร้อน ออกมาตรการความช่วยเหลือด้านการประนอมหนี้ของธนาคารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ผ่านระบบออนไลน์

ในรอบปีที่ผ่านมา ธอส.คิด...คิด และคิด เพื่อออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้าประชาชน เช่น เงินฝากออมทรัพย์วันแม่ สลากออมทรัพย์พิเศษ และช่วงสิ้นปียังได้มอบของขวัญปีใหม่สำหรับลูกค้าสินเชื่อบ้านที่มีวินัยการผ่อนชำระเงินงวดสินเชื่อบ้านสม่ำเสมอ ในโครงการ “ของขวัญปีใหม่ 2566” สำหรับลูกค้าสินเชื่อบ้านของ ธอส.ที่มีวินัยในการผ่อนชำระย้อนหลังรวม 48 เดือน ให้ได้รับเงิน Cashback 1,000 บาท

ตลอดจนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างความฮือฮา แสดงถึงแนวคิดที่นำสมัยและเข้าใจสังคม คือการปลดล็อกปรับปรุงเงื่อนไขในการให้สินเชื่อของธนาคาร ให้ลูกค้ากลุ่ม LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมได้ เป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย สนับสนุนให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้น

ความโดดเด่นอันหลากหลายมากมายในรอบปีที่ผ่านมาของธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ทำให้เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรติแห่งความภาคภูมิใจ...เป็น “สุดยอดธนาคารแห่งปี 2565” หรือ “Bank of the Year 2022”

***********************************************************

หมายเหตุ ติดตามรายละเอียด “ธอส.สุดยอดธนาคารแห่งปี 2565 หรือ Bank of the Year 2022” ได้ในนิตยสารดอกเบี้ย ฉบับที่ 499

 

Comments


bottom of page