เลือกมองแต่ด้านบวก ! ทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะสั้นยังได้รับปัจจัยหนุนจากความคาดหวังของการกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งของประเทศสำคัญๆของโลก บนความคาดหวังว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้อีกครั้ง รวมทั้งการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องของธนาคารสหรัฐ หรือเฟด ที่ล่าสุดเฟดได้ขยายงบดุลของตัวเองขึ้นสู่ระดับ 7.21 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว จาก 7.15 ล้านล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับการที่ธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ที่ประกาศเพิ่มวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรโครงการ Pandemic Emergency Purchase Program เพิ่มอีก 600,000 ล้านยูโร รวมเป็น 1.35 ล้านล้านยูโร รวมถึงขยายระยะเวลาที่จะสิ้นสุดปีนี้ออกไปเป็นกลางปีหน้า ซึ่งชัดเจนว่านักลงทุนในตลาดให้น้ำหนักกับปัจจัยดังกล่าวมากกว่า ถึงแม้สถานการณ์การประท้วงในสหรัฐยังคงรุนแรง จนสหรัฐต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม
ขณะที่ปัจจัยในการขับเคลื่อนตลาดหุ้นโลก ซึ่งมีตลาดหุ้นสหรัฐเป็นตัวแทน หรือ Proxy ในระยะต่อไปดูเหมือนว่านักลงทุนในตลาดจะมีระดับการยอมรับความเสี่ยง หรือ Risk Tolerance เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยมองไปที่ปัจจัยในอนาคตมากกว่าตัวเลขทั้งทางเศรษฐกิจ และธุรกิจที่เกิดขึ้นมาแล้ว สะท้อนออกมาจากการที่นักลงทุนให้น้ำหนักน้อยมากกับการที่สหรัฐรายงานขนาดการค้าของสหรัฐโดยรวม ที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยขนาดของการส่งออกลดลง 20.5% จากเดือนที่แล้วสู่ระดับ 1.51 แสนล้านดอลลาร์ และถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2535 ขณะที่การนำเข้าลดลง 13.7% สู่ระดับ 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2535 เช่นกัน ทำให้โดยรวมแล้วมูลค่าการค้าลดลง 3.52 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553
นักลงทุนกลับมาให้ความสำคัญกับปัจจัยบวกมากกว่ากับการที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ หรือ Nonfarm Payrolls ที่เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านราย สวนทางกับที่คาดการณ์ว่าจะลดลงที่ 7.5 ล้านราย เทียบกับที่ติดลบไป -20.7 ล้านรายเมื่อเดือนก่อน และตัวเลขอัตราการว่างงาน หรือ Unemployment Rate ที่ปรับตัวลดลงมาเหลือ 13.3% สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะขึ้นไปแตะ 19%-20% ในเดือนนี้ และลดลงมาจากเดือนก่อนที่ 14.7% ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นในอนาคตที่สำคัญคือการที่สหรัฐได้ประกาศเตรียมอัดฉีดงบประมาณรอบใหม่อีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจรวมถึงตลาดหุ้นของสหรัฐให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นการช่วยเหลือภาครัฐและการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนอีกกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์เป็นการช่วยเหลือภาคเอกชน
นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น ! ทั้งนี้ระดับการยอมรับความเสี่ยง หรือ Risk Tolerance ของนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และฮ่องกง ปรับตัวลดลง 9.72%, 4.64% และ 24.6% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และฮ่องกง อยู่ต่ำกว่ากว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่ลดลง สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 1.48% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 34.55%
สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 3.26% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 38.87% ขณะที่ดัชนี US Dollar Index ปรับตัวขึ้น 1.60% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 1.60% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สวนทางกับดัชนี Asian Dollar Index ที่สะท้อนว่าค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลง 0.58% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเปิดเมือง ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเริ่มจากประเทศที่มีผู้ติดเชื้อต่ำอย่างประเทศไทย และในเอเชียเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลให้จะมีการเปิดน่านฟ้า เป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นสายการบิน พลังงาน และท่องเที่ยว นอกจากนี้ในสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 จะมีคลายล็อกดาวน์เฟส 4
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากทิศทางของ Foreign Fund Flow ที่มีโอกาสไหลกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง หลังค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะกังวลว่าการแข็งค่าเร็วของเงินบาทอาจไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ยังเปราะบาง เนื่องจากหลายภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง แต่น้ำหนักของความกังวลดังกล่าวเบาบางลง หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 2563 ของไทยเริ่มฟื้นตัวในรอบ 15 เดือน ที่ 48.2 จาก 47.2 ในเดือนก่อน ขณะที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นในทิศทางเดียวกัน จาก 39.2 อยู่ที่ 40.2 หนุนจากการผ่อนคลายล็อคดาวน์ในเดือน พ.ค. 2563
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,430 จุด (+/-) ไม่ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.0 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายสัปดาห์ (Weekly)
Source: Wealth Hunters Club
Comments