top of page
379208.jpg

อนาคตนิคมอุตสาหกรรมไทยยังสดใส...จีน-ไต้หวัน ยังปักหลักใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนและผลิต



Interview : คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA)


ผู้บริหาร WHA มั่นใจ อนาคตนิคมอุตฯ ไทยยังสดใส นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะจีน-ไต้หวัน ยังปักหลักใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนและผลิต แถมยังลงทุนต่อเนื่องทั้งซื้อที่ดินในนิคม สร้างโรงงาน รวมทั้งเช่าโรงงานในนิคม เชื่อ...ยิ่งความเสี่ยงในจีนเพิ่ม จะยิ่งมาลงทุนในไทยมากขึ้น อุตฯ ยอดฮิตที่มาลงทุนในนิคมคือยานยนต์ และ Consumer Product แต่ที่กำลังมาแรงแซงโค้งคืออุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ ชี้จุดแข็งของไทยคือการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ความพร้อมของสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ แรงงานฝีมือ รวมถึงการสนับสนุนของ BOI ทำให้ไทยยืนหนึ่ง นำหน้าเวียดนาม อินโดฯ พร้อมแจง EEC คือของจริง มีความคืบหน้าในหลายด้าน เป็นแม่เหล็กดึงนักลงทุนต่างชาติมาไทยมากขึ้น

ถึงตรงนี้ภาคเอกชนเจอปัญหาหลายด้าน กำลังใจยังเข้มแข็งดีอยู่ไหม

เต็ม 100% ตั้งแต่ต้นปีเราเจอแต่ข่าวไม่ดี ค่าเงินบาท ส่งออก ภัยแล้ง เศรษฐกิจชะลอตัว ล่าสุด เจอเรื่องไวรัส เป็นจุดที่อย่าว่าแต่รัฐบาลเหนื่อยเลย เหนื่อยกันทุกคน ภาครัฐบาลภาคเอกชนทุกคนเหนื่อยหมด ต้องตั้งสติและหันมามอง มาคุยกันดีๆ ว่าเราจะไปทางไหนต่อเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องตั้งสติทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ไม่โทษกันแล้ว ส่วนในภาพ WHA เรายังอยู่ในธุรกิจที่ค่อนข้างดีอยู่ เช่นมีนักลงทุนจากต่างชาติ ต้องบอกว่ากระแสยังต่อเนื่องที่มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของเรา ที่ผ่านมาทราบกันดีในเรื่อง Trade War มีแต่กระตุ้นให้ย้ายฐานการลงทุนทั้งบริษัทจีนและไม่ใช่จีนเข้ามาในเมืองไทย อันนี้ยังดีต่อเนื่อง กระทั่งตัวไวรัสที่เกิดขึ้นก็ยังกังวลว่าจะชะลอตัวการลงทุนจากจีนหรือเปล่า ซึ่งถ้าถามวันนี้ยังตอบไม่ได้ แต่เช็กกับลูกค้าแล้วหลายๆ รายยังสงสัย อันนี้เช็กบางรายไม่ได้ทั้งหมด ลูกค้าจีนบอกต้องรีบเร่งออกจากจีนเร็วขึ้นเพราะมีความเสี่ยงเยอะขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เรื่องภาษีจนมาถึงไวรัส ต้องกระจายความเสี่ยงออกไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ยังยืนยันยังไม่ใช่ทุกราย บางรายที่เราได้ข่าวมาเป็นกระแสที่ดีต่อเราในเบื้องต้น

ตอนนี้ลูกค้ารวมถึงของ WHA มีการเบรกการลงทุนหรือทิ้งเงินที่วางดาวน์ไปแล้วไหม

ไม่มีแม้แต่รายเดียว เพียงแต่มีตอนโอนมัดจำเรื่องที่ดินยังโอนออกมาไม่ได้เพราะติดระบบที่ยังปิดอยู่ แต่ไม่ได้บอกว่าจะหนีการลงทุน ลูกค้าบางรายที่เข้ามาดูที่ดินยังกลับประเทศไม่ได้ก็มี หรือกลุ่มลูกค้าโลจิสติกส์รายใหญ่ที่มาเที่ยวตั้งแต่ตอนปีใหม่ก็ยังไม่ได้กลับเมืองเขา เขาบอกกลับเมืองไปแล้วจะออกมาไม่ได้ ก็ยังอยู่เมืองไทยทำงานไปเรื่อยๆ

นิคมไม่เหมือนคอนโดฯ พอมาเหมา floor วางเงินดาวน์แล้วทิ้งดาวน์

ไม่เหมือนกัน เพราะการลงทุนในที่ดินนิคมอุตสาหกรรมหมายถึงการลงทุนระยะยาว ก่อนที่จะออกมามีการวางแผนเรียบร้อยแล้ว เวลาไปลงทุนต้องเป็นสิบปี ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญในการย้ายฐานการลงทุน ออกมาแล้วปักหลักที่ไหนยิ่งเป็นกลุ่มแล้วถ้าจะมูฟออกอีกต้องใช้เวลา ทางเราเดินสายพูดตลอด ภาคเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือกันดึงนักลงทุนมาให้ได้ การที่เขาลงทุนที่เขาตั้งใจจะมาลงทุนนอกประเทศ แล้วไม่ใช่เกิดไวรัสแล้วเขาหนีการลงทุน ไม่ใช่ ส่วนเรื่องคอนโดฯ ไม่แน่ใจอาจเป็นการเก็งกำไรหรือไม่ ถ้าเป็นพวกนั้นมาไวไปไว แต่เรื่องการลงทุนจะเป็นเรื่องระยะยาว ก่อนจะมาเขาดูหลายๆ ปี พอจะตั้งใจมาแล้วจะมูฟมาอีกครั้งก็ต้องใช้เวลา

อย่างจีนวันนี้ถือว่าเป็นศูนย์กลางการลงทุน เป็นฮับเป็นซัพพลายเชนขนาดใหญ่ เมื่อมาเจอไวรัสโคโรนาจะส่งผลถึงเมืองไทยในแง่โรงงานต่างๆ บ้างไหม

ในเรื่องไลน์ผลิตก็มีโอกาสกระทบเจอผู้ประกอบการที่ต้องอาศัยพาร์ตบางส่วนจากจีนเหมือนกัน เหมือนไทย 10 ปีก่อนที่เจอปัญหาเรื่องน้ำท่วม ซัพพลายเชนทั่วโลกหยุดชะงัก พวกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เราเยอะมาก ส่วนซัพพลายเชนส่วนไหนที่อยู่ในจีนต้องอาศัยพาร์ตเข้ามาอันนี้มองภาพให้เห็นว่าผลกระทบตอนนี้คือจะลงทุนในจีนอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ สุดท้ายก็ต้องกระจายความเสี่ยงมาที่อื่น ถ้ามอง long term ทำให้คนมองเห็นภาพชัดขึ้นว่าบางครั้งลงทุนอะไรไปที่เดียวไม่ใช่คำตอบแล้วต้องกระจายความเสี่ยง อย่างที่เราเคยเกิดน้ำท่วม ญี่ปุ่นบอกเลยว่า Thailand part one ถึงเวลาแล้ว ไทยมีประเด็น เขาก็มีพาร์ตอื่นผลิตต่อได้ ภาพ investment ทั้งหมดอาจจะมีการเปลี่ยนภาพแบบนี้เพิ่มขึ้น

ธุรกิจที่เริ่มคิดแล้วว่าจะต้องออกมาลงทุนจากจีนมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทไหน

เดิมทีที่เราเห็นมารอบแรกๆ เป็นกลุ่มยานยนต์ กลุ่มที่ 2 คือ Consumer แต่กลุ่มที่ 3 มาทีหลังแต่คาดว่าจะมาแรงกว่าเพื่อนคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เพราะส่งออกทั่วโลกมาจากเอเชีย 77% ซึ่งมาจากจีนและฮ่องกง 45% ตอนหลังกลุ่มลูกค้าอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมานิคมเราเพิ่มขึ้น รวมถึงจีนและไต้หวันสนใจมาทางเรามาก ตัวฮ่องกงที่ไปลงทุนในเสิ่นเจิ้นก็มาพูดคุยเพิ่มขึ้นเรื่องโรงงานอิเล็กทรอนิกส์

ความพร้อมของ WHA ในการซัพพอร์ตธุรกิจพวกนี้มากน้อยแค่ไหน

เรื่องความพร้อมเราพร้อมสุดแล้ว เช่นพื้นที่ของเรามีเป็นหมื่นไร่ที่พร้อมพัฒนารองรับลูกค้ากลุ่มนี้รวมถึงกลุ่มอื่น โครงสร้างพื้นฐานน้ำไฟเราเตรียมพร้อมอยู่แล้ว คำถามอย่างเรื่องภัยแล้งเราก็มีการเตรียมการไว้ระดับนึง อย่างปีที่แล้วรู้ว่าปีนี้น่าจะแล้ง น่าจะกระทบกันเยอะ นิคมต่างๆ จึงมีการสำรองน้ำตัวเองไว้รองรับใช้ได้ในระดับนึง แต่มีการพูดคุยกันแล้วภาครัฐจะมีการปล่อยน้ำจากแหล่งน้ำ เท่าที่ฟังจากอธิบดีกรมชลฯ พูด น้ำใน EEC น่าจะมีพอใช้ถึงเดือนมิถุนายน เรามีการพูดคุยกับลูกค้ากลุ่มโรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี ที่ต้องใช้น้ำมาก ก็มีการพูดถึงเรื่องรีไซเคิลมากขึ้นจะเอาน้ำพวกนี้มา reused เพื่อให้เกิด recycle ของน้ำมากขึ้น

ขายแพงขึ้นไหม

ต้นทุนการผลิตน้ำเพื่อปิโตรเคมีก็จะแพงกว่า แต่ก็อยู่ในภาวะที่พอรับได้ หรือถ้าลูกค้ารายใหญ่นึกถึงความเสี่ยงของเขาตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงของเขาที่ต้องรองรับ

แรงงาน ค่าแรง จะช่วยด้วยหรือเปล่า

กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะมี low-end กับ high-end ถ้าเป็น low-end เราก็ไม่พร้อมที่จะรับเขา คือใช้คนเยอะๆ ของเราเองแรงงานไม่มีมากขนาดนั้น อีกเรื่องคือค่าแรงของเราจะแพงกว่าเพื่อนบ้านเรา ซึ่งถ้าเป็น low-end จะไปเพื่อนบ้านเรา อันนี้เป็นภาพที่เราทราบอยู่แล้ว ของเราแม้กระทั่ง BOI ยังมองภาพว่าที่เราต้องการคือ high-end เวลาที่เราทำเรื่อง BOI มองถึงเรื่องสิทธิพิเศษเรื่องภาษีให้ในเรื่องด้าน high-end product technology ขึ้นมา พวกนี้เป็นการสร้างการแข่งขันในระยะยาวได้ ส่วนที่เป็น high-end จะมาที่เราเพราะโครงสร้างพื้นฐานเราดีกว่าเพื่อนบ้าน รวมถึงมีสิทธิทางภาษีให้มากกว่าด้วย

มาตรการต่างๆ ของรัฐกระตุ้นการลงทุนพอไหม หรือต้องการอะไรเพิ่มเติม

นโยบายที่รัฐบาลออกมา กระตุ้นให้เอกชนลงทุนเพิ่มขึ้น กระตุ้นรัฐวิสาหกิจลงทุนเพิ่ม หรือ EEC มองว่ามาตรการเพียงพอ แต่จะทำยังไงให้ใช้ได้เร็วที่สุด เช่น ด้าน EEC ที่บอกจะลงทุนทั้งหมด 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปี ก็อยากให้เร็วขึ้น เพราะดีเลย์มาปีนึงแล้ว ตอนนี้เราได้รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา เราได้มาบตาพุดและแหลมฉบัง ขาดแค่ MOU ของ TG และแอร์บัสน่าจะจบในเร็วๆ นี้ อยากให้เร็วที่สุด เงินเข้ามาเร็วก็หมุนเวียนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงปัญหาที่เพิ่งผ่านไปคืองบประมาณของภาครัฐที่กังวลมากเพราะอัดฉีดช้ามาหลายเดือน ถ้ายังอัดฉีดไม่ได้ก็เป็นที่น่ากังวล แต่ตอนนี้ศาลท่านก็ตัดสินแล้วว่าไม่โมฆะ ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะการให้เอกชนลงทุนเพิ่ม แต่เมื่อลงทุนเสร็จแล้วเราจะขายใคร เพราะกำลังซื้อไม่มี ทุกฝ่ายต้องประสานกันทั้งหมด ขับเคลื่อนโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้เลยในตอนนี้ ต้องเรียนถึงทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ขอให้เห็นประเทศชาติเป็นหลัก เลิกทะเลาะ เลิกด่ากัน

ด้าน EEC ภาพจริงใช่ไหม

ของจริง คนชอบบอก EEC ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นแค่กระดาษ ซึ่งต้องบอกว่า EEC เพิ่งเกิดมาแค่ปี 2017 ตอนนี้ผ่านมา 2 ปีกว่า ต้องบอกว่า 2 ปีกับที่เราไม่ได้ทำอะไรเลยมาเป็น 10 ปี อันนี้ภาพมันชัดเจนขึ้น EEC ไม่ใช่เรื่องแค่รถไฟความเร็วสูงเกิดไม่เกิด EEC มีหลายเรื่องประกอบกัน เรื่องลงทุนหรือโครงสร้างพื้นฐานมีส่วนสำคัญส่วนหลักในการขับเคลื่อน ส่วนสำคัญที่ออกมาแล้ว 2 ปีคือเรื่องสิทธิทางภาษี คลัสเตอร์ทั้ง s-curve และ new s-curve ตรงนี้ที่ต่างชาติรับรู้ว่ามี

ก่อนหน้านี้ก่อนที่จะมี EEC ไทยไม่ได้อยู่ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ หลุดไปจากโลก แต่พอเรามี EEC เขาถึงมาเบรกที่ EEC แต่ช่วงปีแรกเป็นเรื่องทำโรดโชว์ เขาก็มาดู พอปีที่ 2 เขาก็เริ่มเข้ามาซื้อที่และลงทุน ตรงนี้เขามาแล้ว แต่เขาเพิ่งซื้อที่สร้างโรงงาน ก็ต้องใช้เวลา EEC ไม่ใช่ยาวิเศษกินแล้วหายเลย ก็ต้องมีเวลาให้เขาเรื่องนำเงินเข้ามา พอสร้างโรงงาน เริ่มมีการผลิต มีการจ้างงาน ถึงตรงนั้นพวกที่อยู่อาศัยก็จะตามมา มันค่อยๆ เป็นสเต็ป สิ่งแรกให้ดูก่อนว่าเราขายที่ดินได้หรือเปล่า ถ้านิคมไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนขายที่ดินไม่ได้ แปลว่า EEC เราไม่ตอบโจทย์ แต่ถ้าเราขายที่ดินได้แปลว่า EEC ตอบโจทย์

เรื่องกระตุ้น Foreign Direct Investment (FDI) ลองไปดูตัวเลขว่าเวียดนาม FDI ดีกว่าเรา ไปดูย้อนหลัง 2016-2017 เขาดีกว่าเราหลายเท่า แต่ 2018-2019 การโตของเขาลดลง คือเวียดนามเวลาเขาลงทุนช่วงแรกจะไปที่ภาครัฐก่อน ตอนหลังเขาเอาหุ้นมาขายต่างชาติ ธุรกิจเก่าตัวนี้ก็เอามารวมด้วย พอเราแยกออกได้เห็นตัวเลข FDI มันชัดขึ้นว่าจริงๆ แล้วเป็น New Investment จริงๆ เท่าไหร่ ของไทยตอนนี้เทียบกับเวียดนามเราแพ้เขาไม่ถึงเท่าตัว จากเดิมแพ้ 2-3 เท่าตัว แปลว่าเปอร์เซ็นต์ FDI เราดีขึ้น ปีที่แล้ว BOI ได้ยอดทะลุเป้า 750,000 ล้าน คนถามว่าตัวเลข BOI แค่คำขอ เขาไม่ลงทุน คือถ้าคิดในแง่ลบก็ลบหมด เราก็ตอบว่าตัวเลขไม่ทราบ คำขอเสร็จแล้วจะลงทุนเมื่อไหร่ เท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องรอระยะเวลา แต่ถามว่าลูกค้าเราที่มาซื้อที่ดินแล้วสร้างโรงงานทุกรายไหม จริง ได้ BOI รีบโอนที่กัน เร่งสร้างทุกอย่างเพราะต้องเร่งผลิต ลูกค้าเราบางรายซื้อที่เราเสร็จเช่าโรงงานเราด้วย เรามีโรงงานสำเร็จรูปด้วย เขาบอกว่าถ้าจะรอให้เขาซื้อที่แล้วสร้างโรงงานไม่ทัน เขาขอเช่าโรงงานก่อนระหว่างที่ผลิตก็ส่งออกไปอเมริกาเลย ระหว่างนี้เขาก็รอโรงงานสร้างเสร็จแล้วค่อยย้ายไปที่โรงงาน หลายๆ รายก็เริ่มจากมาเช่าโรงงานก่อน ภาพใน 2-3ปีมันเป็นแบบนี้ อันนี้คือเรื่องจริง ก็เลยงงว่าบางครั้งเราเสพข่าวหรือฟังข้อมูลกัน ฟังการวิเคราะห์พูดกันไป ปัญหาคือเราวิเคราะห์ไม่ถูกต้อง

อย่างอินโดนีเซียเป็นคู่แข่งกับไทยไหม

อันนี้เป็นคำพูดที่นักธุรกิจจีนพูด เรามองภาพเอเชียก่อน สินค้าเอเชียจะมาแทนที่ยุโรป Western กับ Eastern จะรองลงมา ขณะที่ Asia กับ Southeast Asia จะมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตสูงมาก การมองภาพของจีนเขาจะมาที่ Southeast Asia เขามอง 3 ประเทศ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เขามองไทยเพราะ 1. เป็นศูนย์กลาง 2. โครงสร้างพื้นฐานดี 3. คนของเรามีประสิทธิภาพ ตอนนี้ดีที่สุด ถึงมองไทยตั้งเป็นหลักเป็นฐาน

ไทยเป็นที่ 3 หรือ 2


ไทยเป็นอันดับ 1 เวียดนามเป็นอันดับ 2 เขามองเวียดนามเหมือนจีนเมื่อ 20 ปีก่อน ยังไงต้องโต แต่เวียดนามอาจไม่เร็วเท่าจีน ก็เลยมาไทย ส่วนอินโดนีเซียก็มองว่าแต่ประชากรของเขาเยอะมาก ที่มองคือ Domestic Demand ใช้กระจายเป็นฐานเหมือนไทย เพราะถ้าดูจากประเทศนี้ประชากรเราแพ้เขา แต่เรามีข้อดีตรงเป็นศูนย์กลาง โครงสร้างพื้นฐานดี เราเคยพูดกับสื่อที่สนิทกันหรือสื่อต่างชาติอย่างญี่ปุ่นว่า คุณรู้ไหมคนชอบเสพข่าวดีหรือข่าวร้าย จริงๆ คือ คนชอบเสพข่าวร้ายเป็นเรื่องปกติ พอเป็นข่าวร้ายจะสนใจทันที หน้าที่ของสื่อคืออะไร...ขายข่าว ก็ต้องหาข่าวร้ายมาให้คนเสพให้คนดูถึงจะขายข่าวได้ดี ทุกวันนี้เลยรับแต่ข่าวร้ายเรื่อยๆ ตื่นมาก็เจอแต่ข่าวร้าย สุดท้ายฟังแล้วจิตใจจะหดหู่ แล้วจะไปยังไงต่อ ถ้าคนวิเคราะห์ไม่เป็น

107 views

Comments


bottom of page