บริษัทประกันภัยยังรับมือยอดเคลมประกันจากภัยน้ำท่วมปีนี้ได้สบายๆ เดือนกันยายนยอดเคลมอยู่ที่หมื่นล้านนิดๆ รอดูยอดเคลมเดือนตุลาคมอาจจะมากขึ้น แต่โดยรวมถือว่าจิ๊บจ๊อยเมื่อเทียบกับยอดเคลมปี 2554 ที่สูงถึง 4.1 แสนล้านบาท ความเสียหายจากภัยน้ำท่วมปีนี้ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนขนาดไม่ใหญ่และบ้านเรือนประชาชน แจง...กฎหมายประกันหลังปี 2554 แยกภัยลมพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ออกจากภัยทั่วไป ถือเป็นภัยธรรมชาติที่ต้องซื้อประกันคุ้มครองเพิ่มเติม แต่ 80% ของกลุ่มผู้เสี่ยงภัยธรรมชาติเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก พื้นที่สวนทุเรียน ลำไย ไม่ซื้อประกันคุ้มครอง ซึ่งต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ถ้ามีกำลังพอควรซื้อประกันภัยธรรมชาติ เพื่อช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา สุดท้ายย้ำถึงการเคลมประกันภัยโควิดที่ยังคาราคาซัง ผู้ซื้อประกันยังไม่ได้เงินเคลมสูงถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งกองทุนประกันไม่มีเงินมากพอ ต้องกู้มาจ่ายผู้เสียหาย แต่รัฐบาลไม่ยอมช่วยค้ำประกันเงินกู้ หวั่นจะลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โตในเร็ววันนี้
Interview : คุณอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย
น้ำท่วมล่าสุดนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ก็ไม่เป็นไร เราเป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพ ดังนั้น ตอนที่มีภัยธรรมชาติสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน เราก็มีโอกาสทำหน้าที่ของเรา คิดว่าอย่างนั้น ก็ไม่ได้หนักใจอะไร ค่าตัวเลขอาจจะสูงกว่าปกติ สูงกว่าปีที่ผ่านมาสักหน่อย แต่ก็ไม่สูงมาก ซึ่งตัวเลขเดือนกันยายนออกมาประมาณหมื่นคัน เกินนิดหน่อย คือรอดูเดือนตุลาคม เพราะช่วงต้นเดือนตุลาคมเราเจอหนักๆ หลายวัน
น้ำท่วมในปีนี้กับปี 2554 ครั้งไหนหนักกว่ากัน
ต่างกันเยอะ เพราะปี 2554 พูดง่ายๆ ว่าเราไม่ได้ปรับปรุงระบบป้องกันน้ำท่วมหรือระบบระบายน้ำดีพอ อย่างนิคมอุตสาหกรรมที่มีความเสียหายมากๆ ซึ่งตอนปี 2554 พวกคันกั้นน้ำ ทำมาแล้วเป็น 20-30 ปี และก่อนหน้านั้นน้ำก็ไม่เคยท่วมสูงขนาดนั้น ทำให้ปีนั้นเราจ่ายเคลมไปประมาณ 4.1 แสนล้านบาท คือร้อยละ 80 อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม แต่หลังปี 2554 ก็มีการสร้างคันกั้นน้ำค่อนข้างดี เพราะช่วงปี 2555 รัฐบาลให้เงินสนับสนุนนิคมภาคเอกชนประมาณ 2 ใน 3 ของการสร้างเขื่อนระบบกันน้ำ ซึ่งช่วงนั้นส่วนตัวก็มีโอกาสได้ไปสำรวจคันกั้นน้ำตามนิคมอุตสาหกรรม รู้สึกว่าเขาทำได้ดีมาก หลายแห่งทำขึ้นสูงไปถึง 6 เมตร ตรงนี้เราเลยไม่ห่วงเลยว่าที่นิคมอุตสาหกรรมจะมีความเสียหาย ก็เหลือแต่ภาคเอกชนทั่วไป บ้านเรือนทั่วไป ซึ่งก็ไม่รอดในทุกปี แต่ความเสียหายก็ไม่สูงมาก รับไหว ส่วนปีนี้ถ้าเคลมเยอะหน่อยก็ในช่วงเดือนกันยายนประมาณหมื่นล้านบาทกับอีกนิดหน่อยล้านบาท ก็ยังถือว่าไม่น่ากังวล เป็นเรื่องปกติ
นับจากปี 2554 บริษัทประกันมีการปรับเบี้ยเพิ่มหรือไม่
ตอนปี 2554 มันปรับระบบเลย โดยก่อนปี 2554 ไทยไม่ได้อยู่ในโซนประเทศที่มีภัยธรรมชาติรุนแรง ซึ่งภัยธรรมชาติ 3 ภัยที่เขาห่วงมีลมพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว มันถูกเหมาทำกับภัยทั่วไป แต่หลังจากปี 2554 มา ภัยธรรมชาติทั้ง 3 ภัย ก็ถูกแยกออกมาแล้ว ต้องมาซื้อเพิ่ม จะถือว่าปรับเบี้ยเพิ่มก็ได้ ซึ่งในตลาดประกันภัยโลกก็จัดประเทศไทยอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงทางด้านภัยธรรมชาติสูงเหมือนกัน แต่คงไม่เท่ากับฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซึ่งพอมาเจอในปี 2554 ทำให้มีการแยกภัยธรรมชาติออกมา ต้องซื้อต่างหาก ถือว่าปรับเบี้ยเพิ่มก็ได้ แต่ว่าเป็นการปรับที่ตัวระบบเลย
ประเมินกันว่าตัวเลขรถยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วมปีนี้มีประมาณ 10,000 คัน กลุ่มนี้จะมีการปรับเบี้ยเพิ่มหรือไม่
ก็ไม่น่าจะปรับเพราะในปี 2564 ที่ผ่านมาจนมาปี 2565 โควิดทำให้การเดินทางภาคเอกชนลดลง สถิติอุบัติเหตุต่างๆ ก็ลดลงตั้งแต่ปี 2563-2565 โดยการเดินทางมาเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นปกติในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ฉะนั้นเรื่องน้ำท่วมมองว่ายังไม่ทำให้เราต้องปรับเบี้ยขึ้นหรอก ประชาชนไม่ต้องห่วง ถ้าในระดับแบบนี้ก็ยังไม่น่ากังวล คงไม่มีการปรับเบี้ยเพิ่ม
บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำก็มีจำนวนมาก ในส่วนนี้มีความสนใจซื้อประกันภัยน้ำท่วมหรือไม่
บ้านเรือนสนใจน้อย โดยเฉพาะตามต่างจังหวัด ยกเว้นพื้นที่ตลาดที่ขายของก็จะมีการซื้อมากหน่อย แต่หากเป็นบ้านเรือนตามริมน้ำก็ยังไม่ซื้อ แม้ว่าขณะนี้ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยเราแถมคุ้มครองน้ำท่วมให้เลย 20,000 บาท ปริมาณบ้านที่ทำประกันส่วนนี้ยังค่อนข้างเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมาก โดยบ้านเรือนริมน้ำร้อยละ 80 คือไม่มีประกันภัย ก็อยากให้ประชาชนกลุ่มนี้ลองดูว่าตัวเองมีความเสี่ยงอย่างไร พอที่จะซื้อประกันได้หรือไม่ อย่างน้อยซื้อให้พอบรรเทาความเดือดร้อนหากมีการเสียหายไปบ้าง
ในส่วนประกันภัยพืชผล ที่รับมาตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ยอดเคลมยังเข้ามาไม่สูง เพราะน้ำยังท่วมอยู่ก็คงต้องรอน้ำลดก่อนว่าตำบล เกษตรอำเภอจะสำรวจตรงไหนที่มีรุนแรง มีการสำรวจเป็นเขตภัยพิบัติ ตรงนี้จะทำให้เราพอทราบข้อมูล ซึ่งปัจจุบันนี้การประกาศภัยพิบัติยังแค่ไม่กี่อำเภอ แต่ส่วนตัวมองว่าตัวเลขยังไม่น่ากังวลเท่าไหร่ เพราะปีนี้น้ำมาค่อนข้างเร็ว ฝนตกตั้งแต่เมษายน พฤษภาคมแล้ว ส่วนตัวเวลาขับรถไปดูต่างจังหวัดจะเห็นว่านาข้าวปีนี้หลายพื้นที่เขียวแล้ว เพราะปลูกกันเร็ว เดือนพฤษภาคมเริ่มปลูกแล้ว ล่าสุดสิงหาคมก็เกี่ยวกันแล้ว หรือว่าในภาคอีสานปลูกช้าหน่อย แต่ว่าวันนี้ ต้นข้าวค่อนข้างสูงใหญ่แล้ว ดังนั้น ถ้าน้ำท่วมไม่เกิน 15 วัน เดี๋ยวน้ำลด เขาก็รอด เขาก็อยู่ได้ ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดความเสียหายเท่าไหร่ คือมันเป็นน้ำผ่าน มาเร็วไปเร็ว ก็ไม่น่ากังวล
ชาวนาชาวไร่ปัจจุบันเขาสนใจซื้อประกันหรือไม่
ตอนนี้ประกันข้าวนาปีก็มีรัฐบาลสนับสนุนเบี้ยประกันภัยร่วมกับ ธ.ก.ส. ส่วนปีหน้าก็จะหารือรัฐมนตรี ก็มีดำริมาแล้วว่าอยากให้ชาวนารู้จักช่วยตัวเองบ้างในการซื้อประกัน จะต้องมีความพิเศษ ชาวนาซื้อเกินกว่าที่รัฐบาลจ่ายเงินสงเคราะห์ ตอนนี้ไร่ละ 2,000 กว่าบาท อาจจะไม่พอสำหรับต้นทุนในปัจจุบัน ท่านรัฐมนตรีก็ห่วง อยากให้มาซื้อความคุ้มครองเพิ่มจากที่รัฐบาลจ่ายเงินสงเคราะห์ให้ ก็หารือกันอยู่ว่าอยากจะทำแพ็กเกจอะไรที่จะทำให้ชาวนาสนใจ และอยากขยายไปโดยเฉพาะพืชสวนพวกทุเรียน ลำไย เพราะปัจจุบันราคาผลผลิตค่อนข้างแพง ซึ่งชาวสวนก็ควรจะรู้ว่าพอมีพายุเข้าหรือน้ำท่วมทำให้สวนทุเรียนตาย และหลายปีกว่าจะปลูกใหม่ได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี โดยประกันภัยก็มีผลิตภัณฑ์พวกนี้ แต่ว่าชาวสวนก็ยังไม่ค่อยทราบ ไม่ค่อยสนใจ เราอาจจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์มากกว่านี้หน่อย เพื่อให้รู้ว่าสามารถซื้อประกันพวกนี้ได้
ตอนนี้มีการเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา มีการตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินค่าเหยียบแผ่นดิน แล้วจะเอาเงินส่วนนี้มาซื้อประกันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ตอนนี้มีการคุยกันหรือไม่
ก็มีนโยบายมาจากกระทรวงท่องเที่ยว คืออยากจะคุ้มครองอุบัติเหตุ รวมถึงการฆาตกรรม การก่ออาชญากรรมท่องเที่ยวด้วย ก็คุยกันอยู่ว่าภาครัฐจะเอาเงินที่เก็บมาแบ่งส่วนหนึ่งเพื่อซื้อประกันภัยคุ้มครองอุบัติเหตุให้กับนักท่องเที่ยว โดยมีการคุยกันเบื้องต้นแล้ว แต่ว่าช่วงนั้นรัฐบาลก็หยุดไปชั่วคราว ก็รอว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเก็บเงินตัวนี้เมื่อไหร่ แล้วเอามาซื้อประกันคุ้มครองนักท่องเที่ยวเท่าไหร่ เพราะตอนนี้ว่านักท่องเที่ยวก็ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน
ตอนนี้เรื่องประกันโควิด ยังจะรับอยู่หรือไม่
ไม่ได้รับมาตั้งแต่มิถุนายนปี 2564 ซึ่งกรมธรรม์ทั้งหมดก็หมดอายุไปแล้ว 1 ปี บริษัทไหนทนไหวรอดก็รอดไปแล้ว ใครทนไม่ไหวก็ถูกถอนใบอนุญาตไปแล้ว เหลืออีกหนึ่งที่อยู่ศาลล้มละลาย แต่ก็ถือว่าเป็นความน่ากังวล ส่วนตัวก็กังวลที่ยังมีพวกซื้อประกันที่ยังไม่ได้รับเงินจากการเคลมโควิด ค้างอยู่ที่กองทุนเกือบๆ 7 แสนคน ก็เกือบๆ 6 หมื่นล้านบาท ถ้ารวมอีกบริษัทที่อยู่ในศาลฟื้นฟูก็น่าจะเกือบล้านคน เป็นวงเงินความเสียหายก็เกือบ 1 แสนล้านบาท แต่ว่าหนักใจอยู่ว่ากองทุนจะทำอย่างไร เพราะก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องเคลียร์ให้เร็ว แต่เราก็ต้องเฝ้าไม่เกิน 1 ปีหรือ 3 ปี เพราะศักยภาพการทำงานผลิตภัณฑ์ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีหรือ 100 ปี คิดว่าประชาชนคอยไม่ได้ ก็เป็นอะไรที่กังวลอยู่ว่า คือต้องคุยเรื่องนี้จริงจัง และรัฐบาลก็น่าจะลงมาช่วยดูวงเงินที่กองทุนถามถึงว่าจะต้องกู้ สำนักงานหนี้สาธารณะก็บอกรัฐบาลจะไม่ค้ำ และถ้าไม่ค้ำทางกองทุนจะมีแหล่งเงินกู้หรือไม่ และจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายประชาชน คิดว่าปัญหามันสงบเพียงชั่วคราว ถ้ายังไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง คิดว่าทางวินาศภัยเองก็คงทำอะไรไม่ได้มาก มันเกี่ยวพันกับเงินจำนวนมาก ปัจจุบันก็เกือบ 7 หมื่นล้านบาท ถ้ารวมอีกส่วนหนึ่งก็แสนล้านบาท กองทุนจะหาเงินกู้ได้อย่างไรหากรัฐบาลไม่มาช่วย คิดว่าให้รัฐบาลว่างจากงานอื่นๆ ก่อน ก็คงจะมาดูตรงนี้
ทุกวันนี้ธุรกิจประกันไทยในสายตาของต่างประเทศ ยังมองว่าดีอยู่หรือไม่
ยังดีอยู่ เพียงแต่ว่าอะไรที่เขาไม่รับ เขาก็ไม่รับอยู่แล้ว อย่างโควิด แต่ถ้าเป็นภัยธรรมชาติภัยด้านอื่น ไม่มีปัญหา ไทยยังถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสียหายไม่สูงมาก ไม่เหมือนในสหรัฐอเมริกาหรือที่ไหนที่ประสบปัญหารุนแรง ก็อยากบอกประชาชนว่าช่วยดูความเสี่ยงตัวเองหน่อย รถยนต์ ที่อยู่อาศัย ว่ามีประกันครบถ้วนหรือยัง ท่านที่เดินทางบ่อยๆ มีประกันอุบัติเหตุครอบคลุมถึงการเสียชีวิต รักษาพยาบาลครบหรือไม่ เวลาโชคร้ายจะได้มีประกันเข้าไปช่วยดูแล
留言