top of page

"ชัย โสภณพนิช" แนะลงทุนไม่เสี่ยงรับวิกฤตเศรษฐกิจ-ปัจจัยลบ


ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา นายชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพประกันภัย หรือ BKIรับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษในโครงการอบรมหลักสูตร Insurance Management Development Program : IMPD (โครงการพัฒนาผู้บริหารธุรกิจประกันวินาศภัย) รุ่นที่ 25 หัวข้อ การบริหารการลงทุนให้แก่ผู้บริหารธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจอื่นๆ ที่เข้าร่วมอบรม ซึ่งหลักสูตรนี้ ในฐานะที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มากด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในธุรกิจประกันวินาศภัยมายาวนาน จัดโดยสมาคมประกันวินาศภัยไทย


เขากล่าวว่าภาวะธุรกิจประกันภัยไทยในปัจจุบัน มีปัจจัยกระทบแวดล้อมทางธุรกิจหลายด้าน ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ธุรกิจประกันภัยไทยในยุคนี้แตกต่างกับยุค 40-50 ปีที่แล้ว ยุคก่อนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว แต่ยุคนี้เป็นยุคของทายาทครอบครัวที่เป็นกลุ่มคนเจนเนอเรชันใหม่ เติบโตพร้อมมากับการเปลี่ยนแปลงภาวะสังคมสมัยใหม่และเทคโนโลยีใหม่ๆ เฉพาะอย่างยิ่งการดิสรัปทีฟที่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งส่งผลต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและการทำธุรกิจรูปแบบต่างๆ


เช่นเดียวกับธุรกิจประกันภัยที่เชื่อว่าหลายแห่งปรับตัวกันมาแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะถ้าทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ แต่พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปเร็วกว่า การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ หากต้องการทำให้องค์กรอยู่รอดต่อเนื่องฝ่ากระแสการปรับเปลี่ยนตัวเร็ว เพราะการทำธุรกิจประกันภัยในมุมที่รับรู้ต่อเนื่องกันมา คือ รับประกันภัย รับเงินเบี้ยประกันภัย จากนั้นนำเงินเบี้ยประกันภัยที่ได้ไปลงทุน เพื่อบริหารผลตอบแทนให้งอกเงย จัดวางเงินสำรองตามเกณฑ์ที่กฎหมายประกันภัยกำหนด จัดสมดุลรายรับ-รายจ่าย


ขณะที่ความเสี่ยงจากการรับประกันภัย ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ ซึ่งมีบทเรียนอย่างมากมายกันมาแล้วทั่วหน้าเมื่อครั้งช่วงเกิดเหตุการณ์มหันตภัยสึนามิในปี 2547 และมหาอุทกภัยใหญ่ปี 2554 ธุรกิจประกันภัยทั้งระบบจ่ายเคลมสินไหมจำนวนมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการของธุรกิจว่าสามารถสร้างสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายต่อลูกค้าได้มากน้อยระดับไหน


ดังนั้น เรื่องการลงทุนในธุรกิจประกันภัย จากเงินเบี้ยประกันภัยที่จะนำมาลงทุน ทั้งเงินจากเบี้ยใหม่-เก่า มีความสำคัญเท่ากัน ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยมีการแข่งขันราคาเบี้ยประกันภัยค่อนข้างมาก สิ่งสำคัญ คือ บริษัทประกันภัย ควรต้องเน้นบริหารทั้งกำไรจากการรับประกันภัยและการลงทุน แต่ในเมื่อการรับประกันภัยแข่งตัดเบี้ยมากมาย ย่อมส่งผลต่อพอร์ตที่รับเข้ามาและย่อมมีผลต่อเม็ดเงินลงทุนว่าจะเป็นอย่างไร


ยกตัวอย่าง บริษัทประกันภัย รับประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัย 2,000 หลัง เบี้ยประกันภัยหลัง หลังละ 2,000 บาท/ปีทุนประกันภัยหลังละ 1 ล้านบาท ปรากฏไฟไหม้ไป 2 หลัง ภายในปีเดียว เท่ากับเป็นค่าสินไหม 2 ล้านบาท แต่ในกระบวนการบริหารจัดการของระบบประกันภัยที่เกี่ยวกับประกันภัยอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัยที่เป็นมาตรฐาน คิดจากบ้าน 1 หลังที่รับประกัน ประกอบด้วย ค่านายหน้า 20% เท่ากับ 400 บาท, ค่าใช้จ่าย 15% เท่ากับ 300 บาท, เงินสำรอง 5% เท่ากับ 100 บาท และกำไร 5% เท่ากับ 100 บาท หมายความว่าบ้านที่รับประกัน 1 หลัง มีค่าใช้จ่ายบริหารจัดการรวมกัน 2,900 บาท หรือ 2 หลังเท่ากับ 5,800 บาท ขณะที่รับเบี้ยประกันรวมกัน 4,000 บาท แต่ต้องจ่ายสินไหมรวม 2 ล้านบาท เหล่านี้ คือ หลักการวิธีบริหารแบบไม่ยุ่งยาก แต่ต้องจัดการให้ดี เพราะการประกันรับประกันภัย คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงภัย


ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ากำไรจากการรับประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัยในปี 2561 มี 4.54 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% เทียบกับปีก่อนหน้า รายได้สุทธิจากการลงทุน 7.11 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% กำไรสุทธิ 9.01 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มี 1.11 พันล้านบาท

การลงทุนแต่ละประเภทมีความเสี่ยงสูง-ต่ำ ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดเงิน ตลาดทุนและเศรษฐกิจของแต่ละจุดที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจบริหารความเสี่ยงภัย ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญเรื่องการได้มาของเม็ดเงินลงทุน การบริหารจัดการและการนำเงินที่ได้ไปลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนกลับคืนสู่ลูกค้า ผู้เอาประกันภัย ผู้ถือหุ้นและพนักงานอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส


ที่ผ่านมา สำนักคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดประเภทและอัตราส่วนการลงทุนของสินทรัพย์ลงทุนในธุรกิจประกันวินาศภัยในแต่ละประเภท คือ ตราสารหนี้เอกชน 60% ตราสารทุนทั้งใน-นอกประเทศ 30% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 20% การให้กู้ยืม/ให้เช่าซื้อรถ 20% การลงทุนต่างประเทศ 15% การออกหนังสือค้ำประกัน 5% ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ/Strurctured Notes ตราสารทุน Non-Listed กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ (ในและต่างประเทศ) เหล่านี้ ไม่นับ Sub-Limit ภายใต้ Product Limit มูลค่าของตราสารแต่ละประเภทของผู้ออกและหรือคู่สัญญาแต่ละราย


รายงานข่าวจาก คปภ.บุว่าได้แก้ไขประกาศการลงทุนให้กับภาคธุรกิจประกันภัย-ประกันชีวิตทั้งระบบ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจประกันภัยต่อสู้มรสุมภาวะดอกเบี้ยต่ำและค่าเงินบาทแข็งและพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างประกาศฯ เพื่อเสนอ บอร์ด คปภ.


นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคปภ. กล่าวว่าอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียต่อร่างประกาศ คปภ. เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. ...เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจประกันภัยประเทศและตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยจะเปิดกว้างให้บริษัทประกันภัยสามารถลงทุนได้หลากหลายสอดคล้องกับลักษณะของความเสี่ยงและภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัย โดยมีสาระสำคัญ 4 ประเด็น


1. เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ สาเหตุจากภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศลดต่ำต่อเนื่อง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยมีผลตอบแทนไม่เพียงพอต่อภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัย ดังนั้น คปภ. จึงเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย ลดการกระจุกตัวในการลงทุนภายในประเทศ เพิ่มทางเลือกในการหาผลตอบแทนของบริษัทประกันภัยและแก้ปัญหาการบริหารสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับหนี้สินและภาระผูกผันที่มีต่อผู้เอาประกันภัย (Asset-Liability Management) โดยเฉพาะบริษัทประกันชีวิตที่มีภาระผูกพันต่อสัญญาประกันภัยระยะยาว

สำหรับการป้องกันปัญหาเงินไทยไหลออกนอกประเทศนั้น คปภ.ได้จำกัดจำนวนเงินลงทุนในต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งในรูปแบบการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด รวมทั้งแต่ละประเภทของสินทรัพย์ที่ไปลงทุนและกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องในการบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน เช่น การดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง (RBC) การบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย (ORSA)


2. เพิ่มสัดส่วนและเพิ่มประเภทการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือหน่วยของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จดทะเบียนในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวของประเทศ และเพิ่มทางเลือกในการหาผลตอบแทนของบริษัทประกันภัย


3. เพิ่มประเภทการลงทุนของบริษัทประกันภัย โดยให้บริษัทถือตราสารทุนในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการสถานพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long term care) ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการประกันสุขภาพรองรับปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทย (Aging Society)

4. เพิ่มประเภทการลงทุนของบริษัทประกันภัย โดยให้บริษัทสามารถลงทุนตราสารทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย เพื่อสนับสนุน ยกระดับและสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจประกันภัย โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้เอาประกันให้ดียิ่งขึ้น


การยกร่างประกาศนี้ คปภ.บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูล ข้อเสนอแนะในแง่มุมต่างๆ อย่างครบถ้วน ล่าสุดได้หารือร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนผ่านทาง www.oic.or.th/th/consumer/public-hearing โดยจะได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงร่างประกาศให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทุกมิติ ก่อนจะเสนอคณะกรรมการ คปภ. (บอร์ด) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

35 views

Comments


bottom of page