เลือกตั้งสหรัฐเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น !
แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนหลังจากทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐที่ล่าสุดได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า เหตุการณ์ลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นแรงส่งให้ทรัมป์คว้าชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย. 67 โดยนักวิเคราะห์ในสหรัฐคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้ ทรัมป์ คว้าชัยชนะเหนือประธานาธิบดี โจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ซึ่งจะเปิดทางให้ทรัมป์เร่งผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ ทรัมป์ ดำเนินนโยบายการค้าแบบเชิงรุก, เดินหน้าปรับลดภาษี และผ่อนคลายกฎระเบียบในด้านต่างๆ เป็นวงกว้าง ตั้งแต่กฎระเบียบด้านสภาพภูมิอากาศไปจนถึงกฎระเบียบด้านคริปโทเคอร์เรนซี
ทั้งนี้สำนักวิจัยของโกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานระบุว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 5 ครั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นของบรรดาซีอีโอ, ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดเล็ก มักขานรับชัยชนะของพรรครีพับลิกันมากกว่าพรรคเดโมแครต และความเชื่อมั่นดังกล่าวนำไปสู่การใช้จ่ายและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นชัยชนะของทรัมป์จะช่วยกระตุ้นแนวโน้มกำไรของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากถึง 3 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ โดยการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในการประชุมเดือน ก.ย. 67 หลังจากที่ เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตัน ดีซี ว่าเฟดจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ก่อนที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับภาวะทรุดตัวลงอย่างรุนแรง หลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ที่กล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรว่าแม้ค่าเช่าและค่าใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์กำลังทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวขึ้น แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาที่เกี่ยวกับอุปทานและตลาดแรงงานที่ตึงตัวได้ผ่อนคลายลง และเชื่อว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป โดยล่าสุดเครื่องมือ FedWatch ของ CME Group บ่งชี้ว่า บรรดาเทรดเดอร์คาดว่า มีโอกาส 94% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือน ก.ย. 67 เพิ่มขึ้น 78% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการที่นักวิเคราะห์คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทในดัชนี S&P500 จะเพิ่มขึ้น 9.6% โดยคาดว่าบริษัทด้านเทคโนโลยีจะมีผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดีการพักตัวในระยะสั้นๆ ของตลาดหุ้นโลกยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ จากความกังวลเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 66.0 ในเดือน ก.ค. 67 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 68.5 จากระดับ 68.2 ในเดือน มิ.ย. 67 สำนักวิจัยมอร์แกน สแตนลีย์ ออกมาเตือนนักลงทุนให้ระวังการปรับฐานอย่างรุนแรงในตลาดหุ้นสหรัฐ 10% ในระหว่างนี้จนถึงการเลือกตั้ง และตลาดจะปรับตัวอย่างผันผวนในไตรมาส 3
แนวโน้มเศรษฐกิจจีนกดดันตลาดหุ้นเอเชีย ! ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นเอเชีย มีปัจจัยกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุด ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานราคาบ้านใหม่เดือน มิ.ย. 67 ของจีนปรับตัวลงในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบประมาณ 9 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของจีนยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว แม้รัฐบาลได้ใช้มาตรการสนับสนุนหลายรายการเพื่อควบคุมปัญหาบ้านล้นตลาดและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่าราคาบ้านใหม่ของจีนลดลง 4.5% ในเดือน มิ.ย. 67 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 58 และปรับตัวลงรุนแรงกว่าในเดือน พ.ค. 67 ที่ลดลง 3.9% ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอ่อนแอลงในไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันให้บรรดาผู้นำจีนต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ในการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 ครั้งที่ 3 (Third Plenum) โดย NBS รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ปี 2567 ของจีนขยายตัวเพียง 4.7% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะขยายตัว 5.1% และชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ปี 2567 ที่มีการขยายตัว 5.3% ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ตัวเลข GDP จีนขยายตัว 5% ขณะที่ยูบีเอส กรุ๊ป (UBS Group) ประเมินว่าการกำหนดภาษีศุลกากรใหม่ 60% สำหรับสินค้าส่งออกของจีนทั้งหมดไปยังสหรัฐนั้น จะทำให้อัตราการเติบโตต่อปีของเศรษฐกิจจีนลดลงเกินครึ่ง ซึ่งตอกย้ำความเสี่ยงที่จีนอาจจะต้องเผชิญ หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนลดลง 2.5 จุดเปอร์เซ็นต์ในปีถัดไป ขณะที่จีนกำลังพยายามให้เศรษฐกิจเติบโตประมาณ 5% ในปีนี้ หลังจากขยายตัว 5.2% ในปี 2566 โดย UBS คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.6% ในปี 2568 และ 4.2% ในปี 2569 แต่หากมีการกำหนดภาษีนำเข้าดังกล่าว การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจลดลงเหลือ 3% ทั้งในปี 2568 และ 2569 แม้จีนจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันที่รออยู่จากการที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ได้รับการสำรวจโดยวอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) ระบุว่านโยบายของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่านโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยนักเศรษฐศาสตร์ 28 คนจาก 50 คนที่ตอบคำถามเกี่ยวกับทรัมป์และไบเดนในการสำรวจกล่าวว่านโยบายที่เสนอโดยทรัมป์นั้น ทำให้มีความเสี่ยงที่สหรัฐจะกลับไปมีเงินเฟ้อที่ระดับสูง มากกว่านโยบายของไบเดน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ 8 คนในผลสำรวจของ WSJ ระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อจะรุนแรงภายใต้รัฐบาลของไบเดนมากกว่าภายใต้รัฐบาลทรัมป์ ส่วนนักเศรษฐศาสตร์อีก 14 คนกล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อจากนโยบายของทั้งทรัมป์และไบเดนนั้นจะไม่แตกต่างกันมากนัก
นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จากวอลล์สตรีทยังประเมินว่าข้อเสนอด้านภาษีที่แข็งกร้าวของทรัมป์ ซึ่งได้แก่การเก็บภาษี 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด และการเก็บภาษี 60-100% กับสินค้านำเข้าจากจีน อาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มของเงินเฟ้อที่ยังคงไม่นิ่ง สะท้อนออกมาจากการที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ของสหรัฐเปิดเผยว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะมากกว่าปริมาณน้ำมันที่มีในปีหน้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีปริมาณน้ำมันส่วนเกิน
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ปัจจัยกดดันคือเรื่องความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย โดยที่ล่าสุดศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. 67 อยู่ที่ 58.9 ลดลงจาก 60.5 ในเดือน พ.ค. 67 โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 เป็นต้นมา และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ก.ค. 67 พบว่าดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 82.89 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" นักลงทุนมองว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือการไหลออกของเงินทุน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,400 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจากนายหมูบินได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: TradingView
Comments