ลุ้นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของจีน!
ในระยะสั้นทิศทางของตลาดหุ้นเอเชีย ยังคงถูกกดดันจากการที่จีนยังเผชิญแรงกดดันด้านเงินฝืด หลังอัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้ 0% โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภคของจีนอยู่ที่ระดับต่ำในเดือน ต.ค. 67 ขณะที่ราคาหน้าโรงงานก็ยังคงลดลง ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุดของรัฐบาลจีนยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีนรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ต.ค. 67 เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอลงหลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ย. 67 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจโดยบลูมเบิร์กคาดการณ์ไว้ว่า CPI เดือน ต.ค. 67 อาจจะทรงตัวเท่ากับในเดือน ก.ย. 67 ส่วนอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 25 โดยดัชนี PPI ลดลง 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือน ต.ค. 67 ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 25 ติดต่อกัน โดยลดลงมากกว่าที่เศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าอาจลดลง 2.5%
ทั้งนี้ การที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ใกล้ระดับ 0% นั้นเป็นหลักฐานล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า ความต้องการภายในประเทศของจีนยังคงซบเซา แม้ว่ารัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. 67 ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การเพิ่มสภาพคล่องเพื่อให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการสนับสนุนตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่ล่าสุดยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนของจีนชะลอตัวลงมากกว่าคาดในเดือน ต.ค. 67 ซึ่งบ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนไม่สามารถทำให้ความต้องการสินเชื่อฟื้นตัวขึ้นได้ โดยที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนในเดือน ต.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 5 แสนล้านหยวน (6.951 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งลดลงอย่างมากจากระดับ 1.59 ล้านล้านหยวนในเดือน ก.ย. 67 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 7 แสนล้านหยวน โดยที่นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์หัวซิน ระบุว่าความต้องการระดมทุนทางการเงินของบริษัทเอกชนยังคงอ่อนแอ เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงซบเซา พร้อมกับคาดการณ์ว่า ความต้องการสินเชื่อจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นในเร็วๆ นี้ แม้ว่า PBOC ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม ส่วนในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนของจีนเพิ่มขึ้น 16.52 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์)
ทั้งนี้ข้อมูลจาก PBOC ยังระบุด้วยว่า ปริมาณเงินในระบบ M1 ซึ่งครอบคลุมกระแสเงินสดหมุนเวียนและเงินฝากเผื่อเรียก (Demand Deposits) อยู่ที่ระดับ 63.34 ล้านล้านหยวน ลดลง 6.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้ล่าสุดกระทรวงการคลังของจีนเตรียมออกนโยบายภาษีชุดใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างมีคุณภาพ โดย หลัน ฝออัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวว่า มาตรการใหม่เหล่านี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติตามขั้นตอนที่กำหนด พร้อมกับเสริมว่า กระทรวงการคลังกำลังเร่งวางแผนนโยบายการคลังที่จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากวัฏจักรเศรษฐกิจมากขึ้น (Counter-Cyclical Adjustments)
นอกจากนี้ตลาดหุ้นเอเชียยังคงมีปัจจัยกดดันระยะจากความกังวลว่านโยบายภาษีการค้าของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อในระยะยาวย่ำแย่ลงอีก หากบรรดาประเทศคู่ค้าทั่วโลกของสหรัฐ ใช้มาตรการตอบโต้ โดย นีล แคชคารี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินนีแอโพลิส ระบุว่าการเก็บภาษีนำเข้าครั้งเดียวอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะยาว แต่ความท้าทายอาจจะเกิดขึ้นเมื่อมีการตอบโต้กันไปมา โดยเมื่อประเทศหนึ่งเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้า และอีกประเทศตอบโต้กลับ จนส่งผลให้สถานการณ์บานปลาย นั่นคือสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า และถ้าจะให้พูดตรงๆ ก็คือว่าเรื่องนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกนั้น ทรัมป์ได้จุดชนวนสงครามการค้ากับจีน โดยเขาประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการ ซึ่งส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเช่นกัน
ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งสหรัฐ ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จีนอาจไม่ใช่ประเทศเดียวในเอเชียที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าว ขณะที่นักวิเคราะห์จากธนาคารบาร์เคลย์สระบุในบทวิเคราะห์ว่า นโยบายการค้าเป็นสิ่งที่ทรัมป์น่าจะเขย่าตลาดเกิดใหม่ในเอเชียได้มากที่สุดในการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยที่ 2 นี้ และนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์จะส่งผลเสียมากที่สุดต่อเศรษฐกิจแบบเปิดในภูมิภาค โดยไต้หวันมีความเสี่ยงสูงกว่าเกาหลีและสิงคโปร์ รวมทั้งมองว่าไทยและมาเลเซียจะได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง โดยไทยอาจได้รับผลกระทบมากกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้ ว่าที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าทุกชนิดในอัตรา 10-20% โดยสินค้าจากจีนจะถูกเก็บเพิ่มอีก 60-100% ซึ่งโกลด์แมนคาดว่า สหรัฐจะเริ่มเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติมที่อัตราเฉลี่ย 20% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568
ตลาดหุ้นโลกยังคงไปต่อได้! อย่างไรก็ดีการพักตัวของตลาดหุ้นเอเชียและไทยจะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น หลังจากดัชนีดาวโจนส์พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขานรับชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดย เจเรมี ซีเกล ศาสตราจารย์จาก Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ระบุว่า ตลาดหุ้นจะได้รับอานิสงส์จาก โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ มากกว่าประธานาธิบดีในอดีต อันเนื่องจากนโยบายของทรัมป์ ที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ นอกจากนี้ เจเรมี ซีเกลเชื่อว่าทรัมป์จะนำมาตรการปรับลดอัตราภาษีของภาคเอกชนที่มีการใช้ในปี 2560 ในระหว่างการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของเขากลับมาใช้ หลังจากเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์, S&P 500 และ Nasdaq ต่างทะยานขึ้นทำสถิติสงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์การเลือกตั้ง ขานรับชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์ โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าชัยชนะของทรัมป์ รวมทั้งแนวโน้มที่พรรครีพับลิกันจะกวาดเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จะทำให้มาตรการต่างๆ ตามนโยบาย "Make America Great Again!" ของทรัมป์ถูกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนโยบายปรับลดอัตราภาษี การผ่อนคลายกฎระเบียบในภาคการเงิน และการใช้จ่ายทางการคลัง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และหนุนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาด ในภาวะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐลดลงมาก ทำให้ล่าสุดนักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม 18 ธ.ค. 67 อย่างไรก็ดี นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ม.ค. 68 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือน มี.ค. 68 โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 71.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค. 67 และให้น้ำหนัก 54.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน ม.ค. 68 นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 46.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือน มี.ค. 68 ส่งผลให้ผลสำรวจของสมาคมนักลงทุนรายย่อยอเมริกัน (AAII) พบว่านักลงทุนเพิ่มน้ำหนักความเชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดหุ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า สู่ระดับ 41.5% จากระดับ 39.5% ในสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 4 ปี 2567 ต่อเนื่องจากที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 1, 3.0% ในไตรมาส 2 และ 2.8% ในไตรมาส 3 ส่งผลให้นักลงทุนลดน้ำหนักความไม่เชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดหุ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า สู่ระดับ 27.6% จากระดับ 30.9% ในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักมุมมองที่เป็นกลางต่อทิศทางตลาดหุ้น สู่ระดับ 30.9% จากระดับ 29.6% ในสัปดาห์ที่แล้ว
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงแกว่งตัวเหนือกว่า 1,420 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อลงทุน” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไปที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: TQ
Comments