top of page

นโยบายทรัมป์ ปัจจัยหนุนภาพรวมหุ้นโลก


สินทรัพย์เสี่ยงยังคงขาขึ้น ! 

           

แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นนะครับ หลังตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นมากกว่า 7% ในเดือน พ.ย. 67 ทำสถิติเป็นเดือนที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในปีนี้ และดีดตัวขึ้นมากที่สุดย้อนไปถึงเดือน พ.ย. 66 โดยได้รับแรงหนุนจากการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของ โดนัลด์ ทรัมป์ และการที่พรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งจะทำให้การผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการปรับลดอัตราภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ เช่นเดียวกับกองทุน ETF ในสหรัฐ ที่ลงทุนโดยตรงในบิตคอยน์และอีเธอร์ กำลังเป็นที่ต้องการอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยได้แรงหนุนจาการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ให้คำมั่นว่าจะผ่อนคลายกฎระเบียบในอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี

           

เม็ดเงินลงทุนสุทธิที่ไหลเข้าสู่กองทุน ETF บิตคอยน์และอีเธอร์ ในเดือน พ.ย. 67 พุ่งขึ้นแตะระดับ 6.5 พันล้านดอลลาร์ และ 1.1 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ซึ่งทำสถิติรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ความสนใจในอีเธอร์ ซึ่งเป็นเหรียญคริปโทที่ใหญ่เป็นที่สองรองจาก บิตคอยน์ นั้น สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต้องการซื้อคริปโท เพื่อเก็งกำไรหลังจากทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 67 ทั้งนี้ กองทุน ETF อีเธอร์จำนวน 9 แห่งมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ 333 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 29 พ.ย. 67 นำโดยกองทุน iShares Ethereum Trust ของบริษัท แบล็กร็อก อิงค์ (BlackRock Inc) และกองทุน Ethereum Fund ของบริษัท ฟิเดลิตี อินเวสต์เมนต์ส (Fidelity Investments)

           

ขณะที่ข้อมูลจาก CoinGecko ระบุว่า มูลค่าตลาดคริปโท พุ่งขึ้นราว 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

           

นอกจากนี้ตลาดหุ้นโลกยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากความตึงเครียดทางการค้าที่ลดลง หลังรัฐบาลแอฟริกาใต้ ออกโรงยืนยันว่าไม่มีแผนสร้างสกุลเงินใหม่ของกลุ่ม BRICS หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 100% หากกลุ่ม BRICS คิดสร้างสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อให้มาแทนที่สกุลเงินดอลลาร์ โดยกรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความร่วมมือของแอฟริกาใต้ หรือ Dirco แถลงว่ารายงานข่าวที่ผิดพลาดก่อนหน้านี้นำไปสู่การตีความที่ไม่ถูกต้องว่ากลุ่ม BRICS กำลังวางแผนสร้างสกุลเงินใหม่ ซึ่งไม่เป็นความจริง การหารือภายในกลุ่ม BRICS มุ่งเน้นไปที่การค้าระหว่างประเทศสมาชิกโดยใช้สกุลเงินของแต่ละประเทศ

           

อย่างไรก็ดีประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปคือการที่ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานในกรุงโตเกียว ปรับตัวสูงขึ้นในเดือน พ.ย. 67 ทะลุเป้าหมาย 2% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำหนดไว้ ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. 67 โดยดัชนี CPI พื้นฐานในกรุงโตเกียว ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวสูงขึ้น 2.2% ในเดือน พ.ย. 67 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 2.1% และสูงกว่าตัวเลข 1.8% ในเดือน ต.ค. 67 ส่วนดัชนี CPI ที่ไม่นับรวมทั้งราคาอาหารสดและพลังงาน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อที่ BOJ จับตาอย่างใกล้ชิด เพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือน พ.ย. 67 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงขึ้นจาก 1.8% ในเดือน ต.ค. 67

           

ทั้งนี้ตัวเลขเงินเฟ้อในกรุงโตเกียวครั้งนี้ ซึ่งมักใช้คาดการณ์แนวโน้มทั่วประเทศ ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนกำลังแบกรับภาระจากค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค และค่าอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ผลสำรวจภาคเอกชนเผยว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 8 เดือนในเดือน พ.ย. 67 สืบเนื่องจากอุปสงค์ที่ซบเซาทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับลดกำลังการผลิต โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ปรับตัวลงจากระดับ 49.2 ในเดือน ต.ค. 67 สู่ระดับ 49.0 ในเดือน พ.ย. 67 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 67 โดยเป็นไปตามตัวเลขเบื้องต้น และยังคงต่ำกว่าระดับ 50.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยที่ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

           

สถานการณ์ในยูเครนดีขึ้นส่วนจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้น ! ขณะที่ในฝั่งยุโรปพบว่ากิจกรรมภาคการผลิตในยูโรโซนดิ่งลงอย่างหนักในเดือน พ.ย. 67 อีกทั้งอุปสงค์ที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ ดูจะทำลายความหวังการฟื้นตัวในเร็ววันให้มลายหายไป ทั้งที่ภาคส่วนนี้เพิ่งส่งสัญญาณว่าอาจมีเสถียรภาพอยู่บ้างในเดือน ต.ค. 67 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจาก HCOB ซึ่งจัดทำโดย S&P Global ร่วงแตะระดับ 45.2 ในเดือน พ.ย. 67 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าระดับของเดือน ต.ค. 67 ที่ 46.0 และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 มาตั้งแต่กลางปี 2565

           

ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว ขณะที่ความตึงเครียดในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นอีก หลัง โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เดินทางเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนโดยไม่แจ้งล่วงหน้า พร้อมให้คำมั่นว่าจะมอบความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 650 ล้านยูโร (683 ล้านดอลลาร์) ภายในเดือนนี้ ซึ่งนายกฯ เยอรมนีเดินทางเยือนยูเครนเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเกือบสามปีที่แล้ว ซึ่งส่งสัญญาณว่าเยอรมนีสนับสนุนยูเครน ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐต่อยูเครน ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของ โดนัลด์ ทรัมป์

           

นอกจากนี้ อันนาเลนา แบร์บอค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ยังได้ออกมากล่าวหาว่าจีนจัดหาอาวุธให้รัสเซียใช้ทำสงครามกับยูเครน ซึ่งถือเป็นการคุกคามสันติภาพในยุโรปและอินโดแปซิฟิก โดยระบุว่าแทนที่จะรับผิดชอบต่อความสงบสุขและความมั่นคงของโลกในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จีนกลับเลือกที่จะขัดขวางผลประโยชน์หลักของยุโรปด้วยการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและอาวุธแก่รัสเซีย

           

อย่างไรก็ดีสถานการณ์น่าจะไม่บานปลาย หลังประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวแสดงความประสงค์ที่จะยุติสงครามกับรัสเซียในไม่ช้า และระบุว่ายูเครนสามารถกลับมามีกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนที่รัสเซียยึดครองโดยผ่านการเจรจาทางการทูต ถ้าหากยูเครนได้รับการยืนยันในการเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของเซเลนสกี ซึ่งก่อนหน้านี้ยืนกรานว่า สงครามจะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อรัสเซียยอมคืนดินแดนของยูเครนที่ยึดครองไป

           

นอกจากนี้ข่าวดีจากฝั่งเอเชียคือการที่ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดย ไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล (Caixin/S&P Global) ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนขยายตัวรวดเร็วที่สุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่ รวมถึงคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เป็นปัจจัยหนุนภาคการผลิตขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตพุ่งขึ้นแตะระดับ 51.5 ในเดือน พ.ย. 67 จากระดับ 50.3 ในเดือน ต.ค. 67 โดยดัชนี PMI เดือน พ.ย. 67 ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 67 และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 50.5

           

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีนเปิดเผยว่า ดัชนี PMI) ภาคการผลิตเดือน พ.ย. 67 เพิ่มขึ้นแตะระดับ 50.3 จากระดับ 50.1 ในเดือน ต.ค. 67 ซึ่งบ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของจีนเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวทั่วทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงขยายตัว

           

ในส่วนของกลยุทธ์สำหรับการลงทุนระยะสั้น(ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงแกว่งตัวเหนือกว่า 1,420 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อลงทุน” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไปที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TQ

3 views

Comentarios


bottom of page