
ทิศทางของตลาดหุ้นโลกและภูมิภาคยังคงเป็นขาขึ้นนะครับ หลังจากที่ล่าสุดญี่ปุ่นรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4 ปี 2567 ขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 1% ส่วนเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส GDP ขยายตัว 0.7% ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.3% ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐ ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที ทั้งนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในบันทึกของประธานาธิบดี (Presidential Memorandum) เพื่อประกาศแผนการใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า มาตรการดังกล่าวอาจจะมีการบังคับใช้ในอีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่ทีมเศรษฐกิจและการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังศึกษาในประเด็นต่างๆ ซึ่งรวมถึงการค้าทวิภาคี
อย่างไรก็ดีแรงกดดันในเชิง Momentum ในระยะสั้นๆ ยังคงมีอยู่จากการที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ระบุว่าการเจรจาสันติภาพโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของยูเครน ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และการจัดการประชุมในยูเครนตามรูปแบบของสหรัฐควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และตามมาด้วยการเจรจากับรัสเซียขณะที่ล่าสุดผลสำรวจของสมาคมนักลงทุนรายย่อยอเมริกัน (AAII) พบว่า นักลงทุนที่ “มีความไม่เชื่อมั่น” ต่อทิศทางของตลาดหุ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า มีจำนวน 47.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 42.9% ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะเดียวกัน นักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดหุ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า มีจำนวน 28.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และลดลงจากระดับ 33.3% ในสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนจำนวน 57.4% เชื่อว่านโยบายการตั้งกำแพงภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะชะลอเศรษฐกิจสหรัฐ และทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น ขณะที่ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐแสดงให้เห็นว่า แม้เฟดมีความคืบหน้าในการทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่เฟดก็ยังต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% และจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบคุมเข้มต่อไปในขณะนี้ หลังจากที่ล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือน ม.ค. 68 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.9% ในเดือน ธ.ค. 67
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือน ม.ค. 68 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.2% ในเดือน ธ.ค. 67 สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือน ม.ค. 68 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.2% จากระดับ 3.5% ในเดือน ธ.ค. 67 และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ม.ค. 68 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.5% ในเดือน ธ.ค. 67 ดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.6% ในเดือน ม.ค. 68 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.3% จากระดับ 3.7% ในเดือน ธ.ค. 67
ทั้งนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดอาจมีความซับซ้อนมากขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเป็นวงกว้าง ปรับลดภาษี และใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเข้าเมือง ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่ามาตรการเหล่านี้จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ทำให้ล่าสุดนักลงทุนพากันปรับคาดการณ์ต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้ออกไปเป็นเดือน ก.ย. 68 จากเดิมที่คาดไว้ในเดือน ก.ค. 68 และจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวของเฟดในปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่สูงกว่าคาด และ เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวย้ำว่า เฟดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน มี.ค. 68 นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ค., มิ.ย. และ ก.ค. 68 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือน ก.ย. 68 และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในการประชุมที่เหลือจนสิ้นปี 2568
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นกดดัน ! ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอาจกลับเข้ามาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันทิศทางของตลาดหุ้นโลกได้ โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.9% ในเดือน ม.ค. 68 เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน ธ.ค. 67 และเมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือน ม.ค. 68 หลังจากเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือน ธ.ค. 67 ทั้งนี้หากไม่รวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกลดลง 0.5% ในเดือน ม.ค. 68 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ธ.ค. 67 ขณะที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.3% ในไตรมาส 1 ปี 2568 ต่อเนื่องจากที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 1, 3.0% ในไตรมาส 2, 3.1% ในไตรมาส 3 และ 2.3% ในไตรมาส 4 ปี 2567 ตามลำดับ
ในส่วนของเอเชียพบว่าปัจจัยกดดันที่สำคัญคือ การที่อัตราเงินเฟ้อภาคการผลิตรายปีของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 68 พุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.2% นับเป็นการเร่งตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านราคาที่ยังคงอยู่ในระดับสูง พร้อมทั้งตอกย้ำการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า การที่ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน สะท้อนให้เห็นว่า BOJ กำลังจับตามองความเสี่ยงที่ราคาสินค้าอาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (CGPI) ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดระดับราคาสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บระหว่างกัน ได้ปรับตัวสูงเกินกว่าที่นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4.0% และเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ปรับปรุงใหม่ในเดือน ธ.ค. 67 ที่ขยายตัว 3.9% ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมา BOJ ได้ยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลที่ดำเนินการมานานนับทศวรรษ พร้อมกับปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นเป็น 0.5% ในเดือน ม.ค. 68 ด้วยความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าสู่การรักษาระดับเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมาย 2% อย่างมั่นคง
BOJ ได้เปิดเผยว่าพร้อมจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม หากเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงในภาพรวมสามารถหนุนกำลังซื้อของผู้บริโภค และเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับราคาสินค้าและบริการได้อย่างต่อเนื่อง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค. 67 อยู่ที่ 3.0% นับเป็นการเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 16 เดือน และยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 2% ที่ BOJ กำหนดไว้ต่อเนื่องยาวนานเกือบ 3 ปี
อย่างไรก็ดีปัจจัยบวกคือในส่วนของตัวเลขภาคการผลิตของสหรัฐที่ดีขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ม.ค. 68 เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือน ธ.ค. 67 เมื่อเทียบรายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือน ม.ค. 68 สอดคล้องกับในภาคแรงงาน ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 7,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 215,000 ราย ส่วนจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 36,000 ราย สู่ระดับ 1.85 ล้านราย และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.88 ล้านราย
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย คงต้องรอปัจจัยหนุนจากการปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมาย และเงื่อนไขต่างๆ ในการโยกเงินกองทุน LTF ที่ครบอายุ และนักลงทุนที่ไม่อยากขายเพราะขาดทุน เข้าสู่กองทุน ThaiESG ซึ่งจะตั้งเป็นกองใหม่ เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังคาดว่าระยะเวลาถือครองกองใหม่อยู่ที่ 5 ปี ขณะที่สัดส่วนในการลงทุนอยู่ระหว่างการศึกษา แต่คาดว่าจะเน้นลงทุนหุ้นไทยที่เกี่ยวข้องกับ ESG โดยได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษา ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เน้น “อ่อนตัวซื้อลงทุน” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไปที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TQ
Comments