มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐ ทำลายแนวโน้มขาขึ้น
- Dokbia Online
- Apr 10
- 2 min read

Trump Effect สะเทือนโลก !
ตลาดหุ้นโลกเข้าสู่แนวโน้มพักฐานที่จริงจังอีกครั้ง หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อประกาศใช้ทั้งมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tarrifs) โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกถูกเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าสู่สหรัฐ โดยที่จะมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐานในอัตรา 10% จากทุกประเทศ ในขณะที่จะเก็บภาษีตอบโต้เพิ่มเติมกับคู่ค้าของสหรัฐบางประเทศ ซึ่งรวมถึงจีนที่ถูกเรียกเก็บ 34% อินเดีย 26% เกาหลีใต้ 25% ญี่ปุ่น 24% และสหภาพยุโรป (EU) 20% ส่วนประเทศในอาเซียนถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ถ้วนหน้าเช่นกัน นำโดยกัมพูชา 49% ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 44% ไทย 36% อินโดนีเซีย 32% บรูไน 24% มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10%
ผลกระทบเบื้องต้น ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) ประเมินว่าอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐจะพุ่งขึ้นเป็น 22% จากเพียง 2.5% ในปี 2567 ภายใต้มาตรการภาษีใหม่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้ ซึ่งอัตราภาษีใหม่ดังกล่าวนั้นเคยถูกกำหนดครั้งหลังสุดเมื่อราวปี 2453 ซึ่งมาตรการภาษีในครั้งนี้เป็นการ ”เปลี่ยนเกม” ไม่ใช่แค่สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ แต่รวมถึงเศรษฐกิจโลกด้วย หลายประเทศอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการคาดการณ์เศรษฐกิจที่เคยมีนั้นอาจใช้ไม่ได้อีก หากอัตราภาษีนี้ยังคงมีอยู่ต่อไปอีกนาน ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลงอย่างหนัก
ความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสงครามการค้าโลกซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นได้ฉุดตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ขณะที่ดัชนี Nasdaq ได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) แล้ว โดย Momentum ขาลงของตลาดหุ้นสหรัฐ สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนีความกลัวของตลาด หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 ซึ่งบ่งชี้ถึงความวิตกอย่างมากของนักลงทุนต่อสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐ และความเป็นไปได้ที่ประเทศคู่ค้าจะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเช่นกัน โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ออสเตรเลีย และอิตาลี ได้มีการหารือกันถึงวิธีตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐ
นอกจากนี้นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกหลังการประกาศภาษีของทรัมป์ โดยเตือนว่า ภาษีที่เพิ่มขึ้นมากเกินคาดอาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลง ซึ่งจะเป็นความท้าทายต่อการตัดสินใจของเฟดในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตรเพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ร่วงต่ำกว่า 4%
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ศุลกากรของสหรัฐ ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้า 10% จากสินค้านำเข้าทั้งหมดของหลายประเทศในวันที่ 5 เม.ย. 68 ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่การเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นจาก 57 ประเทศคู่ค้ารายใหญ่จะเริ่มในวันที่ 9 เม.ย.
ล่าสุดเจพีมอร์แกน วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ ออกรายงานระบุว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอยในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 40% หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ต่อประเทศคู่ค้า ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว -3.7% ในไตรมาส 1 ปี 2568 ทั้งนี้นายคาร์ล ไวน์เบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก High Frequency Economics ประเมินว่านโยบายเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐราว 10% ในไตรมาส 2 ปี 2568 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
อย่างไรก็ดี เจพีมอร์แกนระบุว่า ผลกระทบจากมาตรการภาษีของปธน.ทรัมป์จะได้รับการผ่อนคลายลงจากการที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยปัจจุบันนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม กันยายน ตุลาคม และธันวาคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะประสบภาวะถดถอยจากการดำเนินมาตรการเรียกเก็บภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 60.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน พ.ค. 68 นอกจากนี้ FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือน มิ.ย. 68, ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเดือน ก.ค. 68, ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.50-3.75% ในการประชุมเดือน ก.ย. 68 และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.25-3.50% ในการประชุมเดือน ต.ค. 68 และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมเดือน ธ.ค. 68
สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐปัจจัยเสี่ยงใหญ่ ! แม้ว่าล่าสุด นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังของสหรัฐ จะเปิดเผยว่ามีมากกว่า 50 ประเทศติดต่อมายังทำเนียบขาว เพื่อขอเปิดการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐอยู่ในสถานะที่มีอำนาจต่อรอง โดยล่าสุดหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส (Financial Times) รายงานว่า นายโจเซฟ วู รมว.ต่างประเทศและหัวหน้าสภาความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวันได้เดินทางถึงสหรัฐแล้วเพื่อหารือกับรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่ แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย แถลงว่าอินโดนีเซียจะไม่ตอบโต้มาตรการภาษีการค้า 32% ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกเก็บจากอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียจะใช้แนวทางการทูตและการเจรจาเพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่นเดียวกับ นายชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศว่าจะเดินทางไปเยือนสหรัฐในเร็วๆ นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับจุดยืนของญี่ปุ่นต่อมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออก
อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อประเทศหรือรายละเอียดของการเจรจาใดๆ และการเจรจากับหลายสิบประเทศในเวลาเดียวกัน อาจเป็นความท้าทายในแง่การบริหารจัดการสำหรับรัฐบาลทรัมป์ และยังไม่ชัดเจนว่ากระบวนการนี้จะใช้เวลานานเพียงใด ดังนั้นมาตรการภาษีของสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะสร้างความเสี่ยงทั้งในส่วนของการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
ในส่วนของการเมืองสหรัฐ มีการนัดชุมนุมราว 1,200 จุดทั่วสหรัฐ โดยใช้สโลแกน "Hands Off!" เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ และอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ทำงานใกล้ชิดกับทรัมป์ นับตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่เริ่มผลักดันนโยบายแนวอนุรักษนิยมอย่างสุดตัว ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายที่เขาได้ประกาศไป หลังจีนออกมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้สหรัฐ โดยกระทรวงการคลังของจีนแถลงว่าจะเรียกเก็บภาษี 34% จากสินค้าทั้งหมดที่นำเข้ามาจากสหรัฐ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 68 ทั้งนี้ จีนออกมาตรการดังกล่าวเพื่อตอบโต้ต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในอัตรา 34% จากสินค้าที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการเรียกเก็บภาษีที่สหรัฐบังคับใช้กับจีนอยู่แล้ว จะทำให้จีนต้องเผชิญกับอัตราภาษีรวมจากสหรัฐสูงถึง 54%
ทั้งนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ระบุว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาดในเดือน มี.ค. 68 เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่านโยบายของเขากำลังสร้างความแข็งแกร่งต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 228,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. 68 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 139,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 117,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. 68 อย่างไรก็ดีสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่พูดคือการที่อัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.2% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.1%
ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกำลังเริ่มขึ้น หลังรัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการใช้มาตรการภาษีอย่างไม่เป็นธรรมของสหรัฐ โดยระบุว่า การกระทำของสหรัฐละเมิดหลักการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและบรรทัดฐานตลาด ไม่เคารพผลลัพธ์ที่สมดุลจากการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี และมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐ ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการค้าระหว่างประเทศมายาวนาน การใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกดดันอย่างสุดโต่งเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ถือเป็นตัวอย่างชัดเจนของการกระทำฝ่ายเดียว การกีดกันทางการค้า และการรังแกทางเศรษฐกิจ ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังกระทรวงการคลังของจีนประกาศเรียกเก็บภาษี 34% จากสินค้านำเข้าทั้งหมดที่มาจากสหรัฐตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.เป็นการตอบโต้
เช่นเดียวกับรัฐบาลเม็กซิโก ที่ประกาศว่าจะลงทุนมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และลดการพึ่งพาการนำเข้า เพื่อตอบโต้ต่อมาตรการขึ้นภาษีครั้งใหม่ของสหรัฐ ทั้งนี้ รัฐบาลเม็กซิโกตั้งเป้าเพิ่มการผลิตข้าวโพดจาก 21.3 ล้านตันเป็น 25 ล้านตัน, เพิ่มผลผลิตถั่วจาก 730,000 ตันเป็น 1.2 ล้านตัน เพิ่มผลผลิตข้าวจาก 221,500 ตันเป็น 450,000 ตัน และเพิ่มผลผลิตนมจาก 687 ล้านลิตรเป็น 1.3 พันล้านลิตรต่อปีภายในปี 2573
ขณะที่นายเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) ยังยึดมั่นในแนวทางการเจรจากับสหรัฐ เรื่องมาตรการภาษีนำเข้า แต่ย้ำพร้อมดำเนินมาตรการตอบโต้ที่เหมาะสม หากจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ของตน หลังสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจาก EU ในอัตรา 20% ส่งผลให้หลายประเทศสมาชิก EU แสดงความไม่พอใจและออกมาคัดค้านมาตรการดังกล่าว
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เน้น “อ่อนตัวซื้อลงทุน” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไปที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TQ มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐ
Comments