โอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยน้อย !
ความกังวลของนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกจากประเด็นของอัตราเงินเฟ้อ และการลดการผ่อนคลายทางการเงินของเฟดกลับมาอีกครั้ง หลังสหรัฐรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐโดนเทขายทันที บนความกังวลว่าเฟดอาจจะถูกกดดันให้รีบขึ้นดอกเบี้ย Fed Fund Rate รวมทั้งอาจจะลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE เพื่อสกัดเงินเฟ้ออีกด้วย หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือน เม.ย. 2564 เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% MoM ขณะที่ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.2% YoY ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6%
ทั้งนี้ถึงแม้ตัวเลข CPI จะประกาศออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด แต่ยังต้องไม่ลืมว่าตัวเลขแรงงานสหรัฐอย่าง Non-Farm Payroll ที่เฟดให้ความสำคัญในสัปดาห์ก่อน ยังไม่ได้สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้เฟดยังไม่รีบร้อนเปลี่ยนท่าทีเร็วจนเกินไป หากแต่ความกังวลของนักลงทุนทำให้บรรยากาศการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้นดูไม่สดใสนัก
สอดคล้องกับการที่รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดยืนยันว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่ขยายตัวน้อยกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือน เม.ย. 2564 จะไม่ทำให้เฟดเปลี่ยนแปลงแนวทางการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยรองประธานเฟดเชื่อว่าการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อจะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาจากข้อเท็จจริงจะพบว่า CPI ที่เพิ่มขึ้นมาสูงถึง 4.2% YoY เกิดจากฐานที่ต่ำของปีก่อนหน้า
ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐยังได้รับปัจจัยหนุนจากการที่องค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท ไฟเซอร์และบิออนเทคในเด็กอายุระหว่าง 12-15 ปีเป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว ซึ่งจะช่วยให้การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในสหรัฐมีขอบข่ายที่กว้างมากขึ้น
นอกจากนี้ตลาดหุ้นสหรัฐยังได้รับปัจจัยหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอาจจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ หลังจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐระบุว่าประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยอีกต่อไปเมื่ออยู่กลางแจ้ง และไม่ต้องใส่หน้ากากเมื่ออยู่ภายในอาคารของสถานที่ต่างๆ ส่วนใหญ่ในสหรัฐ
ทั้งนี้ Momentum ขาขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐ ในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลกสะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 36.50% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ที่ 27.00%
วัคซีนเป็นปัจจัยหลักหนุนการฟื้นตัว ! ในส่วนของทิศทางของตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้ออาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดปรับการดำเนินนโยบายทางการเงินเร็วขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับการตรวจสอบธุรกรรม Blocktrade หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมของกลุ่มเจ้าหน้าที่การตลาดและระบบควบคุมความเสี่ยงของ บล.บางแห่ง รวมทั้งการที่สถานการณ์โควิท 19 ล่าสุดที่ในประเทศมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่า 4,800 รายต่อวันซึ่งเป็นจุดสูงสุดใหม่ รวมทั้งการที่ MSCI ปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยลงเหลือ 1.73% จาก 1.83% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดส่งผลกระทบต่อหุ้นที่ถูกปรับออกจากการคำนวณดัชนี และถูกลดน้ำหนัก ได้แก่ (ถูกปรับออก) KBANK-F, DTAC / (ถูกลดน้ำหนัก) PTT, KBANK, INTUCH, CPN, SCC, CPALL, EGCO, TU และเพิ่มน้ำหนัก ได้แก่ (ถูกนำเข้า) SCGP, CBG / (ถูกเพิ่มน้ำหนัก) OSP, KTC, STGT, BH มีผลราคาปิดวันที่ 27 พ.ค. 2564
อย่างไรก็ดีกรอบในการปรับตัวลง หรือ Potential Downside Risk ของตลาดหุ้นไทยยังคงมีโอกาสที่จะจำกัดอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 1,500 จุด จากความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในประเทศไทยที่ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง หลังจากกรมควบคุมโรคเตรียมวางแนวทางรับประชาชนทั่วไปเข้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเดือน มิ.ย. 2564 หลังแอสตราเซเนกาทยอยส่งวัคซีนจนครบ 61 ล้านโดส
นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา ให้สามารถนำเข้ามาในประเทศได้แล้ว โดยการนำเข้าของ บริษัท ซีลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวจะมีอายุถึงวันที่ 12 พ.ค. 65 อีกทั้งการที่รัฐบาลประกาศคลายล็อก พื้นที่สีแดงเข้ม นั่งทานอาหารในร้านได้ถึง 21.00 น. เริ่ม 17 พ.ค. 64 ช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งด้วย ซึ่งมาตรการที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ได้รับการผ่อนคลายคือ นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ไม่เกิน 25% ไม่เกินเวลา 21.00 น. สั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น.
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,550 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,550 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
Comments