หุ้นสหรัฐและยุโรปยังเป็นขาขึ้น : ต้องยอมรับนะครับว่าทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปที่ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นชัดเจน สะท้อนออกมาจากการที่ในทางเทคนิคดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ และ Stoxx50 ของตลาดหุ้นยุโรป ยังคงแกว่งตัวเหนือเส้นค่าเฉลี่ยรายวัน หรือ Daily ได้ครบทุกเส้น หรือมีสถานะ Golden Cross ครบทั้ง 5 ขั้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในภาพรวมยังคงเป็นขาขึ้นด้วย
ปัจจัยหนุนสำคัญจากฝั่งของสหรัฐเกิดขึ้นล่าสุดจากการที่รัฐบาลสหรัฐบรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ชาวอเมริกันซึ่งเป็นผู้ใหญ่จำนวน 70% ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่คณะบริหารของประธานาธิบดี Joe Biden กำลังปรับปรุงแผนที่จะกำหนดให้ชาวต่างชาติทุกคนที่จะเดินทางเข้าสหรัฐต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางเพื่อกระตุ้นธุรกิจสายการบินและการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามความท้าทายของรัฐบาล Joe Biden ที่ยังคงต้องแก้ปัญหาสำหรับประชากรที่ปฏิเสธในการฉีดวัคซีน ให้มาฉีดวัคซีนให้ได้ ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อรายวันของสหรัฐกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งจากโควิดสายพันธุ์ Delta
อีกหนึ่งปัจจัยบวกสำคัญของตลาดหุ้นสหรัฐ คือการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือ Government Bond Yield อายุ 10 ปี ในภาพรวมยังคงอยู่ในทิศทางขาลง จากการที่เศรษฐกิจโลกอาจจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิดสายพันธุ์ Delta รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดย้ำมาตลอดว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังการเปิดเมือง (Reopening) การชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up Demand) สะท้อนออกมาจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่เริ่มสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวลง หลังจากทั้ง ISM ภาคการผลิตสหรัฐเดือน ก.ค. 64 ที่ 59.5 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนและตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐ ต่ำคาดมาก โดยการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 330,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. 64 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 64 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 653,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่อง Liquidity ด้วย หลังจากการยกเลิกเพดานหนี้ชั่วคราวได้หมดอายุลงในวันที่ 31 ก.ค. 64 ซึ่งกระทรวงการคลังได้เลือกใช้การดึงเงินออกจาก TGA แทนการออกพันธบัตรชุดใหม่ออกมาเพื่อกู้เงินทำให้ Supply ของพันธบัตรหายไปในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อ ซึ่งน่าจะเป็น “ข่าวดี” คือการที่ Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐได้ส่งจดหมายถึง Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเพื่อเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาล หลังจากที่สำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (CBO) เตือนว่า สหรัฐมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ในเดือน ต.ค.หรือ พ.ย.นี้ หากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานหนี้ ทั้งนี้หากสหรัฐสามารถปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานหนี้ได้ จะส่งผลให้รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรชุดใหม่ออกมาเพื่อกู้เงินได้ และจะทำให้ Supply กลับเข้ามาในตลาด และประเด็นปัญหาสภาพคล่องก็จะคลี่คลาย
นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค.นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ในส่วนของตลาดหุ้นยุโรปยังคงเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งความมั่นใจที่มีต่อสภาพคล่องที่จะยังคงมีอยู่อย่างมากพอในตลาดการเงินยุโรป หลังธนาคารกลางอังกฤษ มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับการคาดการณ์
นอกจากนี้ธนาคารกลางยุโรป หรือ BoE ก็ประกาศคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 8.95 แสนล้านปอนด์ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย
ทั้งนี้ Momentum ที่ยังคงเป็นขาขึ้นของตลาดหุ้นโลก สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง ปรับตัวลดลง 7.89%, 16.34% และ 3.23% ตามลำดับ
ปัจจัยภายในกดตลาดหุ้นไทย Underperform !
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยแนวโน้มการฟื้นตัวยังคงอ่อนแอ หลังถูกกดดันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นและทำ New High ต่อเนื่อง ประกอบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นฝั่งเอเชียที่ยังคงผันผวนจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ (Policy Uncertainty Risk) ของจีน ปัจจัยดังกล่าวล้วนกดดัน Fund Flow ให้มีโอกาสไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 หรือขายสุทธิทุกเดือนในปีนี้ ขณะเดียวกันเงินบาทที่อ่อนค่ามาทะลุ 33 บาท/ดอลลาร์
นอกจากนี้มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่เศรษฐกิจไทยอาจติดลบถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สอง แม้ภาคการส่งออกฟื้นตัวจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ แต่การทรุดตัวลงของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรง จากการล็อกดาวน์ และการขยายล็อกดาวน์รอบใหม่ ประกอบกับไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ที่แม้ว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% แต่มีสัญญาณของการผ่อนคลายในอนาคต และปรับลดประมาณการ GDP Growth ปี 2564 ลงเหลือ 0.7% จากเดิม 1.8% และปี 2565 ลงเล็กน้อยจาก 3.9% เหลือ 3.7% โดยปรับประมาณการเกี่ยวกับสมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างประเทศลง และแสดงความกังวลถึงผลกระทบของสถานการณ์ระบาดของโควิด
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) “ซื้อเก็งกำไร” เมื่อ SET ปิดเหนือ 1,550 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,510 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Comments