top of page
379208.jpg

คุมโควิดไม่ได้-หุ้นไทยไปต่อยาก...ตลาดหุ้นสหรัฐไปลุ้นปัจจัยบวกต่อที่ Jackson Hole !



ตลาดหุ้นโลกยังคงเดินหน้าอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นได้อย่างต่อเนื่องนะครับ สัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.30% โดยมีตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% และ 1.0% เป็นผู้นำการปรับตัวขึ้น และส่งผลให้ในปัจจุบันตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปยังคงเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ หรือ New High ไปอีก

ขณะที่ในทางเทคนิคตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปจะเป็นผู้นำของการปรับตัวขึ้นในแนวโน้มขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกอย่างแท้จริง หลังจากที่ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ และดัชนี Stoxx50 ของตลาดหุ้นยุโรป ยังคงมีรูปแบบของการเกิด Golden Cross ครบทั้ง 5 ขั้น โดยมีปัจจัยหนุนในเชิงพื้นฐานจากการที่วุฒิสภาสหรัฐลงมติผ่านร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการสร้างงานในสหรัฐ รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณครั้งใหม่วงเงิน 5.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งครอบคลุมโครงการสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ ปัจจัยพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงการอื่นๆ ขณะที่ในด้านของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดตัวเลข Initial Jobless Claim ลดลงสู่ระดับ 375,000 รายในสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวแม้มีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา บนความกังวลต่อทิศทางของอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ก.ค. 64 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือน มิ.ย. 64 ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือนในรอบ 15 เดือน และได้ช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อซึ่งอาจจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มปรับลดนโยบายผ่อนคลายเป็นพิเศษลงเร็วกว่าคาด

ในส่วนของตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ในเดือนนี้ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ Goldman Sachs ยังได้ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนี STOXX 600 ในรอบ 12 เดือนสู่ระดับ 520 จาก 480 โดยปรับตัวขึ้นตามหุ้นกลุ่มธนาคาร, พลังงาน และทรัพยากรพื้นฐาน ทั้งนี้ Momentum ขาขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป ปรับตัวลดลง 3.3% และ 10.0% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง +0.90% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 37.00% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง -0.20% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 31.50% อย่างไรก็ดีนักลงทุนยังคงต้องจับตาการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค. 64 เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดด้วย

จะกลับมาได้ยากขึ้นหากหลุดแนวรับสำคัญ 1,515 จุด ! ในภาพใหญ่พบว่าตลาดหุ้นเอเชียยังคงมีแนวโน้มที่มีผลงาน หรือ Performance ที่แย่กว่าตลาดหุ้นโลกโดยเฉลี่ย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป โดยมีปัจจัยลบหลักจากทิศทางของตลาดหุ้นจีน หลังจากที่ Goldman Sachs ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนในปีนี้ จากเดิมที่คาด +8.6% เป็น +8.3% รวมถึงปรับลดคาดการณ์ GDP ใน 3Q64 จากเดิมคาด +5.8% เหลือ +2.3% และปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP 4Q64 เป็น +8.5% จากเดิม +5.8%

นอกจากนี้ตลาดหุ้นจีนยังถูกดดันจากการที่รัฐบาลจีนได้ออกแผนการพัฒนาธุรกิจระยะเวลา 5 ปีมาใหม่ (Five-Year Blueprint) ซึ่งหนึ่งในประเด็นหลักคือการจัดเตรียมการจัดระเบียบด้านความมั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศใหม่ ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยยังส่งสัญญาณถึงความเปราะบาง และในภาพรวมยังคงไม่แน่นอนสูง หลังผู้ติดเชื้อรายวันล่าสุดกลับมาทำพุ่งทำ New High อีกครั้ง

รวมถึงยังมีประเด็นกดดันจากการชุมนุมการเมืองช่วงนี้ถี่ขึ้น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความไม่แน่นอน และยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึงวันที่ 7 ก.ย.64 โดยเชื่อว่าหากไม่มีการล็อกดาวน์จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงถึง 6-7 หมื่นรายต่อวัน รวมไปถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นมากด้วยเช่นกัน

ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังคงไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามาภายใต้การบริหารสถานการณ์โควิด และเศรษฐกิจของรัฐบาล ในทางเทคนิคของตลาดหุ้นไทย SET Index จำเป็นที่ต้องยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วัน บริเวณ 1,515 จุดให้ได้ เพื่อไม่ให้ตลาดหุ้นไทยในระยะกลางกลับสู่แนวโน้มขาลง ขณะที่ในด้านของ Potential Upside Gain บริเวณเส้นค่าเฉลี่ย EMA 75 วัน หรือ 1,560 จุดจะเป็นแนวต้านที่สำคัญที่ SET Index ผ่านขึ้นไปได้ยากด้วย แต่ถ้ากลับขึ้นไปยืนเหนือเส้นคาเฉลี่ย EMA 75 วัน หรือ 1,560 จุด จะเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้มในระยะไม่เกิน 3 เดือนจากลงเป็นขึ้นทันทีเช่นกัน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) “ซื้อเก็งกำไร” เมื่อ SET ปิดเหนือ 1,560 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,515 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)



Source: Wealth Hunters Club

14 views

Comments


bottom of page