top of page

นักลงทุนรับรู้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องแล้ว ?


หลายปัจจัยหนุนทิศทางดอกเบี้ย !

โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่เคยคาดไว้ โดยอาจไปได้ถึง 0.50% ในเดือน มี.ค. 65 ยังคงเป็นปัจจัยกดดันหลักของตลาดหุ้นสหรัฐ ในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลก หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาด และการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ได้อีกมาก" โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน โดยที่ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 27% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน มี.ค. 65 จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 14% ขณะที่นักลงทุนลดคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน มี.ค. 65 มีน้ำหนัก 73% ลดลงจากเดิมที่ให้น้ำหนัก 86%

ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกาออกรายงานคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ซึ่งหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่แบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ ก็จะหมายความว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของนักลงทุนดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งเหนือระดับ 1.9% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 63

ทั้งนี้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน ซึ่งความเชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจะยังคงมีอยู่ต่อไปหลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 467,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. 65 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง และตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.2% ขณะที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% โดยที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ เมื่อประกอบกับการที่สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พุ่งขึ้นทะลุระดับ 92 ดอลลาร์ แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีไปแล้ว โดยได้แรงหนุนจากวิกฤตการณ์ในยูเครน และการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วันในเดือน มี.ค. 65 แม้ถูกกดดันจากสหรัฐและประเทศพันธมิตรที่ต้องการให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตน้ำมันมากกว่านี้เพื่อสกัดราคาน้ำมันที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี

ขณะที่โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนลีย์ และเจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งแตะ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้ ท่ามกลางภาวะน้ำมันตึงตัว และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาด ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง และเพิ่มโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องตามที่นักลงทุนในตลาดคาด

ลุ้นทบทวนมาตรการโควิทเรียกความเชื่อมั่น ! อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าในระยะสั้นนักลงทุนในตลาดหุ้นโลก จะรับรู้ประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่เคยคาดไว้ โดยอาจไปได้ถึง 0.50% ในเดือน มี.ค. 65 และอาจจะปรับขึ้นต่อเนื่อง 7 ครั้งในปีนี้ไปแล้ว รวมทั้งการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ต.ค. 65 ไปแล้ว โดยล่าสุด นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการแถลงข่าวหลังการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของ ECB เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 65 โดยนางลาการ์ดกล่าวยอมรับว่า เงินเฟ้อได้พุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ และความเสี่ยงของแนวโน้มเงินเฟ้อยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะในระยะใกล้ โดยที่ ECB จะทำการประเมินสถานการณ์อย่างระมัดระวัง หลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.1% ในเดือน ม.ค. 65 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตทเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าว จากระดับ 5.0% ในเดือน ธ.ค. 65 ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในเดือน ก.ย. 65 และ ธ.ค. 65 และคาดว่า ECB จะตัดสินใจในเดือน มี.ค. 65 ว่าจะยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ภายในเดือน มิ.ย. 65 หรือไม่

อย่างไรก็ดีข้อดีคือทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ย และลดขนาดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศยักษ์ใหญ่ทุกประเทศ สะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุดนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาระบุว่า BOJ ต้องคงนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อย่างชัดเจน เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างล่าช้า โดยปฏิเสธการคาดการณ์ว่า BOJ อาจดำเนินการตามแนวทางเชิงรุกมากยิ่งขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในส่วนของตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับปัจจัยหนุนจากความเป็นไปได้ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ชุดใหญ่จะมีการพิจารณาทบทวนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงมาตรการผ่อนคลายเพื่อขับเคลื่อนกิจการกิจกรรมต่างๆ ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในลักษณะแบบนี้จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจแน่นอน สะท้อนออกมาจากตัวอย่างของประเทศออสเตรเลีย ที่ยอดค้าปลีกออสเตรเลียทะยานขึ้น 8.2% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 4 ปี 2564 โดยได้รับแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด-19 และยอดการช็อปปิ้งในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ซึ่งช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง

กลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,630 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,630 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club



16 views

Comments


bottom of page