ความผันผวนจากปัญหายูเครน !
ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงมีความผันผวนสูงมากๆ นะครับ บนความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นไปอีก หลังสหรัฐและชาติตะวันตกประกาศตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT ขณะที่สหรัฐประกาศอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียในสหรัฐ และห้ามชาวอเมริกันทำธุรกรรมกับธนาคารกลางรัสเซีย สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท พุ่งขึ้นเหนือระดับ 30
นอกจากนี้นักลงทุนในตลาดยังคงจับตาท่าทีของ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่มีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรส โดยอาจเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินต่อสาธารณะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค. 65 ซึ่งคาดว่าการแถลงนโยบายการเงินดังกล่าวจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในปีนี้ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะภาคแรงงานยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง
ท่าทีดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าวิกฤตการณ์ในยูเครนจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดหรือไม่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดบางรายระบุว่า เฟดจะนำผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งในยูเครนเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณานโยบายการเงินของเฟด ในภาวะที่ค่อนข้างชัดเจนว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน กำลังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของโลก และสหรัฐมีแนวโน้มที่ทรงตัวในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พุ่งขึ้นกว่าทะลุ 95 ดอลลาร์/บาร์เรลไปแล้ว เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการที่สหรัฐและชาติตะวันตกคว่ำบาตรธนาคารรัสเซียจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกพลังงานไปสู่ตลาด
ทั้งนี้แม้ว่าการเจรจาโดยตรงระหว่างคณะผู้แทนของรัสเซียและยูเครนเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศในรอบแรกได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมออกมา และยังคงไม่สามารถคาดการณ์จุดสิ้นสุดของความขัดแย้งในครั้งนี้ได้ เนื่องจากเป็นเพียงแค่การเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้รับฟังความกังวลของแต่ละฝ่าย และได้พบบางประเด็นที่จะสามารถสานต่อการเจรจาเพื่อให้มีความคืบหน้าต่อไปเท่านั้น
ขณะที่การเจรจารอบในต่อไปจะมีขึ้นอีกครั้งที่ชายแดนเบลารุสและโปแลนด์ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นความเสี่ยงที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะขยายวงมากขึ้นยังคงเปิดกว้าง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมากด้านการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อท่าทีล่าสุดของยูเครนคือการยืนยันว่าจะไม่มีทางยอมจำนนต่อรัสเซีย ในทางตรงกันข้ามล่าสุดประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ได้ลงนามในเอกสารเพื่อยื่นขอสมาชิกภาพของยูเครนในสหภาพยุโรป หรือ EU เรียบร้อยแล้ว ภายใต้สถานการณ์ที่ล่าสุด EU เพิ่งตัดสินใจคว่ำบาตรกลุ่มบุคคลสำคัญของรัสเซียทั้งหมด 26 ราย โทษฐานที่รัสเซียยกพลรุกรานยูเครน โดยหนึ่งในนั้นคือนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย โดยกลุ่มผู้บุคคลที่ถูก EU คว่ำบาตรระลอกล่าสุดรวมถึงเหล่าผู้มีอำนาจและนักธุรกิจในแวดวงน้ำมัน, ธนาคารและการเงิน ตลอดจนสมาชิกรัฐบาล และทหารระดับสูง ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ประกอบด้วยการสั่งห้ามเดินทาง, การอายัดทรัพย์สิน และการห้ามจัดหาเงินทุนให้กับกลุ่มบุคคลดังกล่าว
ความเชื่อมั่นนักลงทุนตกต่ำ ! ความตึงเครียดที่เกิดจากสถานการณ์ยูเครนกับรัสเซียมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังสหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซีย เพื่อตอบโต้ต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน ส่งผลให้รัฐบาลรัสเซียตอบโต้โดยการประกาศห้ามสายการบินจาก 36 ประเทศใช้น่านฟ้าของรัสเซีย เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อชาติตะวันตกที่ได้คว่ำบาตรรัสเซียก่อนหน้านี้ หลังกองกำลังรัสเซียบุกโจมตียูเครน ทั้งนี้สายการบินจากอังกฤษ เยอรมนี สเปน อิตาลี และแคนาดา อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกห้ามใช้น่านฟ้าของรัสเซีย ขณะที่ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินฮริฟเนียยูเครน (Ukrainian Hryvnia) ของยูเครนลงสู่ B- จากอันดับ B โดยระบุถึงความเสี่ยงที่การบุกโจมตีของรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของยูเครน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของยูเครนลง 3 ขั้นสู่อันดับขยะ หรือ Junk และมูดี้ส์ได้ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของยูเครนโดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง นอกจากนี้ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค. 65 และลดน้ำหนักที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน มี.ค. 65 เหลือเพียง 10% เท่านั้น
ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ที่แม้จะเพิ่มขึ้น 4.20% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 23.40% แต่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish เพิ่มขึ้นมากกว่าถึง 10.50% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 53.70% ซึ่งสุดในรอบ 9 ปี
อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทยในเชิงเทคนิคตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,655 จุด) อีกครั้ง แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาขึ้นจะยังคงอยู่ แต่ถ้าปิดต่ำกว่า 1,657 จุดลงมา การลงทุนระยะ 3 เดือนค่อยลดพอร์ตออกมาว่ากันใหม่ ส่วนการลงทุนระยะ 1 ปี ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 200 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,612 จุด) ได้ ยังไม่มีอะไรน่ากังวล
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,630 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,630 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
Comentarios