top of page

สถานการณ์รัสเซียและการขึ้นดอกเบี้ยเฟด...น่ากังวล


รัสเซียยังเป็นปัจจัยเสี่ยง!

บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง 1.29% นำมาโดยตลาดหุ้นสหรัฐ และญี่ปุ่นที่ปรับตัวลดลง 2.64% และ 2.27% ตามลำดับ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความคืบหน้าจากผลการเจรจาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่มีการพูดถึงการพบกันของสองผู้นำ ระหว่าง วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ในเร็วๆ นี้ก็ตาม แต่กระนั้นกองกำลังทหารรัสเซียยังเดินหน้ายึดพื้นที่ฝั่งตะวันออกของดอนบาสอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) มีมติถอดถอนรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแล้ว และได้ระบุว่า การที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบ ซึ่งรัสเซียเองได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อการที่ถูกขับออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาชาติพันธมิตรได้ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการสร้างแรงกดดันให้แก่ตลาดเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐได้เพิ่มการคว่ำบาตรรัสเซียโดยแบนการลงทุนใหม่ทั้งหมดในรัสเซีย รวมถึงคว่ำบาตรธนาคารสเบอร์แบงก์ (Sberbank) และอัลฟา แบงก์ (Alfa Bank) สองสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย นอกจากนี้ ประธานคณะมนตรียุโรป หรือ EU ได้ออกมากล่าวว่า EU จำเป็นต้องแบนน้ำมัน-ก๊าซรัสเซียไม่ช้าก็เร็ว เนื่องจากรัสเซียกวาดรายได้จากส่วนนี้หลายพันล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ถึงแม้ EU ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นอย่างมาก จากสถิติย้อนหลัง EU นำเข้าก๊าซราว 40% และน้ำมันราว 37% ของปริมาณทั้งหมดจากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรด้านพลังงานจากรัสเซียในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นผล

ล่าสุดรองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวว่า การผลิตน้ำมันของรัสเซียอาจลดลง 4-5% ในเดือน เม.ย. นี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐและพันธมิตร ซึ่งในขณะนี้ผู้ส่งออกน้ำมันของรัสเซียกำลังเผชิญปัญหาการผลิตน้ำมันลดลงราว 4% ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยปรับตัวลงต่อเนื่องจากเดือน มี.ค. 2565 ที่ระดับเฉลี่ย 11.01 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงสู่ระดับ 10.52 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 1-6 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียได้กล่าวว่า ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังรัสเซียกำลังหารือกันเกี่ยวกับการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปยังจีน โดยให้จีนชำระเป็นสกุลเงินหยวน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แม้ว่าก่อนหน้านี้ ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ลงนามในกฤษฎีกา ซึ่งระบุว่าต่างชาติที่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะต้องชำระเงินเป็นสกุลรูเบิลเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 และสัญญาการซื้อก๊าซจะถูกระงับ หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็ตาม

กลับมากลัวเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรงอีก ! ธนาคารกลางรัสเซียได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนในตลาด โดยประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 3% สู่ระดับ 17% ในการประชุมวันที่ 8 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยแถลงการณ์ได้ระบุว่า "การตัดสินใจนี้เป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงดุลความเสี่ยงในการขยายตัวของดัชนีราคาผู้บริโภค, การปรับตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน" แม้ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางรัสเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 20% ในการประชุมเดือน มี.ค. 2565 หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 9.5% สู่ระดับ 20% ในการประชุมวันที่ 28 ก.พ. 2565 เพื่อรักษาเสถียรภาพของรูเบิลหลังจากทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

สถานการณ์ดอกเบี้ยรัสเซียสวนทางกับฝั่งของสหรัฐ ที่นักลงทุนตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากความกังวลที่ว่า เฟดอาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 73.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. 2565 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน มี.ค. 2565 นอกจากนี้ ในวันที่ 7 เม.ย. 2565 ได้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟด ประจำเดือน มี.ค. 2565 โดยระบุว่า กรรมการเฟดเห็นพ้องที่จะปรับลดขนาดของงบดุลและเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งเฟดจะปรับลดขนาดงบดุลลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะเริ่มเร็วที่สุดในการประชุมเดือน พ.ค. 2565 นี้

ทั้งนี้ในรายงานการประชุมดังกล่าวยังระบุว่า กรรมการเฟดหลายคนยังคงสนับสนุนให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวนหนึ่งหรือสองครั้งในการประชุมครั้งถัดไป หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีกรรมการเฟดอีกหลายคนมองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงไม่แน่นอน จึงควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุม พ.ค. 2565 นี้ ซึ่งสอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่ Dot Plot สะท้อนว่าเฟดจะขึ้นดอกอีก 6 ครั้งครั้งละ 0.25% โดยที่ล่าสุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 2.70% แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งออกมาเพิ่มเติม เช่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.8 ในเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค.2564 และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 58.5 จากระดับ 57.3 ในเดือน ก.พ. 2565 โดยดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว

ดัชนี Core PCE เพิ่มขึ้น 5.4% ในเดือน ก.พ. 2565 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2526 ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 166,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 53 ปี นับตั้งแต่เดือน พ.ย.2511 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 200,000 ราย สำหรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. 2565 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% ตอกย้ำความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานจากการชะลอตัวของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ถึงการเริ่มกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,667 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,667 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

13 views

Comments


bottom of page