top of page
379208.jpg

เงินบาทอ่อนค่า-กระตุ้นต่างชาติขาย


กลัวว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยน้อยไป !

แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาลงนะครับ...สัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง 5.35% และทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% แต่กลายเป็นว่านักลงทุนกลับมากังวลมากขึ้นว่าการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงแค่ 0.50% อาจไม่มากพอที่จะสกัดเงินเฟ้อ หลังจากที่สหรัฐประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 65 ออกมาที่ 8.3% YoY มากกว่าที่ตลาดคาดที่ 8.1% YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้นอีก 0.6% MoM ส่งผลให้ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ของสหรัฐปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 และนับตั้งแต่ปี 2554 ตามลำดับ ส่วนดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งเป็นการปรับตัวลงยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2523 เช่นกัน

ขณะที่วุฒิสภาสหรัฐลงมติให้ นายเจอโรม พาวเวล ดำรงตำแหน่งประธานเฟดเป็นสมัยที่ 2 ทั้งนี้ นายพาวเวลมีภารกิจสำคัญที่ต้องสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐประสบภาวะถดถอย หลังจากหดตัวลง 1.4% ในไตรมาส 1/2565 ซึ่งนายพาวเวลยอมรับว่า เขาไม่สามารถให้การรับประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ Soft Landing หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group ระบุว่าขณะนี้ตลาดให้น้ำหนัก 100% ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือน มิ.ย. 65 และ ก.ค. 65 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 1,000 ราย สู่ระดับ 203,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

สถานการณ์ของอัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นนี้ นอกจากจะเกิดขึ้น และน่ากังวลไม่เฉพาะในฝั่งของสหรัฐเท่านั้น ยังน่ากังวลในฝั่งของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ด้วย โดยล่าสุดจีนเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อ CPI เดือน เม.ย. 65 เพิ่มขึ้น 2.1% และ PPI เพิ่ม 8.0% สูงกว่าคาดการณ์ที่ 1.9% และ 7.7% ตามลำดับ จากระบบโลจิสติกส์ของจีนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลกรุงปักกิ่งจะได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับการล็อกดาวน์ โดยยืนยันว่าจะยังไม่มีการล็อกดาวน์ปักกิ่งในขณะนี้ และเตือนให้ประชาชนอย่าเพิ่งเร่งกักตุนอาหาร หลังจากที่คนจำนวนมากแห่ไปที่ร้านค้า เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่ากรุงปักกิ่งจะยกระดับการใช้มาตรการควบคุมโควิด

ตลาดหุ้นไทยไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ! ในส่วนของ Momentum ของตลาดหุ้นโลกที่ยังคงเป็นขาลง ได้รับการสนับสนุนจากทิศทางของดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ และฮ่องกง ที่เพิ่มขึ้น 1.83% และ 2.94% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 24.3% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ที่ 49.0% แม้ว่าล่าสุดราคาน้ำมันดิบโลก WTI จะปรับตัวลดลง 2.63% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้ โดยคาดว่า GDP โลกมีแนวโน้มขยายตัว 3.5% ในปี 2565 ปรับลดลงจาก 3.9% ที่ OPEC คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนที่แล้ว

อีกทั้งยังคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเพียง 3.4 ล้านบาร์เรล/วัน เมื่อเทียบรายปี ลดลง 300,00 บาร์เรล/วันจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนที่แล้ว ซึ่ง OPEC ให้เหตุผลว่าเกิดจากที่หลายประเทศใช้มาตรการที่เข้มงวดในการสกัดโรคโควิด-19 รวมทั้งความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ในส่วนของตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติในระยะต่อไป หลังค่าเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีที่ 34.79 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์ขยับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยที่ดัชนี US Dollar Index ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 19 ปี

ขณะที่ในด้านของการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาเป็นปัจจัยบวกกับตลาดหุ้นไทยได้ โดยล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ออกมาปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth ของไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.5-4.0% จาก 2.5-4.5% และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 5.5% จากเดิม 2-3% แต่ยังคงคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ในกรอบ 3-5%

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,664 จุดได้ เน้น “Wait-and-See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

14 views

Comments


bottom of page