ยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยง !
ตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงนะครับ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกยังคงปรับตัวลดลง โดยได้รับปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยืนยันว่าเฟดไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าที่จำเป็น เพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งขึ้นรุนแรงจนสร้างความเสียหายต่อรากฐานของเศรษฐกิจ ขณะที่ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงแรงสุดในรอบ 2 ปี หลังหุ้นกลุ่มค้าปลีกสหรัฐ ประกาศผลการดำเนินงานออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด เนื่องจากถูกกดดันจากต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ
ในด้านของแนวโน้มทางเศรษฐกิจ Conference Board เผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจปรับตัวลง 0.3% ในเดือน เม.ย. 65 นอกจากนี้ Conference Board ยังได้ปรับลด GDP สหรัฐในปีนี้สู่ระดับ 2.3% เนื่องจากถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ อันเนื่องจากราคาพลังงาน, อาหาร และโลหะที่พุ่งขึ้นจากสงครามในยูเครน รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 21,000 ราย สู่ระดับ 218,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ราย สอดคล้องกับที่เฟดฟิลาเดลเฟียเผย ดัชนีภาคการผลิตดิ่งลงสู่ระดับ 2.6 ในเดือน พ.ค. 65 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ระดับ 16.0 และลดลงจากระดับ 17.6 ในเดือน เม.ย. 65 หลังได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของการจ้างงาน
สอดคล้องกับสำนักวิจัยต่างๆ ที่ยังคงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า มีโอกาส 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่เวลส์ฟาร์โกคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อยในช่วงสิ้นปี 2565 จนถึงต้นปี 2566 ขณะเดียวกัน JP Morgan หั่นคาดการณ์ GDP สหรัฐช่วงครึ่งปีหลังปี 2565 ลงเหลือ 2.4% (จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3%) และทั้งปี 2566 ลงเหลือ 1.5% (จากเดิมที่ 2.1%) รวมทั้งยังได้ปรับลดคาดการณ์ GDP สหรัฐในช่วง 2H23 จาก 1.4% เหลือ 1% ด้วย
ในแง่ของ Asset Allocation ผลสำรวจของแบงก์ ออฟ อเมริกา บ่งชี้ว่า นักลงทุนเลือกที่จะถือเงินสดมากกว่าที่จะนำไปลงทุนท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะ Stagflation โดยพบว่านักลงทุนถือครองเงินสดที่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง -1.7% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 26.0% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง +1.4% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 50.4%
การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น ! นอกจากแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐจะเปราะบางมากๆ แล้ว ในประเทศสำคัญๆ อื่นก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน ในฝั่งของยุโรป ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยตัวเลข CPI ของอังกฤษพุ่งแตะระดับ 9%YoY ต่ำ ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้วิกฤตค่าครองชีพของอังกฤษทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้านฝั่งจีน ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนในเดือน เม.ย. 65 ลดลง 11.1% จากปีก่อน แตะ 2.95 ล้านล้านหยวน ส่วนยอดค้าปลีกในช่วง 4 เดือนแรก ลดลง 0.2% จากปีก่อน
ขณะที่โกลด์แมนแซคส์หั่นคาดการณ์ GDP จีนปีนี้เหลือ 4% และคาดว่าตัวเลข GDP จีนในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 0.25% สู่ระดับ 5.3% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 5% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ 5.5% ทั้งนี้ การปรับลดคาดการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากข้อมูลทางเศรษฐกิจในเดือน เม.ย. 65 ของจีน บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างหนัก เนื่องจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจ อย่างไรก็ดีจีนมีปัจจัยบวกขึ้นมาบ้าง จากการที่ทางการเซี่ยงไฮ้ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยจะอนุญาตให้ซูเปอร์มาร์เก็ตห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร และร้านทำผม เริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 65 และผู้ให้บริการรถไฟของจีนจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนเที่ยวรถไฟทั้งขาเข้าและขาออกจากเซี่ยงไฮ้ พร้อมทั้งสายการบินต่างๆ จะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศ นอกจากนี้ จะให้บริการรถประจำทางจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 65 ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.85% แม้เศรษฐกิจชะลอตัว และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน ที่ระดับ 2.85% เช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางจีนพยายามหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีนี้ และใช้เครื่องมือใหม่ๆ เช่นการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจเป็นรายภาคส่วนแทน เนื่องจากการลด RRR แทนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะช่วยให้จีนมีพื้นที่ในการรับมือกับการที่เฟดปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยเมื่อเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นั้น จะทำให้ค่าสเปรดอัตราดอกเบี้ยของจีนและสหรัฐปรับแคบลง ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินเก็งกำไร (Hot Money) ไหลออกจากประเทศจีน
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,664 จุด เน้น “Wait-and-See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
Comments