กังวลเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจชะลอตัว !
แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นยังคงอยู่ในขาลง โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง 3.09% เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี รวมถึงธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐเปิดเผยผลประกอบการที่ลดลง แม้ว่าในช่วงปลายสัปดาห์ตลาดหุ้นสหรัฐจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นบ้าง หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกดีดปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. 65 เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดออกมาสูงกว่านักลงทุนคาดการณ์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้แนวโน้มหลักขาลงหายไปได้
โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.75% หรืออาจถึง 1% ในการประชุมเดือนนี้ หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 9.1% ในเดือนมิ.ย. 65 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าระดับ 8.6% ในเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 8.8% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 5.9% ในเดือน มิ.ย. 65 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแม้ว่าชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่พุ่งขึ้น 6.0% แต่ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.8%
อย่างไรก็ดี ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์, สาขาคลีฟแลนด์ และสาขาซานฟรานซิสโก มีความเห็นที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 โดยเฉพาะหลังจากที่เฟดสาขานิวยอร์ก เปิดเผยผลสำรวจ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐใน 1 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้น 6.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือน มิ.ย. 56 และตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 3 ปีข้างหน้าปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% จากเดิมที่ระดับ 3.9%
ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปีข้างหน้าปรับตัวลงสู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 2.9% ในภาวะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐในปี 2565 ลงเหลือ 2.3% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.9% หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีก ลดลง 0.3% ในเดือน พ.ค. 65 เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.2%
ทั้งนี้ ยังได้ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2566 ลงเหลือ 1% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 1.7% ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ประกาศออกมาในช่วงหลัง ทำให้นักลงทุนกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยที่ล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 9,000 ราย สู่ระดับ 244,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 64 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 234,000 ราย
ต่ำกว่า 1,600 จุด ตลาดหุ้นไทยยังเป็นขาลง !ขณะที่ในความเสี่ยงการลงทุนในภาพรวม นอกจากจะมาจากฝั่งสหรัฐแล้ว ในภูมิภาคอื่นๆ ก็มีปัญหามากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป ที่ได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อ และการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซน โดยที่ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ประกาศปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนจะโต 2.6% ในปีนี้ ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยคาดไว้ว่าจะโต 2.7% แต่ในปีหน้าโต 1.4% จากที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 2.3% เนื่องจากผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และราคาพลังงานที่สูงขึ้นทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ยังคงอยู่ที่ 2.7% ไม่เปลี่ยนแปลงในปีนี้ แต่ปรับลดลงเหลือ 1.5% ในปี 2566 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.3%
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนจะอยู่ที่ระดับสูงถึง 7.6% ในปีนี้ ก่อนที่จะลดลงเหลือ 4% ในปี 2023 ขณะที่ด้านของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก พร้อมกับเตือนว่า การจัดหาก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปที่หยุดชะงัก อาจทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทย นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับตัวเลขเงินเฟ้อภายในประเทศที่สูงกว่าตลาดคาดการณ์ รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ขณะนี้จะยังคงปล่อยให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกของตลาดเป็นหลัก และอยู่ในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นทั่วโลก ซึ่งแม้จะอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ โดยนโยบายการเงินขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ และเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้การดำเนินนโยบายการเงินจะให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน ธนาคาร รวมถึงค้าปลีก อย่างไรก็ดีหุ้นไทยยังได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มสื่อสาร โรงพยาบาล และโรงไฟฟ้า ขณะที่ในเชิงกลยุทธ์ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,600 จุด) ได้ แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาลงจะยังคงอยู่ และการดีดตัวช่วงสั้นให้มองเป็นแค่ Technical Rebound ไปก่อน
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์)กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,624 จุดได้ เน้น “Wait-and-See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
Comments