ประเด็นดอกเบี้ยกลับมาอีก !
แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้น กลับมาถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐอีกครั้ง หลังจากที่ล่าสุดสหรัฐประกาศดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.4% ในเดือน ม.ค. 65 เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือน ธ.ค. 65 ขณะที่เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน ม.ค. 66 และสูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือน ธ.ค. 65 สอดคล้องกับดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือน ม.ค. 66 เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% ขณะที่เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี Core PCE ปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือน ม.ค. 66 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) นอกจากนี้ทิศทางของดัชนี PCE ล่าสุด ส่งผลให้ความกังวลว่าเงินเฟ้อสหรัฐยังไม่ผ่านจุดสูงสุดมีน้ำหนักขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐเพิ่งจะประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ออกมาสูงกว่าคาดเช่นกัน
นอกจากนี้นักลงทุนในตลาดก็เริ่มให้น้ำหนักมากขึ้นชัดเจนว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% ในเดือน มิ.ย. 66 และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวตลอดทั้งปีนี้ โดยไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จากเดิมที่นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือน ธ.ค. 66 ทั้งนี้ความกังวลเกี่ยวกับประเด็นว่าเงินเฟ้อสหรัฐยังไม่ผ่านจุดสูงสุด ได้รับการสนับสนุนจากตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้น 1.8% ในเดือน ม.ค. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.3% หลังจากลดลง 0.1% ในเดือน ธ.ค. 65 ขณะที่ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ปรับตัวขึ้น 7.2% สู่ระดับ 670,000 ยูนิตในเดือน ม.ค. 66 เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 620,000 ยูนิต จากระดับ 625,000 ยูนิตในเดือน ธ.ค. 65 สอดคล้องกับแนวโน้มของอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น จากตัวเลขรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน ม.ค. 66 และอัตราการออมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.7% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 4.5% ในเดือน ธ.ค. 65 และดูเหมือน Momentum ของอำนาจซื้อและการบริโภคของสหรัฐจะยังคงมีอยู่ สะท้อนออกมาจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 67.0 ในเดือน ก.พ. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 65 โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 66.4 จากระดับ 64.9 ในเดือน ม.ค. 66
ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนยังระบุอีกว่าผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.1% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สูงกว่าระดับ 3.9% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว ทั้งนี้สถานการณ์ความกังวลเกี่ยวกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยที่ล่าสุด คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงต้องเฝ้าระวังจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ภายใต้การควบคุมได้อย่างมีเสถียรภาพ และยังไม่ควรลดความระมัดระวัง เนื่องจากเสถียรภาพด้านราคาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนและผู้บริโภคที่จะสามารถทำการใช้จ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
พื้นฐานอ่อนแอกดดันตลาดหุ้นไทย Outperform ยาก ! ความกังวลเกี่ยวกับทิศทางของดอกเบี้ยของสหรัฐ ได้รับการสนับสนุนอีกจากการที่โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในปี 2566 สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% หลังจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สหรัฐประจำไตรมาส 4 ของปี 2565 ขยายตัว 2.7% ซึ่งแม้ว่าต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่มีการขยายตัว 2.9% แต่ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือน ก.พ. 66 ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 50.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากระดับ 46.8 ในเดือน ม.ค. 66 โดยดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัว ทั้งนี้ Momentum ที่เป็นลบของตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นโลกสะท้อนออกมาจากทิศทางของดัชนี VIX Index ที่มีความสัมพันธ์ทางสถิติเป็นลบกับตลาดหุ้น โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงเปลี่ยนแปลง +4.81%, +12.10% และ +9.08% สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง -12.50% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 21.60% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง +9.80% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 38.60%
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ยังคงมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือ Outperform ตลาดหุ้นโลกน้อยมาก เนื่องจากถูกกดดันจากปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอ โดยที่ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 ขยายตัว 2.6% จากเดิมที่คาดโต 3.2% หลังผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 ของปี 2565 ขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 ของปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 4.6% และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2565 ปรับตัวลดลง 1.5% เมื่อเทียบรายไตรมาส จากไตรมาส 3 ของปี 2565 ขณะที่ภาคส่งออกหดตัวถึง 10.5% ในไตรมาส 4 ของปี 2565 ซึ่งโดยเฉลี่ยภาคส่งออกมีสัดส่วนคิดเป็น 50-60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่งผลทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวได้แค่ 2.6% ค่อนข้างคลาดเคลื่อนไปจากประมาณการเดิมค่อนข้างมากที่ 3.2% สาเหตุเพราะภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงค่อนข้างเร็วกว่าที่คาดไว้
สำหรับประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2566 ของไทยคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 2.7-3.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 3.2% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดขยายตัวในกรอบ 3-4% โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์จะหดตัว 1.6% โดยราคาส่งออกน่าจะหดตัว (-1.5% ถึง -0.5%) ตามปริมาณการค้าโลกชะลอลงจาก 4.1% ในปี 2565 เหลือแค่ 2% ในปี 2566 และการอุปโภคภาครัฐบาลหดตัว 1.5%
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,634 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: TradingView
留言