ตลาดหุ้นโลกเข้าสู่แนวโน้มพักตัว !
ทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐกดดันให้ตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มของการพักฐานในระยะสั้นต่อเนื่อง หลังจากที่นักลงทุนกลับมาเพิ่มน้ำหนักในการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี 2566 ในการประชุมเดือน พ.ย. 66 หรือ ธ.ค. 66 ซึ่งเป็นการประชุมนโยบายการเงิน 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 34.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% ในการประชุมเดือน พ.ย. 66 หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 16.4% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักลงทุนให้น้ำหนัก 40.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% ในการประชุมเดือน ธ.ค. 66 หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 33.5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้นเกือบ 700,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.61 ล้านตำแหน่งในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 66 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.8 ล้านตำแหน่ง
ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งมุมมองของนักลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟด สาขาคลีฟแลนด์ ที่ระบุว่า เฟดอาจจะยังไม่สามารถยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูงเกินไป แม้มีสัญญาณหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง แต่เงินเฟ้อยังคงมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจ สะท้อนออกมาจากการที่เฟด สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.9% ในไตรมาส 3 หลังจากมีการขยายตัว 2.0% และ 2.1% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ แต่ประเด็นสำคัญคือการขยายตัวที่แข็งแกร่งยังคงกระจุกตัวอยู่แต่ในเฉพาะภาคการบริโภคเป็นหลัก สะท้อนออกมาจากผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่แม้ว่าจะปรับตัวลงสู่ระดับ 68.1 ในเดือน ก.ย. 66 แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.7 จากระดับ 69.5 ในเดือน ส.ค. 66 สอดคล้องกับการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ส.ค. 66 และรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ส.ค. 66 สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่เศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะในภาคการผลิดที่ล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐในเดือน ก.ย. 66 ที่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยหดตัวเป็นเดือนที่ 10 ในรอบ 11 เดือน ซึ่งดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่ สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐในเดือน ก.ย. 66 ที่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 เช่นกัน และเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11
จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 3.5% WoW มาอยู่ที่ 27.8% ต่ำที่สุดตั้งแต่ 25 พ.ค. 66 และเป็นสัปดาห์ที่ 6 ใน 7 สัปดาห์ล่าสุดสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 37.5% เทียบกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 6.3% มาอยู่ที่ 40.9% สูงที่สุดตั้งแต่ พ.ค. 66
แนวโน้มเศรษฐกิจกดดันตลาดหุ้นไทย ! ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางของยุโรปยังคงเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญของตลาดหุ้นโลก หลังกิจกรรมภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงหดตัวอย่างหนักและเผชิญภาวะขาลงแบบเป็นวงกว้างในเดือน ก.ย. 66 เนื่องจากอุปสงค์ยังคงหดตัวอย่างรุนแรงแบบต่อเนื่อง โดยที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน ก.ย. 66 ของยูโรโซน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 43.4 ในเดือน ก.ย. 66 จาก 43.5 ในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขประมาณการขั้นต้น และตัวเลขต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของเยอรมนีที่ 39.6 ในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขประมาณการขั้นต้นที่ 39.8 และยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งผลผลิตของเยอรมนีหดตัวในอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 ซึ่งเป็นช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของอังกฤษในเดือน ก.ย. 66 ที่ 44.3 ซึ่งต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 และยังคงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมอยู่ในภาวะหดตัว
ส่วนเงินเฟ้อในยูโรโซนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งบ่งชี้ว่า แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) นั้นประสบความสำเร็จในการสกัดเงินเฟ้อ แต่กำลังบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยที่ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของยูโรโซน ปรับตัวขึ้น 4.3% ในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 64 และลดลงจากระดับ 5.2% ในเดือน ส.ค. 66 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหาร พลังงาน แอลกอฮอล์ และยาสูบ ลดลงสู่ 4.5% ในเดือน ก.ย. 66 จาก 5.3% ในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 63
ขณะที่ในเอเชียยังคงมีเพียงญี่ปุ่นที่ยังคงสดใส โดยที่ล่าสุด Bloomberg Consensus ประเมินว่าดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับ 34,000 จุดในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยคาดว่าดัชนีนิกเกอิจะพุ่งขึ้นแตะระดับดังกล่าวในช่วงครึ่งหลังของปีงบการเงินที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 67 หรือมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีก 7% และจะสูงกว่าสถิติสูงสุดที่เคยทำไว้ที่ระดับ 33,772 จุดในเดือน มิ.ย. 66 นักวิเคราะห์ของบริษัทอินเวสโค คาดการณ์ว่า ในอีก 12 เดือนข้างหน้านี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะผงาดขึ้นเป็นตลาดที่ทำผลงานดีที่สุดในบรรดาตลาดหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่ทางด้านโกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2560 ที่นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากกว่าตลาดหุ้นจีน ขณะที่นักกลยุทธ์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า ในเดือน ก.ค. 66 กลุ่มผู้จัดการกองทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง แต่เพิ่มการถือครองหุ้นในตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ในส่วนของทิศทางของตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.4% ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.9% สอดคล้องกับในภาพรวมของเอเชีย ที่ World Bank คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัว 5% ในปี 2566 ลดลงจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือน เม.ย. 66 ว่าจะขยายตัว 5.1% ส่วนในปี 2567 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัว 4.5% ลดลงจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือน เม.ย. 66 ว่าจะขยายตัว 4.8%
ในทางเทคนิคถ้า SET จะยังคงรักษา Momentum ของการปรับตัวขึ้นในระยะสั้นต่อไปได้ จะต้องกลับมายืนเหนือ 1,520 จุดให้ได้อีกครั้ง
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,520 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา15.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: TradingView
Comments