ความเชื่อมั่นนักลงทุนตกต่ำ ! ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลง หรือ Sell-Off ในระยะสั้นชัดเจนนะครับ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกในภาพรวมยังคงปรับตัวลดลง 2.0% และในเดือน ต.ค. 66 ราว 4.5% และสถานการณ์จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ออกมาที่ 4.9% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขจากแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ของธนาคารกลางสหรัฐ สาขาแอตแลนตา ที่ 5.4% ขณะที่ Momentum ของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความเสี่ยงทั้งในภาคการผลิต และการบริโภค สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนีชี้วัดกิจกรรมในภาคการผลิตของรัฐเท็กซัสปรับตัวลงสู่ระดับ -19.2 ในเดือน ต.ค. 66 จากระดับ -18.1 ในเดือน ก.ย. 66 และขณะที่ในภาคการบริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับตัวลงสู่ระดับ 63.8 ในเดือน ต.ค. 66 จากระดับ 68.1 ในเดือน ก.ย. 66 สะท้อนว่าผู้บริโภคลดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดีภาคส่วนที่นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกมองว่าเป็นความเสี่ยงคือภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ โดยที่ล่าสุดจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองลดลง 1% ในสัปดาห์ที่แล้ว และจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง 2% ในสัปดาห์ที่แล้ว และดิ่งลง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเพื่อการจำนองแบบคงที่ระยะเวลา 30 ปี สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 726,200 ดอลลาร์ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 7.90% จากระดับ 7.70% ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ขณะที่ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. 66 อย่างไรก็ดีนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยังคงส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และย้ำว่าตลาดแรงงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องชะลอตัวลงเพื่อให้เฟดบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ ในภาวะที่ธนาคารโลกออกรายงานเตือนว่า สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางอาจจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันและทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยระบุว่า หากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกหายไปประมาณ 500,000 บาร์เรล-2 ล้านบาร์เรล/วัน และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นแตะระดับ 93-102 ดอลลาร์/บาร์เรล และหากสถานการณ์ตึงเครียดลุกลามเป็นวงกว้าง ก็จะทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกหายไปประมาณ 3-5 ล้านบาร์เรล/วัน และจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับสูงถึง 121 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดนั้น หากสถานการณ์ในตะวันออกกลางรุนแรงจนส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกหายไปเป็นจำนวนมากถึง 6-8 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงเทียบเท่ากับเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์คว่ำบาตรน้ำมันของชาติอาหรับในปี 1973 สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับ 157 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลให้ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลงถึง 4.8% WoW มาอยู่ที่ 29.3% และเป็นสัปดาห์ที่ 12 สัปดาห์ล่าสุดที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 37.5% เทียบกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้นถึง 8.6% มาอยู่ที่ 43.2% สูงที่สุดในรอบ 26 สัปดาห์
เศรษฐกิจยุโรปและเอเชียเปราะบางมาก ! นอกจากสหรัฐแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจของยุโรปและเอเชียก็ยังคงน่ากังวล โดยที่ในฝั่งยุโรปล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล ลดลงสู่ระดับ 46.5 ในเดือน ต.ค. 66 จากระดับ 47.2 ในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 63 ขณะที่ผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 47.4 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้น ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 32 เดือนที่ 47.8 ในเดือน ต.ค. 66 จาก 48.7 ในเดือน ก.ย. 66 และดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นปรับตัวลดลงแตะ 43.0 ในเดือน ต.ค. 66 จาก 43.4 ในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกันและต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 ซึ่งตัวเลข PMI ดังกล่าวสะท้อนว่า กิจกรรมทางธุรกิจของยูโรโซนปรับตัวลดลงต่อเนื่องในเดือน ต.ค. 66 และตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจของยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัวเนื่องจากอุปสงค์ปรับตัวลดลงแบบเป็นวงกว้างทั่วยูโรโซน ซึ่งบ่งชี้ว่ายูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงมีอยู่แน่นอน หลังเศรษฐกิจของเยอรมันที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซนยังเปราะบางมาก โดยที่ล่าสุดตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเยอรมันในไตรมาส 3 อยู่ที่ -0.1% เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งตัวเลข GDP ที่ปรับตัวลดลงใน Q3 เพิ่มความเสี่ยงที่เยอรมันจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำถึงความลำบากของเยอรมันในการฟื้นตัวจากระยะตกต่ำอันเนื่องมาจากวิกฤตพลังงานในฤดูหนาวที่แล้ว ตามมาด้วยความซบเซาหรือการขยายตัวเพียงเล็กน้อยในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา
ทั้งนี้เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในปีนี้ และแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวก็เป็นที่น่ากังขา โดยเฉพาะหลังจากที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลงสู่ระดับ -28.1 ในช่วงเข้าสู่เดือน พ.ย. 66 จากระดับ -26.7 ในเดือน ต.ค. 66 และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ -26.5 โดยที่การลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนี นั้นเป็นผลมาจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ซึ่งขจัดความหวังที่ว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ เนื่องจากภาคครัวเรือนยังคงเผชิญความยากลำบากจากอาหารที่มีราคาแพง ขณะที่ในฝั่งของเอเชียจีนยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยที่ล่าสุดดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ต.ค. 66 ของจีนปรับตัวลงสู่ระดับ 49.5 จากระดับ 50.2 ในเดือน ก.ย. 66 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจอยู่ที่ 50.2 โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว
ทั้งนี้การหดตัวลงอย่างเหนือความคาดหมายของดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนสะท้อนให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นยังคงไม่แน่นอน ขณะที่หลายภาคส่วนได้เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะแม้ว่านับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 66 ทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายรายการ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเล็กน้อย รวมทั้งอัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบ และใช้มาตรการกระตุ้นการคลังเชิงรุก แต่นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า จีนจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ระดับ 5% ต่อปี ขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคถ้า SET จะกลับมาสร้าง Momentum ของการปรับตัวขึ้นในระยะสั้นอีกครั้งได้ SET จะต้องกลับมายืนเหนือ 1,520 จุดให้ได้อีกครั้งก่อน
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,520 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: TradingView
Comments