top of page

ความเสี่ยงของไทยและภูมิภาค ทำให้ SET ดีดตัวอ่อนแรง


เศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ !

           

แนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญที่สุดของตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน โดยที่ล่าสุดแม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียสำหรับปี 2567 มาอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.3 จุดเปอร์เซ็นต์ จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อ 6 เดือนก่อน เนื่องจากยังคงมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียและมุ่งความสนใจไปที่ความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นมากขึ้นจากจีน ขณะที่คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียในปีหน้าไว้ดังเดิมที่ 4.3% โดย IMF มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปี 2567 ดูสดใสขึ้น โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคดังกล่าวจะชะลอตัวลงน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้ามกับไทย ที่ล่าสุด IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือขยายตัว 2.7% ซึ่งลดลง 0.5 จุดเปอร์เซ็นต์จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

           

IMF ระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลง เนื่องจากแนวโน้มการใช้มาตรการกระตุ้นด้านการคลังลดน้อยลง ส่วนในปี 2568 นั้น IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงเหลือ 2.90% ซึ่งลดลง 0.2 จุดเปอร์เซ็นต์จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 มาอยู่ที่ 2.4% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%) ลดลงจากประมาณการเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% เนื่องจากปัจจัยสำคัญ คือ การส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม

           

นอกจากนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว ซึ่งดูจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนภาคการเกษตร ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่มาจากสถานการณ์เอลนีโญ รวมถึงภาคการคลัง ที่ยังใช้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน จนถึงเกือบปลายเดือน เม.ย. 67 ทั้งนี้ในช่วงต่อจากนี้ สศค.ประเมินว่าเม็ดเงินจากงบประมาณปี 2567 จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเร่งขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 โดยงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่ 3.48 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 3.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 92.3% ส่วนงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่ 3.75 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 3.54 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 94.4%


ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน จะยังคงมีการขยายตัวที่ต่ำเพียง 3.5% และการส่งออกสินค้าจะขยายตัวแค่ 2.3% สอดคล้องกับการที่ สศค. เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 67 ว่ายังคงมีสัญญาณชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวสูง การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวจากเดือนก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือน มี.ค. 67 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 63.0 จากระดับ 63.8 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณหดตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือน มี.ค. 67 เพิ่มขึ้น 12.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 12.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยก็ตามแต่ก็ถือว่าเป็นไปตามคาด

           

ที่น่ากังวลที่สุดคือภาคการส่งออก ที่ล่าสุดมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน มี.ค. 67 อยู่ที่ 24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องหดตัว 5.6% ซึ่งก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่าภายหลังจากที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เข้ารับตำแหน่งแล้วจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายการคลังได้มากน้อยแค่ไหน

           

ค่าเงินและจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงในภูมิภาค ! อย่างไรก็ดีความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยและเอเชีย นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกเริ่มหันกลับมามองในเรื่องค่าเงินมากขึ้น โดยล่าสุดแบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) บริษัทวาณิชธนกิจและผู้ให้บริการการเงินข้ามชาติจากสหรัฐ มีมุมมองเชิงลบต่อเงินตราบางสกุลในเอเชีย โดยจัดให้สกุลเงินหยวนของจีน วอนของเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวัน บาทของไทย ด่องของเวียดนาม อยู่ในหมวดอ่อนแอ ส่วนสกุลเงินที่ถูกจัดอยู่ในหมวดปานกลางได้แก่ ดอลลาร์ฮ่องกง รูเปียห์ของอินโดนีเซีย รูปีของอินเดีย ริงกิตของมาเลเซีย เปโซฟิลิปปินส์ และดอลลาร์สิงคโปร์

           

นอกจากนี้นักลงทุนกำลังจับตาการดำเนินนโยบายแบบเป็นโดมิโนครั้งถัดไปในเอเชีย ท่ามกลางการเร่งหาทางรับมือกับภาวะเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสวนทางการคาดการณ์ตลาด เพื่อสกัดไม่ให้เงินรูเปียห์อ่อนค่า ขณะที่สกุลเงินญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ต่างซื้อขายที่ประมาณระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะดำเนินการเชิงรุกเพื่อยับยั้งการอ่อนค่าดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น สัญญาสวอปเงินวอนของเกาหลีใต้และเงินริงกิตของมาเลเซีย คาดการณ์น้อยลงว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้และธนาคารกลางมาเลเซียจะดำเนินการผ่อนคลายทางการเงิน

           

ทั้งนี้การคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการผ่อนคลายทางการเงินอาจทำให้ผลตอบแทนของสหรัฐสูงกว่าเอเชียต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้กองทุนทั่วโลกถอนการลงทุนออกจากเอเชีย จนฉุดให้ค่าเงินต่างๆ ในเอเชียอ่อนค่าลง ยกตัวอย่างเช่นอินเดียที่มีแนวโน้มจะเผชิญภาวะเงินทุนไหลออกจากตราสารหนี้เป็นเดือนแรกในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่ไทยและอินโดนีเซียก็เผชิญการไหลออกจากตราสารหนี้สุทธิเช่นเดียวกัน   อย่างไรก็ตามกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจเอเชียคือวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งจะบั่นทอนอุปสงค์และเพิ่มโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินฝืดยาวนาน ซึ่งเพิ่มโอกาสที่จะกระทบเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ผ่านการค้าทางตรง โดยที่ IMF ยอมรับว่า มาตรการกระตุ้นที่จีนบังคับใช้ในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว และเดือน มี.ค.ปีนี้ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบของการปรับลดลงของกิจกรรมภาคการผลิตและภาคบริการที่ซบเซา ซึ่งล่าสุด IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนสู่ 4.6% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.4 จุดเปอร์เซ็นต์ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และคงคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าที่ 4.1%

           

สอดคล้องกับที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนจะขยายตัว 4.8% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้าที่ 4.6% และขยับเข้ามาใกล้เป้าหมายซึ่งรัฐบาลจีนวางเอาไว้ที่ราว 5% ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนเริ่มต้นปีด้วยความแข็งแกร่งเกินคาด โดยได้รับแรงหนุนจากการที่ต่างชาติต้องการสินค้าที่ผลิตในจีน รวมถึงการที่รัฐบาลจีนส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างไรก็ตาม การบริโภคเริ่มปรับตัวลดลงในเดือน มี.ค. 67 และการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็รุนแรงขึ้น ซึ่งส่งสัญญาณถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2567 และอาจจำเป็นต้องมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

           

ขณะที่ในเชิงเทคนิคของตลาดหุ้นไทย การฟื้นตัวต่อเนื่องของดัชนี SET ตั้งแต่บริเวณ 1,345 จุดวันที่ 13 ธ.ค. 66 จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่บริเวณ Fib Node 0.382 และ 0.618 หรือ 1,447 และ 1,497 จุดตามลำดับ ซึ่งตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถขยับตัวขึ้นมายืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ การดีดตัวขึ้นมาในรอบนี้ยังคงมองเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้น

           

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,497 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

 

Source: TradingView

4 views

Comentarios


bottom of page