top of page
image.png

ยังมีความผันผวนอยู่ แม้ว่าสถานการณ์ในสหรัฐจะดีขึ้น



ความเชื่อมั่นต่อระบบแบงก์สหรัฐดีขึ้น!

ผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับระบบธนาคารของสหรัฐเริ่มที่จะชะลอตัวลงแล้ว โดยมีรายงานว่าล่าสุดยอดเงินฝากของธนาคารสหรัฐ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 9.84 หมื่นล้านดอลลาร์ มากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี สู่ระดับ 17.5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ถ้าไปพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ามีเพียงยอดเงินฝากของธนาคารขนาดเล็กเท่านั้นที่ร่วงลง 1.20 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดฝากของธนาคารขนาดใหญ่ที่สุด 25 แห่งเพิ่มขึ้นเกือบ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์ สะท้อนให้เห็นว่าคนสหรัฐยังคงมีความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารสหรัฐอยู่ เพียงแต่ไม่มั่นใจเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กเท่านั้น

ขณะที่การปล่อยกู้โดยรวมของธนาคารสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.34 หมื่นล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 12.2 ล้านล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะมีรายงานจากบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ เปิดเผยว่าหลังจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) นั้น ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture capital หรือ VC) มูลค่าราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ อาจจะเผชิญกับภาวะขาดทุน 25-30% หรือราว 5 แสนล้านดอลลาร์ แต่ประเด็นดังกล่าวจะกระทบกับตลาดการเงินของโลกในวงจำกัดเท่านั้น ขณะที่สถานการณ์ของธนาคารที่ประสบปัญหาของสหรัฐเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยที่ในส่วนของ SVB นั้น มีข่าวว่า วัลเลย์ เนชันแนล แบนคอร์ป (Valley National Bancorp) ซึ่งเป็นเจ้าของธนาคารวัลเลย์ (Valley Bank) ได้เสนอซื้อกิจการของ SVB อีกรายแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เฟิร์สต์ ซิติเซนส์ แบงก์แชร์ส (First Citizens BancShares) เจ้าของธนาคารเฟิร์สต์ ซิติเซนส์ (First Citizens Bank) ก็ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อกิจการของ SVB ด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดกันว่าจะทราบผู้ชนะอย่างเร็วที่สุดในสุดในวันสิ้นเดือนมีนาคม

นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มดีขึ้นมาก หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐเริ่มที่จะส่งสัญญาณเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐเล็งขยายโครงการให้กู้ฉุกเฉิน (Emergency Lending Facility) ซึ่งจะทำให้ภาคธนาคารได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น และยังเป็นการต่อเวลาให้ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB แม้ธนาคารหลายแห่งจะได้รับประโยชน์ แต่มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค จะได้รับประโยชน์ด้วย ซึ่งการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต่อ FRB มีขึ้น หลังจากการล่มสลายของ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank-SB) ได้ส่งผลกระทบลุกลามไปยังธนาคารขนาดเล็กของสหรัฐ โดยเงินฝากของ FRB ไม่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลสหรัฐสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจาก SVB และ SB เป็นเหตุผลสำคัญทำให้ลูกค้าจำนวนมากโยกย้ายเงินฝากออกจาก FRB ไปยังธนาคารขนาดใหญ่

ขณะที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้ออกมาเรียกความเชื่อมั่นผ่านการแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการจัดสรรงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ว่ากระทรวงการคลังมีความพร้อมที่จะใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า เงินฝากธนาคารของชาวอเมริกันจะยังคงปลอดภัยในช่วงเวลาที่ภาคธนาคารสหรัฐเผชิญภาวะปั่นป่วน

ทั้งนี้ เยลเลนระบุว่า มาตรการฉุกเฉินที่หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐได้นำมาใช้เพื่อปกป้องเงินฝากของลูกค้า SVB และ SB นั้น จะถูกนำมาใช้อีกครั้งหากจำเป็น ซึ่งการแสดงความเห็นล่าสุดของ เยลเลน ช่วยให้นักลงทุนในตลาดคลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตลาดเจอแรงกดดันอย่างหนักจากคำพูดของ เยลเลน ที่ว่า FDIC ไม่มีแผนที่จะพิจารณาเรื่องการคุ้มครองเงินฝากทั้งหมดของภาคธนาคาร ซึ่งความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากบนกังวลเกี่ยวกับระบบธนาคารของสหรัฐที่ดีขึ้น มาพร้อมกับแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่งด้วย โดยที่ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.3 ในเดือน มี.ค. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน จากระดับ 50.1 ในเดือน ก.พ. 66 ซึ่งดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัว โดยได้ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 53.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน จากระดับ 50.6 ในเดือน ก.พ. 66 ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 191,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 198,000 ราย

ปัจจัยจากฝั่งยุโรปยังต้องจับตามอง ! อย่างไรก็ดีในเชิงของแนวโน้มในทางเทคนิค ตราบใดที่ดัชนี S&P500 ยังคงไม่สามารถขยับขึ้นไปทำ Higher High เหนือ 4,040 จุดได้ ทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มพักฐานในระยะสั้นต่อไป และการดีดตัวขึ้นเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ต่อเนื่องของระบบธนาคารยุโรปยังคงมีอยู่

โดยที่ล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาแล้วว่ากลุ่มนักลงทุนในทวีปเอเชียกำลังเตรียมยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ จากกรณีการตัดมูลค่าของตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 มูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ของธนาคารเครดิต สวิส ลงเหลือศูนย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการเทกโอเวอร์กิจการโดยธนาคารยูบีเอส ขณะที่ในช่วงมี่ผ่านมา AT1 นั้นเป็นเครื่องมือการลงทุนยอดนิยมในทวีปเอเชีย เนื่องจากเสนออัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป โดยผู้ออก AT1 ส่วนใหญ่ล้วนเป็นธนาคารยุโรปที่มีชื่อเสียง และอันดับความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง ทำให้เป็นหลักทรัพย์ที่น่าดึงดูดใจท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์กันว่านักลงทุนฮ่องกงและสิงคโปร์อยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ AT1 เครดิต สวิสรายใหญ่

ขณะที่นักลงทุนยังคงต้องจับตาสถานการณ์ของดอยช์แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนีด้วย โดยดอยช์แบงก์มีสินทรัพย์ทั้งหมดราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการราว 8.8 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ล่าสุดธนาคารเปิดเผยว่ามีกำไร 6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 แต่ล่าสุด Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของทางธนาคาร

อย่างไรก็ตามนักลงทุนไม่ควรกังวลต่อประเด็นดังกล่าวมากเกินไปในระยะสั้นๆ นี้ เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันว่าดอยช์แบงก์ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม Systemically Important Financial Institution (SIFI) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบ หรืออยู่ในกลุ่ม "Too big to fail" ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าจะล้ม และสุดท้ายไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้วิกฤตธนาคารในกลุ่มดังกล่าวลุกลามไปทั่วระบบการเงิน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,630 จุด เน้น “Wait and See” ไปก่อน สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Weekly)

Source: TradingView


 

コメント


bottom of page