ตลาดหุ้นเอเชียดูดีขึ้นต่อเนื่องเพราะจีน !
ทิศทางของตลาดหุ้นเอเชียดูดีขึ้นเยอะนะครับ และเป็นปัจจัยบวกกับทิศทางของตลาดหุ้นไทยด้วย หลังจากที่ความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนลดลงมาในระดับหนึ่งแล้ว โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยในว่า กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 10.2% ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 67 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณบวกที่แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนเริ่มต้นปี 2567 อย่างแข็งแกร่ง หลังจากที่ลดลง 2.3% ในปี 2566 จากที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดหลายรายการ ทั้งนี้ กำไรของภาคอุตสาหกรรมได้จากการสำรวจบริษัทที่มีรายได้จากธุรกิจหลักอย่างน้อย 20 ล้านหยวนต่อปี (2.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ในด้านของการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดมีรายงานว่าหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบจีนกำลังผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เร่งอนุมัติสินเชื่อก้อนใหม่ให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนเงินสด เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นผู้ซื้อบ้านที่เสี่ยงบั่นทอนคุณภาพสินทรัพย์ของผู้ปล่อยสินเชื่อ โดยใช้กลไก "รายการที่อนุญาต" (Whitelist) ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนล่าสุดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาวิกฤตสภาพคล่องครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์และกระตุ้นการซื้อบ้านหลังราคาบ้านใหม่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ในเดือน ก.พ. 67 โดยที่หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารจีนต้องการให้ธนาคารพาณิชย์เร่งอนุมัติสินเชื่อให้กับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้กลไก "รายการที่อนุญาต" ครอบคลุมโครงการของบริษัทพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนและบริษัทพัฒนาเอกชนที่ต้องการเงินทุนก้อนใหม่ 1.5 ล้านล้านหยวน (2.0751 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มณฑลและเมืองต่างๆ รวม 4 แห่งของจีน กำลังดำเนินการปิดแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปราบปรามการระดมทุนที่ผิดกฎหมาย รวมถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในด้านการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อเสริมแกร่งกฎระเบียบทางการเงินและแก้ปัญหาความเสี่ยงทางการเงิน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางจีน (PBOC) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์ระดับสูงของจีนได้ให้คำมั่นว่าจะปราบปรามกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่สื่อของรัฐรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวด้านนโยบายว่า คาดว่าจะมีการปิดแพลตฟอร์มเพิ่มเติม ซึ่งการปิดแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์เหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของตลาดลักษณะดังกล่าวทั้งหมด โดยปัจจุบันจีนมีแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนประเภทดังกล่าวเกือบ 30 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สร้างความมั่นใจมากขึ้นให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นจีนและเอเชีย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุว่าจีนจำเป็นต้องสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ด้วยการใช้นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเร่งแก้ไขวิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์ พร้อมส่งเสริมการบริโภคและผลิตภาพภายในประเทศ เพื่อให้จีนสามารถจะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่วางเอาไว้ ซึ่งรวมถึงการบรรลุเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ 5% ในปีนี้ สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซาของจีนและความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนในประเด็นต่างๆ
ประกอบกับการที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) จะอัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบธนาคารเพิ่มอีกในปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำหนดไว้ราว 5% สำหรับปีนี้ โดยคาดการณ์ว่า PBOC จะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์ ก็จะทำให้ PBOC ปรับลด RRR ลงรวม 0.50% และคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก PBOC ได้ส่งสัญญาณเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าจะใช้นโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดย PBOC ได้เปิดเผยถึง 2 ครั้งในเดือนนี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลด RRR ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับสภาพคล่อง ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวบ่งชี้ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยใช้นโยบายทางการเงินนั้น ยังคงเป็นแนวทางที่จีนต้องนำมาใช้ หลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนอาจขยายตัวเพียง 4.6% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ระดับราว 5%
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นหนุนความเชื่อมั่นตลาดหุ้นโลกให้ไปต่อได้ ! แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แล้ว แต่ความเชื่อมั่นในทิศทางเศรษฐกิจ ยังคงทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ โดยที่ผลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ราคาที่ดินของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 33 ปีในปี 2566 และหวนคืนสู่ระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งนับเป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มกระเตื้องขึ้น หลังจากญี่ปุ่นพยายามหาทางหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจซบเซานานหลายปี โดยได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นของญี่ปุ่นและชาวต่างชาติกลับมาเยือนญี่ปุ่นอีกครั้งหลังผ่านพ้นช่วงโควิด-19 ระบาด
ทั้งนี้การที่ราคาที่ดินเฉลี่ยทั่วประเทศปรับตัวขึ้น 2.3% ในช่วง 1 ปีจนถึงวันที่ 1 ม.ค.ปีนี้ ถือเป็นการเติบโตในอัตราแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่การปรับตัวขึ้น 11.3% ในปี 2534 โดยเวลานั้นราคาที่ดินเริ่มอ่อนตัวลงหลังเกิดภาวะฟองสบู่แตกในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยแยกเป็นราคาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ปรับตัวขึ้น 2.0% ในปี 2566 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นในอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534 เช่นกัน หลังจากปรับตัวขึ้น 1.4% ในปีก่อนหน้า และราคาที่ดินในพื้นที่อุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 4.2% ในปี 2566 โดยปรับขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8 และปรับขึ้นในอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534 โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์สำหรับโรงงานโลจิสติกส์ขนาดใหญ่เนื่องจากการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ในมุมของการดูแลค่าเงินเยนให้มีเสถียรภาพ ล่าสุดรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้ออกมาเตือนอย่างจริงจังที่สุดในรอบหลายเดือนต่อการเก็งกำไรในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ขณะที่เงินเยนยังคงอยู่ใกล้ระดับที่เคยเกิดการแทรกแซงของญี่ปุ่นในปี 2565 โดยระบุว่าสกุลเงินเยนที่อ่อนค่าจากการเก็งกำไร ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินเยนในตอนนี้ไม่สอดคล้องกับพื้นฐาน และเห็นได้ชัดว่ามาจากการเก็งกำไร หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมา เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0 ถึง 0.1% จากระดับ -0.1% ในการประชุมครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 17 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 2550 พร้อมกับประกาศยกเลิกนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (YCC) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนจากเดิมที่เคยใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-Loose Monetary Policy) เพื่อผลักดันให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด รวมทั้งเป็นการยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานและเป็นประเทศสุดท้ายของโลก หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าค่าจ้างของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นในปีนี้
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยอีกครั้งภายในเดือน ต.ค. 67 และอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ BOJ ดำเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะหลังจากที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือน ก.พ. 67 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ทำให้ล่าสุดโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป ปรับเพิ่มคาดการณ์ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินเยนมาอยู่ที่ราว 155, 150 และ 145 เยนในช่วง 3, 6 และ 12 เดือนข้างหน้าตามลำดับ เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 145, 142 และ 140 เยน ขณะที่ในฝั่งสหรัฐไม่มีอะไรน่ากังวล โดยที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่าแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 1 ปี 2567 ขณะที่ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 6.0% ในเดือน ม.ค. 67 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2565 และปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 หลังจากเพิ่มขึ้น 5.6% ในเดือน ธ.ค. 67
ขณะที่ในเชิงเทคนิคของตลาดหุ้นไทย การฟื้นตัวต่อเนื่องของดัชนี SET ตั้งแต่บริเวณ 1,345 จุดวันที่ 13 ธ.ค. 66 จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่บริเวณ Fib Node 0.382 และ 0.618 หรือ 1,447 และ 1,497 จุดตามลำดับ ซึ่งตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถขยับตัวขึ้นมายืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ การดีดตัวขึ้นมาในรอบนี้ยังคงมองเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้น
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,497 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: TradingView
Comments