ค่าเงินบาท
เงินบาททยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ประกอบกับยังมีแรงกดดันจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับหลายสกุลเงินในภูมิภาค เงินบาทสามารถลดช่วงอ่อนค่าลงได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ซึ่งอาจเป็นการปรับโพสิชันของก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ (3 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.97 หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 17 เดือนที่ 33.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เทียบกับระดับ 32.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 มี.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนมี.ค. และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 และมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อภาคเอกชนของธปท. ตลอดจนมาตรการรับมือความเสี่ยงจากโควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 17-18 มี.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนมี.ค. ซึ่งจะเริ่มทยอยประกาศออกมาด้วยเช่นกัน
ตลาดหุ้นไทย
หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,138.84 จุด เพิ่มขึ้น 3.55% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 58,852.12 ล้านบาท ลดลง 9.89% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.62% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 220.22 จุด
ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยแม้จะถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นและกลางสัปดาห์ แต่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากความคาดหวังเชิงบวกต่อมาตรการระยะ 3 เพื่อเยียวยาผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานทยอยฟื้นตัวขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ขานรับการเตรียมคืนสู่โต๊ะเจรจาของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,115 และ 1,100 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,155 และ 1,170 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนมี.ค. การพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 3 ของครม. เพื่อบรรเทาผลกระทบไวรัสโควิด-19 มาตรการบรรเทาผลกระทบสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ของประเทศชั้นนำ รวมถึงการจัดประชุมฉุกเฉินของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคเดือนมี.ค. ของจีน
Comments