top of page
379208.jpg

ตบมือให้ฝ่ายกำกับ ไขก๊อกอุดรูรั่วสำเร็จ...ยังต้องระวัง!! หุ้นกู้ขยะ

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2563 เป็นอีกวันหนึ่งที่เกิดความปั่นป่วนมากที่สุด ในวงการตลาดเงินตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้และกองทุนรวมตราสารหนี้ ด้วยเกิดภาวะความไม่เชื่อมั่นอย่างรุนแรงของนักลงทุนกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น จนทำให้มองว่า การถือเงินสดจะเกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งจะเห็นว่ามีการขายหุ้นกู้กันออกมาจำนวนมากจากทั้งนักลงทุนสถาบันไทย-เทศก่อนหน้าแล้ว ประกอบกับความไม่เชื่อมั่นว่าความคลอนแคลนของธุรกิจในอนาคตอันใกล้นี้จะเกิดภาวะผู้ออกตราสารหนี้-หุ้นกู้ ไม่สามารถนำเงินมาคืนผู้ถือหุ้นกู้ได้เมื่อถึงเวลาครบกำหนด/ครบดีล กลายเป็นกรณีผิดนัดชำระจึงเกิดกรณีแห่กันไปไถ่ถอนหน่วยลงทุน จากกองทุนประเภทตราสารหนี้ จาก บลจ.ต่างๆ กันเป็นจำนวนมาก


ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่าหนึ่งแสนล้านบาทในช่วงวันที่ 13 -20 มีนาคม 2563 ลดและยกเลิกการออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการเสริมสภาพคล่อง และกนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% ต่อปี


การเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาสภาพล่อง กองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่ง ต้องเร่งขายตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าปกติ เพราะการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่น ๆ ตามมา จนกระทบต่อการทำงานของกองทุนรวมตราสารหนี้และตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคเอกชน เศรษฐกิจ และประชาชนเป็นวงกว้าง

ตัวเลขจาก มอร์นิ่งสตาร์ ไดเร็ค ระบุว่า มี 5 กองทุนตราสารหนี้ที่นักลงทุนแห่ขายหน่วยลงทุนมีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดรวมกันเกือบ 1 แสนล้านบาท ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1-20 มีนาคม 2563 ได้แก่

1. กองทุน TMB Ultra-Short Bond มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ไหลออกสุทธิมากสุด 35,978 ล้านบาท

2. กองทุน TMB Aggregate Bond มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ระยะปานกลาง-ระยะยาว ไหลออกสุทธิ 21,419 ล้านบาท

3. Krungsri Active Fixed Income มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ระยะปานกลาง-ระยะยาว ไหลออกสุทธิ 12,709 ล้านบาท

4. K Fixed Income plus มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ระยะปานกลาง-ระยะยาว ไหลออกสุทธิ 8,689 ล้านบาท

5. SCB Fixed Income plus (ACC) ลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ไหลออกสุทธิ 8,382 ล้านบาท


ขณะที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA เพิ่งให้ข้อมูลแสดงความห่วงใยว่า ให้ระวังหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยง-เรตติ้งต่ำ ที่จ่อครบดีลปี 2563 นี้จำนวน 5 หมื่นล้านบาทจะกลายเป็นหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า ปี 2563 นี้จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้ของบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่าระดับ investment grade หรือต่ำกว่าระดับเครดิต “BBB-“ ที่ให้ผลตอบแทนสูง (high yield) จะครบกำหนดอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างทั้งสิ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีอยู่ราว 60% เป็นหุ้นกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อาทิ หุ้นกู้ของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่จะมีที่ดินหรืออาคารค้ำประกัน ซึ่งในกรณีหากมีการผิดนัดชำระหนี้ (default) จะสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ยากมาก

“นักลงทุนบางกลุ่มอาจจะใจชื้นว่ามีหลักทรัพย์ที่จับต้องได้ แต่เราพยายามเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังในการซื้อ โดยส่วนใหญ่ที่ครบกำหนดจะเป็นบริษัทจดทะเบียนรายเล็กๆ และเริ่มเห็นแนวโน้มที่หลายบริษัทในกลุ่มที่ครบดีล ไม่ได้บอกนักลงทุนตรงๆ ว่าจะไม่มีเงินจ่าย แต่ใช้วิธีการไปขอประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อยืดอายุการจ่ายออกไป กล่าวคือไม่จ่ายเงินต้นแต่ขอจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ดังนั้นถ้านักลงทุนเจอแบบนี้ก็ต้องคิดดีๆ ว่าเกิดจากเจตนาอะไร หรือทำกันเป็นประเพณี ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการออกหุ้นกู้ คือ การกู้ที่มีระยะเวลากำหนดจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย”

ทั้งนี้เมื่อเกิดภาวะ ตื่นตระหนก แห่ไถ่ถอนกันมากขนาดนี้ จนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและ corporate spread ปรับสูงขึ้นค่อนข้างเร็ว จึงทำให้ผู้บริหาร ฝ่ายกำกับตลาดเงินและตลาดทุน ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) มีความห่วงใยมาก ถึงขนาดไม่ห่วงใยเรื่องของโรคระบาดโควิด เรียกประชุมฉุกเฉินและแถลงข่าวในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

ผลการประชุมออกมาสำเร็จรูป เป็น 3 มาตรการเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ตั้งรับแรงขายที่เกรงว่าจะยังออกมาอีก แบบ “เลือดไหลไม่หยุด” เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินที่มุ่งเน้นเสริมสภาพคล่องให้กับ 1) กองทุนรวมตราสารหนี้ (กองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด) 2) ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และ 3) ตลาดพันธบัตรรัฐบาล

มาตรการอุดรูรั่วทั้ง 3 ด้านได้แก่

1. กองทุนรวมตราสารหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี แต่ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท. ได้ โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ จากการประมาณการเบื้องต้นพบว่ามีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ มูลค่ารวมกว่าหนึ่งล้านล้านบาท

2. ตราสารหนี้ภาคเอกชน สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่องจนส่งผลให้ไม่สามารถต่ออายุ (rollover) ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน

3. ตราสารหนี้ภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า มีความมั่นใจว่ามาตรการดูแลตลาดตราสารหนี้ที่ออกมา จะสามารถรักษาเสถียรภาพของกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีให้อยู่ในระดับปกติ และป้องกันไม่ให้ผู้ถือหน่วยได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็นได้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center) หรือ EIC แบงก์ไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า การประกาศมาตรการ ทั้ง 3 ที่มีผลทันทีวันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นมาตรการที่ได้ผล กล่าวคือทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยได้ปรับตัวลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 1, 5 และ 10 ปี ปรับลดลง 15 bps. (เหลือ 0.85%), 18 bps. (เหลือ 1.15%) และ 20 bps. (เหลือ 1.49%) ตามลำดับ

โดยกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ ช่วยลดความเสี่ยงตลาดหุ้นกู้ ได้โดยเฉพาะกลุ่มเรตติ้งตั้งแต่ BBB ลงไป ที่จะครบกำหนดอายุไถ่ถอนตั้งแต่ไตรมาส2 ถึงไตรมาส 4 ปีนี้ร่วม 1.47 แสนล้านบาท กองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจึงอาจช่วยลดความยากลำบากแก่บริษัทที่จะต้องต่อหุ้นกู้ได้บ้าง โดย EIC พบว่า corporate spread ในช่วงที่ผ่านมาปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้กลุ่ม BBB ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนความเสี่ยงที่มีมากขึ้นตามแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจไทย

EIC ได้ใช้ข้อมูลจากสมาคมตราสาหนี้ไทยเพื่อศึกษาความเสี่ยงในการต่ออายุหุ้นกู้ (roll-over risk) พบว่า ในไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 ปีนี้จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ครบกำหนดอายุไถ่ถอนทั้งสิ้น 5.59 แสนล้านบาท จำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ลงไปคิดเป็น 1.47 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ EIC มองว่าการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนน่าจะช่วยลดความเสี่ยงด้านนี้ลงได้บ้าง โดยเฉพาะในภาวะที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและมีความต้องการเข้าซื้อหุ้นกู้ (โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ) ลดลง ทั้งนี้ยังคงต้องจับตามองหากมีความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น


การออกมาตรการอย่างแข็งขันของฝ่ายกำกับครั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นการไขก๊อกอุดรูรั่วได้สำเร็จ ทำให้ชะลอแรงแห่เทขายหน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และการขายหุ้นกู้ออกมาได้ระดับหนึ่ง


อย่างไรก็ตามต้องระมัดระวังรูรั่วที่เหมือนน้ำในสายยางที่อุดไว้จะทะลักออก เพราะมีหุ้นกู้ในระดับที่ตำกว่า BBB ที่กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอนที่อาจเขย่าตลาดได้อีกจำนวนมาก

5 views

Commenti


bottom of page