top of page

ไทยเผชิญวิกฤต 'แรงงานต่างด้าว' หาย 4 แสนคน


หลังโควิด ไทยขาดแคลนแรงงานต่างด้าวกว่า 4 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ครบกำหนดใบอนุญาตต้องกลับบ้านเกิดแต่กลับไทยไม่ได้ ล่าสุด ทางการเปิดไฟเขียวให้นายจ้างนำเข้าแรงงานพม่า ลาว กัมพูชา ภายใต้ MOU ทำงานในไทยได้ 2+2 ปี คาด...ตั้งแต่ 1 ธ.ค. จะมีแรงงานภายใต้ MOU เข้าไทยวันละ 1,000-2,000 คน พอจะทุเลาปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ระดับหนึ่ง แต่ด้วยมาตรการป้องกันโควิด ทำให้มีปัญหาเรื่องสถานที่รองรับการกักตัว รวมทั้งค่าตรวจ RT-PCR ที่นายจ้างต้องรับภาระ 2,600 บาท/แรงงาน 1 คน ร้องขอภาครัฐจัดสถานที่ราชการเป็นที่กักตัวโดยภาคเอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้ภาครัฐหาชุดตรวจ RT-PCR ที่ราคาถูกเพื่อช่วยลดภาระนายจ้าง เตือนนายจ้าง นำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่อยู่มาก่อนหน้านี้ไปลงทะเบียนนิรโทษกรรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกต้องภายใน 30 พ.ย. พร้อมแนะภาคอุตฯ และภาคเกษตร ปรับปรุงระบบการผลิต-เพาะปลูกเป็นระบบ Automation เพื่อลดการใช้แรงงาน ป้องกันการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว

Interview : คุณสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายแรงงาน


วิกฤตแรงงานตอนนี้ดูแล้วค่อนข้างน่ากลัวไหม

รุนแรง ถ้าย้อนหลังประมาณ 2 ปี ประเทศไทยเรามีแรงงานต่างด้าวประมาณ 3 ล้านเศษ หลังโควิดเราเหลือแรงงานประมาณ 2.3 ล้าน ขณะที่แรงงานเข้ามาแบบ MOU ก่อนโควิดมีประมาณ 1 ล้านเศษ หลังโควิดเหลือ 600,000 กว่า ที่หายไป 400,000 กว่าเพราะแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นครบกำหนดต้องกลับประเทศของเขา แล้วเขาไม่สามารถกลับมาได้เพราะปัญหาโควิด แรงงานจำนวน 400,000 กว่าคนที่หายไปจากระบบเป็นแรงงานที่มีความต้องการมากในขณะนี้ ทำไมปีเศษที่มีปัญหาโควิดเราไม่รู้สึกว่าขาดแคลนแรงงาน เพราะตอนนั้นเศรษฐกิจย่ำแย่ ทุกอย่างปิด ส่งออกไม่ได้ ประเทศคู่ค้ามีปัญหาเช่นกัน แต่พอเศรษฐกิจดีขึ้น ตอนนี้ปัญหาเรื่องโควิดซาลงแล้ว ประเทศคู่ค้าต่างๆ กลับมาค้ากับเราใหม่ เรื่องการท่องเที่ยวเราก็ดี เพราะฉะนั้นแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นที่หายไป ควรต้องกลับมาทำงาน แต่ความจริงคือยังไม่กลับมา


400,000 กว่าคนที่หายไป เคยทำงานอะไรกันบ้าง

ส่วนใหญ่เป็นด้านอาหาร ก่อสร้าง บริการ และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคน ส่วนใหญ่ 60% เป็นพม่าและตามมาด้วยกัมพูชาและลาว


คิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี

รัฐบาลทราบปัญหานี้เพราะสภาอุตสาหกรรมได้หยิบยกปัญหานี้แจ้งกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงแรงงานก็ทราบปัญหานี้ และจะมีปัญหารุนแรงขึ้นถ้าเราไม่สามารถแก้ไข กระทรวงแรงงานจึงเปิดนโยบายนำเข้าแรงงานภายใต้ MOU คือการนำเข้าแรงงานระหว่างประเทศกับประเทศ ซึ่งขณะนี้เรามีอยู่แค่ 600,000 กว่าคนจาก 1 ล้านคน เร็วๆ นี้ทางกระทรวงแรงงานยื่นข้อเสนอนี้ไปที่ ศบค.และมีการอนุมัติหลักการนำเข้าแรงงานภายใต้ MOU ได้ตามที่กระทรวงแรงงานที่ยื่นเสนอไป ซึ่งเป็นข่าวดีมาก ขณะที่แรงงานต่างด้าวที่ทะลักเข้ามาเยอะเพราะกระทรวงแรงงานมีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนแรงงานที่ผิดกฎหมายซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 1-30 พฤศจิกายนนี้ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย ที่มีนายจ้างทำงานอยู่แล้วแต่ผิดกฎหมายตั้งแต่แรก แรงงานเหล่านี้จะได้รับนิรโทษกรรม สามารถอยู่ในประเทศไทยโดยนายจ้างนำไปจดขึ้นทะเบียน แต่อยู่ได้เพียง 13 กุมภาพันธ์ 2566 ขณะที่แรงงานที่เข้ามาภายใต้ MOU จะมีสัญญา 2 ปี และบวกอีก 2 ปี เป็น 4 ปี

นายจ้างที่ขาดแคลนแรงงานอย่าไปหาแรงงานที่ผิดกฎหมายเข้ามา ควรหารายละเอียดต่างๆ ในการนำเข้าแรงงาน ควรติดต่อกระทรวงแรงงานที่จะช่วยเหลือให้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานภายใต้ MOU เพราะสามารถอยู่ในประเทศไทย 2 ปี + 2 ปี ถือเป็นข่าวดีที่ ศบค.อนุมัติออกมา


คิดว่าแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย MOU ตอนนี้มีไหม เพราะประเทศเขาเองก็เริ่มฟื้น เขาก็ต้องใช้แรงงานเหมือนกัน อย่างพม่ามีปัญหาในประเทศ จะมีที่เข้ามาอย่างถูกต้องไหมถ้าไม่ดูเรื่องลักลอบเข้ามา

คุยเรื่องลักลอบก่อน ตอนนี้ที่กำลังเดินเข้ามาตามชายแดนที่ไม่มีนายจ้าง เราจะไม่นิรโทษกรรมพวกนี้ จะมีโทษแล้วผลักดันออกไป ถามว่าแรงงาน 400,000 กว่าคนที่ออกไปแล้วจะกลับมาไหม กลับมาแน่ เพราะแรงงานต่างๆ เหล่านี้เคยทำงานในประเทศไทยมาก่อน เขารับรายได้จากประเทศไทย เขารู้ว่างานที่เขาทำเป็นงานที่มีความมั่นคง ขณะที่ในพม่ามีความวุ่นวายเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งโควิด งานที่อยู่ในพม่ามันหายาก ถึงได้มีแรงงานลักลอบเข้ามา เขมรก็เช่นกัน ผมเชื่อว่าถ้าเปิด MOU เมื่อไหร่จะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาพอสมควร


คิดว่าแรงงานที่เข้ามาทำงานกับเรา เขามีความพอใจกับค่าจ้างที่คนไทยพร้อมจะจ้างไหม

โดยกฎหมายงานที่ทำงานภายใต้กฎหมายไทยจะต้องจ่ายค่าจ้างเท่ากับคนไทย เรื่องค่าจ้าง เรื่องประกันสังคม ต้องเหมือนคนไทยหมด แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาก็พอใจในสิ่งที่ได้รับ เพราะเขามีสิทธิ์ได้ค่าจ้างเหมือนคนไทย


เรื่องป้องกันโรค ดูแลได้ดีไหม

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงกำลังเปิดประเทศแต่เรายังระวังเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาภายใต้ MOU ต้องได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม ต้องมีการตรวจ RT-PCR ไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงก่อนที่จะเข้าประเทศไทย ต้องถูกกักตัว 7 วัน วันแรกจะตรวจ RT-PCR และจะตรวจวันที่ 5 หรือ 6 ก่อนที่จะออกมา ก็เป็นความมั่นใจว่าคนงานต่างด้าวที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นชาติไหนก็ตามถ้าได้รีบการฉีดวัคซีน 2 เข็มก็ต้องตรวจอยู่ดี ถ้ามีแรงงานต่างด้าวฉีดเข็มเดียวหรือไม่ได้ฉีดก็ต้องมีการตรวจ RT-PCR ก่อนไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงก่อนที่จะเข้ามา และจะถูกกักตัว 14 วัน วันแรกจะตรวจ RT-PCR และก่อนจะออกมา 2 วันต้องตรวจ RT-PCR เพราะฉะนั้นเป็นหลักประกันว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาจะไม่แพร่เชื้อ อันนี้เป็นมาตรการซึ่งเราสนับสนุน

ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแล้วตรวจ RT-PCR แล้วเจอเชื้อก็ต้องรักษาตัวโดยนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบ


ถ้าสมมติเราต้องการแรงงานต่างด้าว เริ่มต้นต้องไปติดต่อใคร ต้องไปตั้งโต๊ะรับที่ประเทศเขาเลยไหม

มีบริษัทที่เป็นเอเย่นต์นำเข้า ภาษาทางการคือผู้รับอนุญาตในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว มีเยอะในเมืองไทย 20-30ราย พวกนี้รู้ว่าจะทำอย่างไร ส่วนบริษัทห้างร้านที่เคยนำเข้ามาเองก็ไปคัดเลือกที่นั่นแล้วนำเข้ามา แต่ก่อนที่จะเข้ามาต้องได้รับวีซ่าก่อน 2,000 บาทถ้าจะได้ work permit อีก

ประเด็นที่สำคัญที่เราเป็นห่วงคือต้องมีการกักตัว 7 วันกับ 14 วัน การกักตัวต้องมีสถานที่กักกัน ซึ่งขณะนี้ที่เราเช็กดูในแต่ละพื้นที่แถวชายแดนมีที่ตาก แม่สอด หนองคาย สระแก้ว ระนอง มุกดาหาร ที่พวกนี้ไม่เพียงพอ ถ้าเราเปิดวันที่ 1 ธันวาคมที่จะนำเข้าแรงงานตาม MOU ถ้าผมคาดการณ์ไม่ผิดวันนึงเข้ามาเป็น 1,000 คน สมมติเข้ามา 1,000 คน กักตัว 14 วัน หมายความว่าต้องมีที่กักตัว 14,000 เตียง ซึ่งยังไม่มี ก็เป็นความกังวล ทางสภาอุตสาหกรรมก็ขอให้รัฐบาลหาที่ให้ ส่วนค่าใช้จ่ายภาคเอกชนต้องจ่ายอยู่แล้ว แต่ที่ควรเป็นของรัฐบาล ที่หมายถึงสถานที่ ไม่ใช่ที่ดิน สถานที่ในการกักตัว คือมีที่อยู่แล้วที่มีการรับรองมาตรฐานของสาธารณสุขคล้ายๆ โรงพยาบาลสนาม

อีกประเด็นหนึ่งคือขณะที่กักตัวแล้วจะต้องตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง แต่ละครั้งต้องจ่ายประมาณ 1,300 บาท ก็อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือว่าหา RT-PCR ของรัฐบาลเองที่ราคาถูกลง บริษัทใหญ่ๆ ผมไม่เป็นห่วง เขาจ่ายได้ แต่ SME ทั้งหลายถ้าต้องจ่ายค่าตรวจคนละ 2,600 อาจจะหนักสำหรับเขา และอาจจะต้องมาจ่ายค่ากักตัวอีก ก็เป็นข้อกังวลที่นำเสนอในเรื่องของจำนวนเตียงที่มีอยู่ตามชายแดน การตรวจ RT-PCR อยากให้รัฐบาลช่วยเจรจาเรื่องราคากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ขั้นตอนการเตรียมการจะทันกับความต้องการไหม ขณะนี้ต้องการเร่งด่วนพอสมควร แต่ขั้นตอนเตรียมอย่างน้อยต้องใช้เวลา 14-20 วัน จะหาคนมาทันไหม

คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดเมืองของประเทศไทยเราเพิ่งมาตัดสินใจตอนนี้ ขณะที่เศรษฐกิจของโลกมันดีขึ้น แต่เรายังขาดแรงงานอยู่ มันเร่งด่วนอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ คือรีบจัดการให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ในการนำเข้าแรงงาน 400,000 กว่าคน จริงๆ แล้วในจำนวนนี้เป็นการสำรวจของกระทรวงแรงงาน ผมว่าจำนวนจริงมีมากกว่านี้เยอะ เพราะช่องว่างแรงงานที่ผิดกฎหมายจะถูกตีลงทะเบียนเสร็จแล้วแรงงานที่ผิดกฎหมายที่เขาให้ลงทะเบียนโดยให้ลงทะเบียนถึง 30 พฤศจิกายน หลังจากนั้นจะไม่มีแล้ว ก็จะทำการผลักดันออกไป หลังจาก 1 ธันวาคมจะนำเข้าแบบ MOU ก็ต้องช่วยกัน สามารถที่จะอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่า สถานที่กักตัว ตรวจโรค ตรวจ RT-PCR ทุกหน่วยงานของรัฐบาลต้องช่วยกัน รวมถึงภาคเอกชนด้วย ถ้าช่วยอย่างนี้ผมว่าวันนึงมีแรงงานเข้า 1,000-2,000 คน 10 วันก็ 20,000 คน แต่ผมเกรงว่าถ้ามาจำนวนแบบนี้ที่กักตัวอาจจะไม่เพียงพอ


แล้วคนไทยทำงานแบบนี้ไม่ได้ หรือไม่มีคนอยากจะทำจริงๆ


ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ว่างงาน 300,000 กว่าราย งานที่เราจ้างแรงงานคือเป็นงานที่คนไทยไม่อยากทำที่มีอยู่ 3 ประเภท เขาเรียก 3d งานยาก difficult งานสกปรก dirty งานอันตราย dangerous งานก่อสร้างอันตราย สกปรกทำงานยาก ถึงต้องมีแรงงานต่างด้าวมาทำ และตอนนี้อุตสาหกรรมอาหารก็ใช้แรงงานต่างด้าวล้วนๆ คนงานไทยไม่มีเพราะงานไม่สะอาด จะโทษคนไทยเลือกงานหรือไม่ มันไม่ใช่ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย สภาพของคนเรื่องการศึกษาดีขึ้น มันก็เป็นวัฏจักรของสังคม ต่างประเทศก็เหมือนกัน งานพวกนี้คนในประเทศไม่อยากทำ คนมีรายได้ดีก็ไม่อยากทำ การศึกษาดีก็ไม่อยากทำ


อนาคตจะเป็นอย่างไรถ้าไทยยังต้องยืมจมูกแรงงานเพื่อนบ้าน

เรายืมจมูกชาวบ้านมาหายใจ เรามีดีมานด์และเป็นดีมานด์กับเพื่อนบ้าน และดีมานด์นี้ทำให้เศรษฐกิจของเราดีขึ้นและไปต่อได้ สิ่งที่เราควรทำคือถ้าเราไม่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ขณะที่เราขาดแคลนแรงงาน ไม่ใช่เราขาดแคลนแรงงานต่างด้าว แรงงานไทยที่คนไทยทำก็ขาดแรงงาน เราต้องมีการพัฒนาแรงงานในเรื่องทักษะ ผู้ประกอบการต้องมาดู automation การใช้เครื่องจักรทุ่นแรง ภาคเกษตรใช้แรงงานเยอะมากแต่ GDP น้อยมาก สมมติเราสามารถเปลี่ยนภาคการเกษตรโดยใช้เครื่องจักรเข้าไปซึ่งตอนนี้มีใช้มากขึ้น การไถนา หว่านนา เก็บเกี่ยวใช้เครื่องจักรมากขึ้น แล้วผันแรงงานคนมาอยู่ในอุตสาหกรรมภาคการผลิต อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ ก็ยังมีความกังวลว่าพัฒนาอุตสาหกรรมใช้ automation มากขึ้นคนจะตกงานไหม ก็ไม่ควรจะเป็นแบบนั้นเพราะเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น อุตสาหกรรมขยายตัว ธุรกิจขยายตัว บริการขยายตัว ในส่วนที่แรงงานคนไทยไม่ทำก็ให้แรงงานต่างด้าวไปทำ


66 views

Comments


bottom of page