top of page
379208.jpg

ศึกหนัก 'ข้าวไทย'...ส่งออกลดวูบ เหตุเงินบาทแข็งค่าทำราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง


สัมภาษณ์ : คุณชูเกียรติ โอภาสวงศ์

นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อนาคตข้าวไทยวังเวง ส่งออกลดวูบ เหตุเงินบาทแข็งค่าทำราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง หนำซ้ำยังติดกับดักปัญหาเดิมๆ ทั้งภัยแล้ง คุณภาพข้าวตกต่ำ ผลผลิตต่อไร่น้อย ตามเทรนด์ผู้บริโภครุ่นใหม่ไม่ทัน ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อข้าวจากคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนามที่ก้าวหน้าทั้งการพัฒนาพันธุ์ข้าว คุณภาพ ผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่าไทยเกือบเท่าตัว จึงขายในราคาที่ถูกกว่าข้าวไทย หวั่น...หากยังปล่อยไว้แบบนี้การส่งออกข้าวมีแต่จะเรียวลง ที่สุดอาจถึงขั้นส่งออกไม่ได้ ไทยปลูก ไทยต้องกินกันเอง

โควิด-19 กระทบตลาดส่งออกข้าวไทยอย่างไรบ้าง

ถ้าพูดในแง่โควิด-19 มันเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่ทำให้คนมีกำลังซื้อลดลง เพราะเศรษฐกิจแย่ไปทั่วทุกภูมิภาคไม่ใช่เฉพาะภาคใดภาคหนึ่ง คือเกิดขึ้นทั่วโลก ตรงนี้ก็ทำให้กำลังซื้อของผู้ซื้อน้อยลง และแน่นอนที่สุดในการที่จะซื้ออะไรเขาก็คงต้องเลือกสิ่งที่มันถูก แต่จังหวะข้าวไทยปีนี้มันแพง ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากที่เราประสบปัญหาเรื่องภัยแล้งมาจากปีที่แล้ว ทำให้ซัพพลายของเราลดน้อยลง พอลดน้อยลงราคาก็ปรับตัวขึ้นมาโดยธรรมชาติของดีมานด์และซัพพลาย เพราะฉะนั้นราคาภายในของเราก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเรื่องค่าเงินบาทที่มันแข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าช่วงหลังจะอ่อนตัวลงไปบ้างเล็กน้อย แต่ก็แค่บางส่วน เราดูจากปลายปีที่แล้วจนถึงวันนี้ เงินบาทก็ยังแข็งค่าอยู่ แข็งค่ามากกว่าคู่แข่งของเรา ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เวลาเราโค้ดราคาส่งออก ราคาที่เป็นเงินเหรียญก็จะแพงขึ้นทั้งๆ ที่ราคาภายในเท่าเดิม ตรงนี้ก็เลยทำให้ราคาข้าวไทยแพงในตลาดโลก

ขณะเดียวกันจากที่เราเจอปัญหาเรื่องภัยแล้ง ปรากฏว่าคู่แข่งของเราไม่มีผลกระทบตรงนี้ ทำให้ปริมาณข้าวของเขาก็ยังเท่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นอินเดียที่ผลผลิตข้าวเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำไป เลยทำให้เขาสามารถขายในราคาที่ต่ำได้ อย่างของเรายกตัวอย่างราคาไทยตอนนี้ 470 เหรียญ สำหรับข้าว 5% ส่วนอินเดีย 380 เหรียญ ต่างกันเกือบ 100 เหรียญ ตรงนี้จะเห็นภาพเลยว่าข้าวชนิดเดียวกัน แต่ของเราแพงกว่าหรืออย่างเวียดนามข้าวชนิดเดียวกันอยู่ที่ 440 เหรียญ ซึ่งก็ต่ำกว่าเราอยู่ดี

อย่างที่เรียนในตอนต้นโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อทั้งโลกมันลดลง เพราะฉะนั้นนาทีนี้ทุกคนจำเป็นต้องประคองตัวเองไว้ก่อน คนที่เคยกินข้าวไทย นิยมข้าวไทยก็ต้องหันกลับไปซื้อข้าวของประเทศอื่น หลายๆ ปัจจัยที่ประกอบกัน ก็เลยทำให้การส่งออกของเราลดลงค่อนข้างมาก เมื่อดูตัวเลขของทางราชการช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเราส่งออกไปได้แค่ 2.9 ล้านตันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้นเราเคยส่งออกได้ 4.3 ล้านตัน ก็หายไปล้านกว่าตัน ตรงนี้ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ลดลงไปถึง 34% คือจากต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นภาพว่าปีนี้ดูแล้วไม่สดใส และมองต่อไปข้างหน้าภาพก็ยังเหมือนเดิม ช่วงครึ่งปีหลังที่เหลืออีก 5 เดือน คงไม่มีเหตุการณ์ใดมาเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการส่งออกก็น่าจะอยู่ที่ 5-6 แสนตัน ถ้าดูจากภาพรวมทางสมาคมเองก็มีการปรับลดเป้าลงมาจากปีที่แล้วที่เคยส่งออก 7.5 ล้านตัน ลดมาอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน แต่ตัวเลขตรงนี้บอกตรงๆ ว่าก็ยังต้องมานั่งลุ้นกันอยู่ว่าจะถึงไหม ถ้าเป็นตัวเลข 6.5 ล้านตันถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปีของการส่งออกข้าวไทย โดยเมื่อปี 2543 เรามีการส่งออก 6.1 ล้านตัน และจากนั้นเราก็มีการส่งออก 7 ล้านกว่าตันมาตลอด มีที่ร่วงตอนช่วงจำนำข้าว ช่วงนั้นก็ประมาณ 6.6 ล้านตัน ดังนั้น ตัวเลขที่เราตั้งเป้าไว้ในปีนี้คือ 6.5 ล้านตัน และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็จะต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ถือว่าน่าเป็นห่วง

ขณะนี้ตลาดข้าวเป็นตลาดที่ค่อนข้างอ่อนไหวมาก ถ้าลูกค้าหันไปซื้อคนอื่นแล้ว สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นตามมาก็คือผู้บริโภคก็จะเริ่มชินกับรสชาติข้าวของคู่แข่งมากขึ้น และในท้ายที่สุดจะกลับมาหรือไม่กลับมันจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งอย่าลืมว่าข้าวไทยราคาสูงกว่าชาวบ้านเขาตลอดในช่วงที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้คนยังยอมจ่าย Premium ที่จะซื้อข้าวไทย เพราะมีคุณภาพที่ดีกว่า แต่ว่า Premium ของข้าวไทย ตรงนี้มันลดลงไปเรื่อยๆ สาเหตุที่ลดเพราะข้าวของประเทศคู่แข่งของเรามีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องของคุณภาพ เรื่องของรสชาติ หรือเรื่องผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น ตรงนี้จึงเป็นช่องว่างเรื่องของราคา Premium ของเราที่เราเคยมีเหนือคู่แข่ง เมื่อก่อนนี้เราเคยขายข้าวชนิดเดียวกันได้ราคาสูงกว่าข้าวเวียดนาม 40-50 เหรียญต่อตัน ซึ่งลูกค้าเขาก็ยังซื้อของไทย แต่ปัจจุบันนี้ ราคาต่างกันแค่ 10 เหรียญเขาก็หันไปซื้อประเทศคู่แข่ง เพราะฉะนั้น เราก็มองว่าไม่ใช่แค่ปีนี้ที่จะลำบาก แต่มันเห็นภาพแล้วว่าในอนาคตถ้าเราไม่ทำอะไร ปล่อยไปอย่างนี้เรื่อยๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการส่งออกข้าวไทยก็จะลดลงไปเรื่อยๆ จาก 6.5 ล้านตัน ก็จะเหลือสัก 6 ล้านตัน ลดลงไปเรื่อยๆ นั่นคือสิ่งที่เราเป็นห่วง

ตอนนี้จะทำอย่างไร ให้ลูกค้ากลับมาซื้อข้าวไทย

คือต้องบอกว่าปีนี้จะทำอะไรก็คงลำบาก เพราะคนไม่มีเงิน กระเป๋ามันฝืด ฉะนั้นปีนี้แน่นอนที่สุดว่าผู้บริโภคก็คงจะต้องซื้อของถูกไว้ก่อนเพื่อประทังชีวิต แต่ในระยะกลางและระยะยาว สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือในเรื่องของการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ซึ่งมันค่อนข้างจำกัด ต้องพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น ยกตัวอย่างข้าวพื้นนุ่ม หรือข้าวที่หุงแล้วนุ่ม มีกลิ่นหอม ซึ่งเราไม่มี ขณะที่เวียดนามเขามีและเป็นที่นิยมในตลาดเอเชียค่อนข้างมาก

ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราจะต้องเริ่มพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้น ทั้งในแง่ของพันธุ์ข้าวที่ตลาดมีความต้องการและต้องเป็นพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง เพราะของไทยต้องบอกว่าผลผลิตต่อไร่ต่ำมากโดยเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 450 กิโลกรัม ในขณะที่เวียดนามผลผลิตต่อไร่โดยเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 960 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งแตกต่างจากเราเกือบครึ่ง ตรงนี้ทำให้ต้นทุนเขาถูก ข้าวเปลือกเขาก็ถูกกว่าเรา ราคาที่เขาขายในตลาดโลกถึงแม้จะขายถูกกว่าเราแต่เขาก็ยังมีกำไร แต่ของเราพอต้นทุนแพง เวลาโค้ดราคาก็ต้องโค้ดแพง ดังนั้นในอนาคตถ้าเราขายของแพง ก็คงไม่ได้แล้ว เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยน รสนิยมต่างๆ เปลี่ยน

สำหรับข้าวไทย ในอดีตทั่วโลกยอมรับ แต่ในปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เพราะมีการพัฒนาในอุตสาหกรรมข้าวในประเทศคู่แข่งของเรามากมาย ในขณะที่เราเองทำในสิ่งเหล่านี้น้อยมาก สังเกตของเราทำอย่างเดียวคือเรื่องของราคา ไม่ว่าจะเรื่องประกัน เรื่องรับจำนำ ไปใช้เงินตรงนั้นหมด ใช้เงินเป็นแสนแสนล้านบาท แต่ว่าไม่ได้ไปดูในเรื่องของพันธุ์ข้าว กำลังการผลิต ตรงนี้คือสิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ที่เรากำลังประสบอยู่ ในขณะที่คู่แข่งของเราค่อนข้างๆ พัฒนาไปได้ไกลมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้าวขาวธรรมดา ข้าวหอม ซึ่งเขาทำได้ค่อนข้างดี ถือว่าน่ากลัวมาก ในส่วนข้าวหอมของเขาปัจจุบันนี้ทั้งเมล็ดยาว Slim หอม แล้วก็นุ่ม อย่างของเราขายข้าวหอมอยู่ตันละ 1 พันเหรียญ แต่คู่แข่งขายอยู่ 600 เหรียญ ทำให้ลูกค้าหายทีละเล็กทีละน้อย มีแต่คนรุ่นเก่าที่มีอายุนิดนึงจะรู้จักข้าวไทย แต่พวก Young Generation พวกอายุ 30-40 ปี เดี๋ยวนี้ข้าวก็คือข้าว ขอให้มันอร่อย อย่างอื่นก็ไม่สนใจ ถ้ากินแล้วโอเค ราคาไม่แพงนัก เพราะฉะนั้นพฤติกรรมของการบริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นถ้าเราไม่วิ่งตามเทรนด์ เราก็คงจะตกรถ และท้ายที่สุดในอนาคตเราก็จะเหลือแค่ปลูกข้าวทานกันเองในประเทศ ส่วนส่งออกแทบจะไม่ได้เลย

55 views

Commenti


bottom of page