top of page
379208.jpg

ศึกหนักส่งออกข้าวไทย...ปัจจัยปัญหาแทรกซ้อน


การส่งออกข้าวของไทยเริ่มมีปัจจัยปัญหาแทรกซ้อน หลังจากยอดส่งออกและราคาส่งออกดีติดต่อมา 3-4 ปี เหตุจากเงินบาทแข็งค่าพรวดพราด สำทับด้วยการกลับมาส่งออกข้าวของอินเดียอีกครั้งโดยตั้งราคาขายต่ำกว่าข้าวไทยตันละเกือบ 100 เหรียญ ผู้ส่งออกข้าวของไทยแพนิก เกรงยอดส่งออกและราคาส่งออกในปีหน้าจะลดลง แต่เมื่อเทียบปัญหาระหว่างการกลับมาส่งออกข้าวของอินเดียกับปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทางผู้ส่งออกกลัวเรื่องเงินบาทแข็งค่ามากกว่า โดยขอให้แบงก์ชาติมีมาตรการที่ทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนขึ้นๆ ลงๆ จนตั้งหลักกันไม่ทัน


Interview : คุณสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด 


ตั้งแต่กรกฎาคมปี 2566 ราคาข้าวดีมาก จนถึงขณะนี้เป็นอย่างไร

           

เป็นสิ่งที่เราคาดคะเนไว้ตั้งแต่ต้นว่าทางอินเดียคงจะต้องมีการเปิดส่งออกข้าวสู่ตลาดโลก เพียงแต่เขาอาจจะเปิดตัวมาค่อนข้างที่จะเกินคาดคิดไปนิดนึง ตัวที่เขาเคยระงับแบนการส่งออกที่เป็นข้าวขาว ครั้งนี้ที่เปิดออกมา พวกเราคิดว่าทางอินเดียอาจจะใช้มาตรการทางภาษีส่งออกเพิ่มเติมมากขึ้น กลับกลายเป็นเขาค่อนข้างจะปล่อยฟรี เมื่อเขาเปิดให้ส่งออกข้าวได้ก็เป็นความตระหนกเล็กๆ ชั่วคราว สำหรับราคาข้าวในปัจจุบันก็เข้าใจว่าเกิดแพนิกสัก 2-3 วัน แต่ขณะนี้ก็กลับมา แต่ก็ไม่ได้ดีเท่าเดิม

 

ทำให้ราคาข้าวลดลงไปขนาดไหน

           

คือเราได้รับผลกระทบตั้งแต่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมา ทำให้ราคาวัตถุดิบจากเดิมที่อยู่ในระดับ 20 บาทบวกลบก็ลงมาจนกระทั่ง 18 บาทบวกลบ แล้วพอมาถึงระยะเวลาที่อินเดียประกาศมาเมื่อปลายเดือนว่าจะส่งออกข้าว ก็มีการลงไปถึง 15 บาทบวกลบ และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2567 ก็กลับมาอยู่ที่ประมาณ 16 บาทบวกลบ ถ้าเทียบครั้งนี้ไม่ค่อยเยอะ แต่ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็เยอะเหมือนกัน จาก 20 บาทบวกลบ ลงมาตอนนี้อาจจะอยู่ที่ 16 บาทบวกลบ เมื่อเปรียบเทียบก็อาจจะลดลงถึง 20% บวกลบประมาณนี้ ก็คือมีค่าเงินบาทเข้ามามีส่วนร่วม และมีนโยบายการส่งออกข้าวของทางอินเดียเข้ามากระทบเพิ่มเติม

 

อินเดียปล่อยข้าวมา จะมีซัพพลายมากน้อยขนาดไหนในตลาด และส่งผลต่อไทยอย่างไร

           

ถ้าเราดูจากระยะเวลาก่อนที่ทางอินเดียจะระงับการส่งออก จริงๆ สถานการณ์ข้าวไทยเริ่มที่จะดีขึ้นมาเรื่อยๆ ใน 4 ปีย้อนหลังผ่านไป ขณะที่อินเดียระงับการส่งออกมาปีกว่าคือช่วงกลางปีที่แล้ว ส่วนบ้านเราดูย้อนหลังไปสัก 3-4 ปี การส่งออกของเราก็กระเตื้องขึ้นมาจาก 6 ล้านตันกว่า เป็น 7 ล้านตันกว่า จนเกือบ 8 ล้านตัน และถึง 8 ล้านตันกว่าๆ ในปีที่แล้ว ก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ

           

สำหรับปี 2567 นี้ ในช่วง 9 เดือนแรกเราส่งออกข้าวไป 7-8 ล้านตันแล้ว ก็ได้รับอานิสงส์จากที่อินเดียไม่ได้ส่งออกข้าวตั้งแต่ปีที่แล้ว ต้องบอกว่าเราก็ออกตัวค่อนข้างดีในช่วง 9 เดือนแรก และมองถึงสิ้นปีว่าเราน่าจะส่งออกได้ถึง 9 ล้านตันบวกลบ ซึ่งช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้อาจจะเริ่มมีประเด็นปัญหานิดหน่อย แต่สำหรับปีนี้ก็ไม่น่าจะวิตกเท่าไหร่ เพราะต้นปีค่อนข้างดี ก็จะมองไปในอนาคตว่าหลังอินเดียกลับมาส่งออกข้าวจะส่งผลกระทบหรือไม่ ก็แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบแน่ เพราะว่าราคาข้าวของอินเดียปกติแล้วราคาต่อตันต่ำกว่าไทยประมาณหนึ่ง และปริมาณข้าวเขาค่อนข้างเยอะเพราะผลผลิตของเขาปีนี้ค่อนข้างดี มีสต๊อกในประเทศเยอะ ค่อนข้างเพียงพอ เขาก็เลยประกาศยกเลิกระงับการส่งออกของเขา ก็กระทบเรากับเวียดนามที่เป็นระดับที่ 2 และที่ 3 อยู่ทั้งคู่

 

ออร์เดอร์ที่มีอยู่ เป็นการซื้อขายล่วงหน้าอยู่แล้ว

           

ปัจจุบันตอนนี้การส่งออกล่วงหน้าหรือการรับออร์เดอร์ล่วงหน้ามันลดลง ออร์เดอร์ของเราโดยส่วนใหญ่น่าจะล่วงหน้าแค่เดือนสองเดือน ไม่ได้เกินนี้สักเท่าไหร่ แต่คิดว่าทางด้านผู้ซื้อ ผู้ส่งออก คงจะกลัวว่าราคาข้าวจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น พอรับออร์เดอร์แล้วทุกคนก็สต๊อกและมีของอยู่ในมือแล้วเพื่อจะส่งออกกับออร์เดอร์เดิม พอต้องการรับออร์เดอร์ใหม่แล้วมีข่าวว่าทางอินเดียส่งออก ก็อาจจะทำให้กระทบได้ทันที ไม่น่าจะไปยาว ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งซัพพลายเชนเขาจะรู้ดี พอถึงเวลาปุ๊บ อินเดียเขาประกาศ ก็มีแพนิกกันขึ้นมา แต่ตอนที่แพนิก มันแพนิกโอเวอร์ไปนิดนึง

           

อย่างไรก็ตาม ช่วงราคาระหว่างข้าวไทยกับอินเดีย อยู่ในระดับหนึ่ง ว่าเราน่าจะขายได้ แข่งขันได้ ในช่วงราคาที่เราสูงกว่าอินเดียอยู่ระดับหนึ่ง

 

ถ้าตีเป็นดอลลาร์ ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่เท่าไหร่

           

จริงๆ ทางอินเดียเขาประกาศ Minimum Export Price ที่ 490 เหรียญ ซึ่งช่วงที่เขาประกาศ 490 เหรียญ เราขายอยู่ที่ประมาณ 580 เหรียญ คือตอนนี้ถ้าราคาเราสูงกว่าเขา 40-50 เหรียญก็ยังน่าจะพอได้ แต่ถ้ามีการแข่งขันที่กลับไปเป็นเหมือนในอดีต ราคาข้าวของเราน่าจะอยู่ที่ประมาณ 530-540 เหรียญ แต่ทั้งนี้ทุกอย่างต้องดูที่ลูกค้า ดูความต้องการของลูกค้าด้วย

           

ปัจจุบันในปีที่ผ่านมา ลูกค้าหลักของไทยน่าจะเป็นอินโดนีเซีย ซึ่งอินโดนีเซียเพิ่งจะเปิดประมูลไปไม่นาน แล้วก็สรุปกันไป ตัวราคาก็ไม่ค่อยถูก เพราะเดิมปากีสถาน เมียนมา ในล็อตที่ผ่านมาค่อนข้างที่จะได้รับไปค่อนข้างเยอะกว่าไทย คือตลาดเขามองรู้อยู่แล้วว่าต้องระมัดระวังว่าอินเดียจะเปิดตลาดออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ เราก็รู้กันมา

 

เรื่องอินเดียเปิดตลาดส่งออกข้าวที่ผู้ส่งออกน่าจะรู้กันอยู่แล้ว กับเรื่องเงินบาทที่แข็งค่า ในความเป็นจริงผู้ส่งออกกังวลเรื่องค่าเงินบาทมากกว่าหรือไม่

           

น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะถ้าเป็นค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ต้องบอกเราคุยกันที่ 36 บาทก็แล้วกันบวกลบในช่วงเวลา 3-4 เดือน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 32 บาทบวกลบ แข็งค่ามาเกือบ 20% จากต้นปีที่อยู่ที่ 34 บาทบวกลบ แค่เวลา 3 เดือนเงินบาทเราก็แข็งค่าขึ้นมา 10-20% แล้วก็ยังทยอยแข็งค่าขึ้นมาเรื่อยๆ

 

อยากเห็นแบงก์ชาติทำอะไรบ้าง

           

จริงๆ แล้วเราก็อยากเห็นความมีเสถียรภาพของค่าเงินบาท ตอนนี้คิดว่าผันผวนมากเกินไป ช่วงที่เงินบาทอ่อนเกินไปไม่ใช่ว่าเราจะชอบ แต่พอแข็งค่ามากเกินไปก็ไม่ดีต่อออร์เดอร์ใหม่ พออ่อนเกินไปลูกค้าก็อาจจะรู้สึกว่าเขาซื้อแพงไป และตอนนี้มันแข็งค่าเกินไป เขาก็เริ่มวิตกกังวลอยู่เหมือนกันว่าเราเองจะแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ ถ้าบาทอ่อนก็จะมีปัญหากับลูกค้า พอบาทแข็งก็มีปัญหาในเรื่องแข่งขัน

           

ดังนั้น ในความเป็นจริง ควรจะให้เงินบาทมีเสถียรภาพมากหน่อย ดีกว่าจะให้วิ่งขึ้นวิ่งลง แต่เราก็เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้นโยบายค่าเงินของเราเป็นค่าเงินลอยตัว แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะลดความผันผวนได้มากกว่านี้เท่านั้นเอง

 

เห็นว่าทางทีมหอการค้าจะขอเข้าไปพบกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คุณสมเกียรติจะเข้าไปพบด้วยหรือไม่

           

ถ้ามีโอกาสก็อาจจะได้เข้าไป ขณะที่เรื่องส่งออกข้าวปีนี้ไม่น่าจะขี้เหร่ และน่าจะเป็นอันดับ 2 ของโลก เพราะต้นทุนเรามาดี ส่วนปีหน้ายังต้องเตรียมตัว ยังเป็นอนาคต เราก็อย่าวิตกกังวลมากเกินไป เชื่อว่าภาคเอกชนเองก็คงจะมีแนวทางในการรับมือพอสมควร ก็เป็นการคาดการณ์ว่าจะมีความยากลำบากมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้เป็นปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งภาคเอกชนไทยเราก็พยายามเต็มที่ที่จะรักษาตลาดส่งออกเอาไว้

 

4 views

Comments


bottom of page