top of page
379208.jpg

ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 & ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอ


วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office


วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 6  – 10 เม.ย. 2563



ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30มี.ค. – 3เม.ย.) ตลาดหุ้นโลก เคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจาก ความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19นอกประเทศจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง โดยได้รับแรงกดดัน หลังทำเนียบขาว ออกรายงานคาดการณ์ว่า ชาวอเมริกันอาจเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 สูงถึง100,000-240,000ราย ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจรุนแรงขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า นอกจากนี้ ยังได้รับแรงกดดันจาก ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึง ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ที่ปรับลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2009 แม้ว่าดัชนีฯ จะได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 วงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ก็ตาม ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับลดลง เนื่องจาก ความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึง ผู้ผลิตรถยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 1/2020 ปรับลดลงอยู่ในระดับติดลบ เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี จากความกังวลจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สำหรับตลาดหุ้นไทย ปรับเพิ่มขึ้น นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และความคาดหวังต่อมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจไทยชุดที่ 3 ด้านราคาน้ำมันดิบ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจาก ความคาดหวังเชิงบวก หลังประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความ ระบุว่า ได้มีการหารือกับซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย โดยเชื่อว่า ทั้ง 2 ประเทศ จะสามารถบรรลุข้อตกลงในการยุติการทำสงครามราคา และหวังว่าทั้ง 2 ฝ่าย จะปรับลดกำลังการผลิตร่วมกัน 10-15 ล้านบาร์เรล


มุมมองของเราในสัปดาห์นี้


ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน และได้รับแรงกดดันจาก ความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้จะมีการประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น มาตรการปิดเมือง (Lockdown) และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นต้น โดยนักลงทุนกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจในบางประเทศ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค อย่างไรก็ดี ตลาดฯ อาจได้รับแรงหนุนบางส่วน หลังธนาคารกลาง และรัฐบาลของหลายประเทศ ได้ออกมาตรการทางการเงิน และการคลัง เพื่อบรรเทาผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน ซึ่งรวมถึง การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาและลดความตึงตัวเกี่ยวกับสภาพคล่องของดอลลาร์ (USD Liquidity) ในตลาดการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ ตลาดฯ อาจได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น จากความคาดหวังว่า กลุ่มโอเปก และประเทศพันธมิตร นำโดยรัสเซีย จะสามารถบรรลุข้อตกลงในการยุติการทำสงครามราคา และสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน โดยจะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 9 เม.ย. นี้ ด้านตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนบางส่วนจาก ความคาดหวังเม็ดเงินลงทุนจากกองทุนลดหย่อนภาษี SSF แบบพิเศษ และมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 3 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้


เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

· ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป

· การประชุมคณะรัฐมนตรีของไทย (7 เม.ย.) ในประเด็นการพิจารณาออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจไทยชุดที่ 3 เพื่อดูแลประชาชน ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

· รายงานการประชุม Fed (8 เม.ย.) คาดว่า ถ้อยแถลงของ Fed ยังบ่งชี้ถึง การดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย สอดคล้องกับ มาตรการต่างๆ ที่ทยอยออกมาเพิ่มเติมต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากต่อเศรษฐกิจ และสภาพคล่องที่ตึงตัวในตลาดการเงิน

· ติดตามการประชุมระหว่างกลุ่มโอเปก และประเทศพันธมิตร ในการหารือประเด็นการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน (9 เม.ย.)


ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

  • ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จีน และไทย, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และจำนวนคนที่ยื่นของรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ, ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี อิตาลี และอังกฤษ, ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของเยอรมนี

  • เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19, การประชุมครม.ของไทย, รายงานการประชุมของ Fed และการประชุมระหว่างกลุ่มโอเปก และประเทศพันธมิตร

16 views

Kommentare


bottom of page