Interview : คุณเวทย์ นุชเจริญ
อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย
ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ SME และธุรกิจรายย่อย
‘ซอฟต์โลน’ รอบก่อนไม่เข้าเป้า ช่วยไม่ตรงจุด คนไม่จำเป็นต้องกู้...ได้กู้ คนจำเป็นต้องกู้...กู้ไม่ได้ ซอฟต์โลนรอบใหม่แบงก์ชาติเริ่มจับทางได้ คลายกฎเกณฑ์ เพิ่มวงเงินให้กู้ แถมจ่ายดอกเบี้ยให้แทนอีก 6 เดือน แต่ยังมีจุดอ่อนตรงให้ บสย.ร่วมค้ำเงินกู้ทุกราย ซึ่งผู้กู้หลายรายมีหลักประกันพอไม่จำเป็นต้องให้ บสย.ค้ำ ต้องพลอยเสียค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ บสย.ไปเปล่าๆ ปลี้ๆ แถมแบงก์ยังยึดกฎเหล็กการปล่อยกู้ ไม่ปรับเกณฑ์การปล่อยกู้ให้เข้ากับสถานการณ์ที่วิกฤต ทำให้การปล่อยกู้ยากเหมือนเดิม แบงก์ชาติควรมีมาตรการพิเศษทำให้แบงก์กล้าปล่อยกู้ได้โดยมั่นใจมากขึ้น ส่วนการโอนทรัพย์ชำระหนี้มีกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม น่าจะช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องสภาพคล่องได้ แต่ท้ายที่สุดจะมีปัญหาตั้งแต่การประเมินราคาหลักทรัพย์ ไปจนถึงตอนครบสัญญาว่าผู้ประกอบการจะแข็งแรงพอที่จะขอซื้อทรัพย์ที่เป็นหลักประกันคืนได้หรือไม่ เน้น...ทางลัด ทางรอด รัฐต้องช่วย SME โดยเร็วอย่างจริงจัง SME รอดเมื่อไหร่ GDP ไทยโตได้เมื่อนั้น
วิกฤตต้มยำกุ้งครั้งนี้มีอัศวินขาวคือของธนาคารกรุงไทย เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ SME ไม่ล้ม ต่างกับวิกฤตครั้งนี้ที่ซอฟต์โลนไม่ถึงมือ SME กู้ยากกู้เย็น ปัญหาอยู่ตรงไหน
ย้อนถึงโครงการอัศวินม้าขาวเป็นโครงการที่ธนาคารกรุงไทยดำเนินการ เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จุดแข็งของกรุงไทยคือเรามีสาขาเยอะมาก 1,000 กว่าสาขา และมีสำนักงานธุรกิจทั่วประเทศ 60-70 แห่ง เป็นหน่วยงานปล่อยสินเชื่อเกิน 20 ล้านขึ้นไปถึง 200 ล้าน ทำให้เราสนองตอบลูกค้าได้ทั่วประเทศ และปล่อยกู้ให้ลูกค้าหลายรายเป็นแสนล้านบาท ตอนหลังแบงก์อื่นก็ปล่อยตามเราที่เป็นลีดอยู่ตอนนั้น
วิกฤตครั้งนี้ แก้แบบครั้งก่อนได้ไหม
โครงการนั้นก็มีจุดอ่อนหลายด้าน ถ้าเราสรุปบทเรียนตอนนั้นมาทำตอนนี้จะง่ายมากยิ่งขึ้น ตอนที่เกิดโควิดใหม่ๆ ตรงนั้นถ้าเทียบความรู้สึกของผมคือรุนแรงน้อยกว่าตรงนี้เยอะ คนเจ็บ คนป่วย คนตาย น้อยมาก ซึ่งเงินซอฟต์โลนก้อนนั้นเยอะพอสมควร ถ้าหากบริหารดีผมว่าจะทำให้ SME ฟื้นตัวได้ตั้งแต่ตอนแรกเลย แต่จากประสบการณ์ผมคือ แบงก์ รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย เวลามีโครงการลักษณะนี้ขึ้นมาจะเอาใจรัฐบาล แต่ละสัปดาห์หรือเดือนจะรายงานยอดว่าแบงก์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่การปล่อยสินเชื่อก็ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ เขาถูกฝึกมาว่าปล่อยกู้แล้วต้องได้รับคืน เขาจะเลือกลูกค้าดีมาปล่อยสินเชื่อ ส่วนที่ลูกค้าที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่มีทางเข้ามาได้เลย ลูกค้าดีๆ หลายรายเขาก็ไม่อยากได้เงินกู้และไม่อยากขยายธุรกิจอะไร เพราะโควิดระบาด แต่ลูกค้าที่ขอสินเชื่อตอนนั้นที่ยอดมันเริ่มสูงขึ้น เพราะเขามาใช้วงเงินที่มีดอกเบี้ยต่ำ 2% เพื่อเอามาลดสินเชื่อเดิมที่มีดอกเบี้ยแพง จึงไม่ค่อยกระตุ้นอะไรเลย แต่เป็นการลดภาระของผู้ประกอบการได้เล็กน้อย อันนี้ก็เป็นสาเหตุนึง
ครั้งนั้นแบงก์กำหนดหลักเกณฑ์ค่อนข้างเยอะ outstanding ไม่เกิน 20% ของวงเงินเดิม ซึ่งมันนิดเดียว อันที่ 2 ต้องเป็นลูกค้าที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินมาก่อน คนที่ไม่ใช่ลูกค้าเก่าก็ไม่สามารถเข้าถึง ทำให้การช่วยเหลือไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร เพราะลูกค้าที่ได้รับการช่วยเหลือส่วนนึงไม่ใช่ลูกค้าที่เดือดร้อนที่แท้จริง ส่วนลูกค้าที่เดือดร้อนจริงเวลาเข้าไปติดต่อแบงก์จะผ่านยากมาก
ถึงตอนนี้ลำบากกันหมด
ผมคิดว่าเมื่อเดือนเมษายนช่วงสงกรานต์สถานการณ์ตอนนั้นไม่รุนแรงเหมือนปัจจุบันนี้ คนเสียชีวิตจากโควิดยังน้อยเพราะเพิ่งจะเริ่มติดจากผับทองหล่อนิดหน่อย แบงก์ชาติก็อยากจะช่วย SME โดยสรุปบทเรียนที่ผ่านมา โดยสิ่งที่เขาเปลี่ยนเลย 1. แทนที่จะให้ 20% ก็ให้ 30% วงเงินเพิ่มขึ้นมานิดนึง 2. ลูกค้าที่ไม่เคยมีวงเงินกับสถาบันการเงินก็กู้ได้ในวงเงิน 20 ล้านบาทสำหรับลูกค้าใหม่ ลูกค้าที่ได้รับสินเชื่อคราวนี้เป็นลูกค้าที่มีวงเงินก็ไม่เกิน 500 ล้าน สมมติหนี้คงค้าง 500 ล้าน 30% คือ 150 ล้าน จะกู้ได้สูงสุด 150 ล้าน อันนี้ผมอิงจากประกาศแรกของแบงก์ชาติเกี่ยวกับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ แล้วแบงก์ชาติยังยืดหยุ่นให้อีกด้วยคือ 6 เดือนแรกแบงก์ชาติจ่ายดอกเบี้ยแทนให้ลูกค้าโดยเอางบมาช่วย คือฟรีดอกเบี้ย แล้วที่สำคัญคือแบงก์ชาติคิดดอกเบี้ยกับแบงก์พาณิชย์ 0.01 และให้คิดกับลูกค้าไม่เกิน 5% เท่าที่ผมทราบคือ 2 ปีแรกคิด 2% ไปหักกับต้นทุน 0.01 ซึ่งแบงก์พาณิชย์ยังมีกำไร
ที่สำคัญคือคราวนี้แบงก์ชาติกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่คือการค้ำประกันด้วย บสย. เดิม บสย.เป็นหน่วยงานที่ค้ำประกันกับลูกค้าทั่วไป ที่ผมเข้าไปช่วยงาน บสย.อยู่ค้ำได้ไม่เกิน 100 ล้าน คือแต่ละรายห้ามเกิน 100 ล้าน แต่คราวนี้เขาเพิ่มวงเงินจากเดิม 100 ล้านเป็น 150 ล้าน ก็เป็นประกาศฉบับแรกที่เสริมสภาพคล่อง และที่สำคัญลูกหนี้ที่จะขอสินเชื่อต้องเอายอด outstanding เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มากำหนดเกณฑ์ในการให้สินเชื่อแล้วต้องไม่เป็นหนี้ NPL ณ ธันวาคม 2562 คือถ้าเป็น NPL ก่อนหน้านั้นจะกู้ไม่ได้ เข้าใจว่าหลังจากปี 2562 เป็น NPL เพราะพิษโควิด อันนี้ก็เป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้โดยที่แบงก์ชาติพยายามให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อตัวนี้เพื่อไปสนับสนุนลูกหนี้ที่ขาดสภาพคล่อง
เรื่องสินเชื่อ warehousing
ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่เราเคยได้ยินกัน คือ warehousing ตัวสนับสนุนสินเชื่อเขาให้ 2.5 แสนล้านบาท แต่ตัว warehousing เขาให้ 1 แสนล้าน สมมติเอาทรัพย์สินมาประเมินราคาแล้วโอนทรัพย์ชำระหนี้ โดยที่รัฐบาลจ่ายเงินมาให้แบงก์ไปชำระหนี้ สมมติชำระไม่หมดก็ปรับโครงสร้างหนี้ว่าจะหมุนเวียนอย่างไร ทำบัญชีอย่างไรคราวนี้เขาให้สิทธิพิเศษคือ เวลาโอนซึ่งครบกำหนดโอนคืนเขาไม่คิดค่าธรรมเนียม ระยะเวลาในการโอนทรัพย์ชำระหนี้เขาให้อย่างน้อย 3 ปีถึง 5 ปี เวลารับโอนคืนแบงก์พาณิชย์จะกำหนดราคารับโอน ภาษาไทยเรียกว่าค่าดูแลรักษา 1% บวกค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อครบกำหนดก็เอาราคานี้เป็นราคารับโอนเลย โดยที่ระหว่างรับโอนผู้ประกอบการ 1. ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพราะไม่มีภาระหนี้ 2. สามารถเช่าหลักทรัพย์นั้นเพื่อดำเนินกิจการต่อได้ ก็เป็นสิ่งที่แบงก์ชาติพยายามยืดหยุ่น พอครบ 5 ปี ถ้าท่านยังไม่สามารถโอนคืนได้ เขาก็พิจารณาว่าจะต่อสัญญาหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องของอนาคต แล้วค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็ฟรีหมด พอครบ 5 ปีลูกหนี้ใช้สิทธิ์ซื้อคืนได้ โดยต้องแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ทราบภายใน 5 วันก่อนหมดสัญญา ถ้าลูกหนี้ไม่แจ้งภายใน 5 วัน แบงก์สามารถขายคืนให้กับคนอื่น
เรื่องพักทรัพย์ชำระหนี้นี้เป็นเรื่องใหม่ แต่เรื่องโอนทรัพย์ชำระหนี้เป็นเรื่องที่แบงก์พาณิชย์ในอดีตทำมาเยอะ ถ้าสมัยผมอยู่แบงก์ก็ทำมาเยอะ ถ้าลูกหนี้ไม่ไหว มีหนี้เยอะ ก็ประเมินราคา แล้วกำหนดราคาขั้นต่ำเอาไปหักหนี้ เขาก็สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่การโอนทรัพย์ชำระหนี้ของแบงก์ในอดีตนั้นค่า caring cost ไม่ถูกเหมือนคราวนี้ที่แบงก์ชาติคิดแค่ 1% สมมติครบ 3 ปีจะซื้อคืนหลักทรัพย์ ในอดีตลูกหนี้สามารถมาซื้อคืนได้ตามที่ตกลงกับธนาคาร ถ้า 3 ปีเขาไม่สามารถซื้อคืนได้ก็สามารถขายคนอื่นได้ แต่สิ่งที่มันแย่คือ ในอดีตลูกหนี้ที่ลำบากจริงๆ มาซื้อคืนไม่ได้หลายรายก็มาปรับโครงสร้างหนี้ ซื้อคืนอย่างไรก็ได้ หรือตกลงกันไว้ 100 บาท แต่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูง แล้วมีคนภายนอกมายื่นซื้อเกินกว่า 100 บาท เขาก็จะให้เจ้าของซื้อคืนเกิน 100 บาทได้ ก็เป็นสิ่งที่ลูกค้าในอดีตไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่ แต่คราวนี้มันต่างกับการโอนทรัพย์ในอดีตตรงที่แบงก์ชาติกำหนดเลยว่าห้ามคิดเกิน 1% สมมติ 100 บาท บวก 1% ที่จะมาซื้อคืน และค่าเช่าที่ลูกหนี้จ่ายในระหว่างที่เช่าก่อนที่จะมาซื้อคืนนั้นก็สามารถนำมาหักลดยอดหนี้ได้ก็เป็นสิ่งที่แบงก์ชาติยืดหยุ่น
ที่ผมเล่ามามี 2 ส่วน ส่วนแรกคือการเสริมสภาพคล่อง 2.5 แสนล้าน โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ 26 เดือนเมษายนที่ผ่านมา นับถึงตอนนี้ก็ 1 เดือน กระบวนการในการดำเนินการคือลูกค้าเดินเข้ามาจะมาขอเสริมสภาพคล่อง แบงก์อนุมัติแล้วส่งไปแบงก์ชาติตรวจอีกทีนึง พอแบงก์ชาติอนุมัติก็ส่งไปที่ บสย.แต่ละรายใช้เวลาเกือบ 1 เดือน คิดว่ามันนานไปสำหรับความรู้สึกของผม ก็คิดว่าแบงก์ชาติคงมองหาวิธีการที่จะแก้ไขจุดนี้อยู่
แต่อีกตัวซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีปัญหาคือการโอนทรัพย์ชำระหนี้ ซึ่งโครงการเริ่มมาแล้ว 1 เดือน แต่ขั้นตอน 1 เดือนที่ผ่านมาผมคิดว่าไม่ทันกาล
ปัญหาคืออะไร
ผมขอพูดถึงการสภาพคล่องก่อนว่าทำไมลูกหนี้ถึงไม่แฮปปี้กับเรื่องนี้ คือคราวนี้แบงก์ชาติไปกำหนดหลักเกณฑ์ว่าลูกหนี้ทุกรายที่มาขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องต้องให้ บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงิน อย่างลูกค้าบอกตึกผมราคา 100 ล้าน ผมเป็นหนี้ 40 ล้าน ผมขอกู้แค่ 30% แล้วจะให้ บสย.ค้ำทำไม เพราะธนาคารเดิมก็ค้ำอยู่แล้ว พอ บสย.ค้ำเขาต้องเสียค่าค้ำประกัน 2 ปีแรกร้อยละ 1.75 ก็เป็นภาระที่เพิ่มขึ้น หลังจากนั้นเพิ่มเป็น 3.5 ซึ่ง บสย.ก็มีภาระในการให้รัฐบาลช่วยเหลือในเบื้องต้นให้อยู่รอดก่อน อันนี้เป็นสาเหตุนึงที่ทำให้ไม่เติบโต ยอดยังไม่มากเท่าที่ควร อันนี้เป็นปัญหาที่ต้องให้แบงก์พาณิชย์เขาจัดการว่าถ้าหลักประกันเขาคุ้ม ไม่ต้องให้ บสย.ค้ำประกันได้ไหม ซึ่งมันเกินความสามารถของผมที่จะให้ได้ ก็เป็นปัญหานึงที่ทำให้ยอดสินเชื่อตัวนี้ไม่เติบโตเท่าที่ควร และที่สำคัญยอดหนี้เดือนกุมภาพันธ์ ถึงแม้ลูกหนี้บางรายเป็นหนี้ NPL ล้มลุกคลุกคลานมาก่อนธันวาคม 2562 ปรับโครงสร้างหนี้ แก้ไขหนี้ เหมือนคนป่วยต้องไปโรงพยาบาล เหมือนต้องไปหาแบงก์ตลอด ถ้าศักยภาพเขาสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ก็เป็นความเห็นของแบงก์ช่วยให้ลูกค้ากลุ่มนี้เติบโตได้
ประเด็นที่ 3 เป็นอุปสรรคสำคัญ จากประสบการณ์ผมที่ได้คุยกับพรรคพวกหลายๆ แบงก์ที่ทำสินเชื่อคือ คราวที่แล้วโควิดรอบแรกเขามีการรวบรวมลูกหนี้เป็นกลุ่ม แล้วไปขอบอร์ดทีเดียวในหลักเกณฑ์เดียว แต่ที่เยอะคือลูกหนี้ที่ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ แต่คราวนี้เขาไม่ทำแบบนั้น เขาพิจารณาลูกหนี้แต่ละราย สมมตินาย ก. มาขอสินเชื่อ เขาก็จะพิจารณาวิเคราะห์แบบสินเชื่อตามปกติ แต่สถานการณ์แบบนี้วิเคราะห์แบบปกติไม่ได้ ซึ่งผมก็เห็นใจเขาว่าตัดสินใจลำบากพอสมควร มันต้องมีอะไรมายืดหยุ่นตรงนี้ให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้ และที่สำคัญคนที่จะมาปล่อยสินเชื่อเขาไม่ได้เปลี่ยน เพราะแบงก์ชาติดีไซน์ว่านอกจากมีหน่วยปล่อยสินเชื่อแล้วจะต้องมีหน่วยบริหารความเสี่ยงมาช่วยคอมเมนต์ลูกหนี้แต่ละรายก็เข้ามาจะคอมเมนต์เยอะมาก กว่าจะผ่านแต่ละรายได้ก็เรื่องเยอะ
ผมว่าควรมีกระบวนการอะไรที่ทำให้รวดเร็วมากกว่านี้ หรือแบงก์ชาติมีอะไรออกมาสร้างความอุ่นใจให้แบงก์พาณิชย์บ้าง บอกได้เลยว่าสินเชื่อในเมืองไทยจากประสบการณ์ที่ปล่อยสินเชื่อมา 40 ปี สมัยก่อนคือไม่มีที่ดิน ไม่มีบ้าน กู้ไม่ได้ เราต้องมีหลักประกันมา แต่เมืองนอกเขาดู cash flow ผมคิดว่าจริงๆ ถ้าผมเป็นรัฐบาลอาจจะกำหนดอะไรให้แบงก์พาณิชย์อุ่นใจว่าหนี้ที่ผ่านโครงการนี้รัฐบาลรับผิดชอบเลย 100% อย่างน้อยถ้าหักกลบลบหนี้กับหลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้วมันเกินคุ้ม แต่ตอนนี้มีเรื่องที่เป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถทำให้การปล่อยสินเชื่อตัวนี้ขยายเพิ่มได้ทันกับสถานการณ์ที่ลูกหนี้เดือดร้อนได้
ตอนนี้ไม่ทันกาลแล้ว
ตอนนี้ไปดูธุรกิจบางธุรกิจ ผมใจหาย มันเงียบหมด ใครเปิดร้านค้าต้องตัดสินใจปิดเพราะมันไปไม่ไหวจริงๆ อาจจะมีบางธุรกิจได้ประโยชน์จากโควิดอย่างบริการด้านสุขภาพ ทางการแพทย์ อาหาร ดิลิเวอรี อาจจะได้ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่คิดว่าลำบากพอสมควร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้คนเจ็บตัวเยอะ ยอด NPL สิ้นไตรมาสน่าจะมีเยอะมาก มันน่าเป็นห่วง จากที่เคยคลุกคลีกับลูกค้ามาเยอะและที่สำคัญถ้าไปฝากความหวังกับแบงก์ สมมติ SME Bank ยืดหยุ่นเวลาเขาพิจารณาเขาก็จะดูงบประกอบ แต่ถ้าเป็นแบงก์ทั่วไปยังใช้เครื่องมือสินเชื่อแบบเดิม พอเราเข้าไปก็เด้งหมด ก็ต้องคิดแก้ไขทั้งระบบ
ตอนนี้นอกจากคิดให้ชีวิตอยู่รอดโควิดแล้วยังต้องคิดถึงในอนาคตข้างหน้า ต้องมารักษาลูกค้ากลุ่มนี้ วันนี้มี NPL เท่าไหร่ มีลูกหนี้ฆ่าตัวตายกี่ราย ถ้ายังไม่มีมาตรการมาแก้ไข ผมว่ามันยังไม่ดี เวลาการโอนทรัพย์ชำระหนี้ เวลาประเมินราคาแต่ละราย กว่าจะตกลงกันได้ ผมว่าแค่ราคารับโอนก็คุยกันเหนื่อยแล้ว และที่สำคัญตอนนี้ลูกหนี้เขาไม่มั่นใจว่าพอครบ 5 ปีแล้ว เขาจะซื้อคืนได้ไหม เขาจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อคืนเพราะในระเบียบระบุลูกหนี้หาเงินมาซื้อเองก็ได้ หรือกู้ธนาคารมาซื้อคืนก็ได้ ผมคิดว่าในอีก 5 ปีเขาก็ไม่แน่ใจ อย่างลูกหนี้บางรายมีหลักประกัน 100 ล้าน แต่หนี้เขา 80 ล้าน เขาจะเสียหลักประกันเลยไหม หรือหาคนมาซื้อหนี้ไม่ได้ ไม่มีเงินซื้อ เขาจะทำอย่างไร อันนี้เป็นปัญหา และที่สำคัญการกำหนดคนจะโอนทรัพย์ชำระหนี้ได้ต้องไม่เป็น NPL ก่อนเดือนธันวาคม 2562 คนที่ไม่เป็น NPL อยู่มาได้เขาไม่โอนแน่ เขาแข็งแกร่งพอถึงอยู่รอดมาได้ มันควรมีอะไรบางอย่างเช่นเขาล้มลุกคลุกคลานมาเป็น NPL ก่อนปี 2562 แต่ธุรกิจเขายังพอไปได้ จะช่วยอะไรเขาได้บ้าง
เพราะความจริงคือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจก่อนโควิดอยู่แล้ว แล้วมาถูกซ้ำด้วยโควิดในปี 2563-2564
มันต้องคิดถึงปัจจัยอื่นด้วย SME บ้านเราลำบากเยอะมาก เวลาผมเขียนบทความหรือคุยกับผู้ใหญ่ก็อยากให้มีโครงการตรวจหนี้นอกระบบ SME ที่เสียดอกเบี้ยสูงๆ แล้วยังอยู่ได้ พวกนี้เก่งมาก จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน เท่ากับ 24% ต่อปี ถ้ารัฐบาลช่วยเลย บินแบบโดรนเลย ช่วยกระจายโดยไม่ต้องคิดดอกเบี้ยเขา มาช่วย SME เพราะแต่ละ SME มีลูกน้อง 40-50 คน ถ้า SME อยู่รอดก็สามารถทำให้ GDP โตได้ แต่บางคนอาจจะมองว่าเป็นวิธีคิดที่ล้าหลังก็ได้
Comments