Q2 ตลาด Sideway ออกข้าง
ชี้ 3 ปัจจัยครอบงำตลาด
หุ้นดีที่สุดแต่ห้ามถือนาน
ธนากร มนูญผล รองกรรมการผู้อำนวยการหน่วยงานกรุ๊ป อินเวสท์เมนท์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แนะเฝ้าดู 3 เรื่องสำคัญ 1. กรณีรัสเซีย-ยูเครน 2.เงินเฟ้อ 3. Stagflation โดยให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นดีที่สุดภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ แต่ไม่แนะนำให้กอดหุ้นไว้นาน ขณะเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาเป็นเงินร้อน หากเกิดภาวะ sale off จากความไม่ปกติให้ขายก่อนแล้วเลือกรับหุ้น value Stock ที่กรอบล่าง ส่วนทองคำอยู่ในภาวะผันผวนสูงสามารถลงทุนเพื่อกระจายพอร์ตได้แต่อย่าเกิน 5%
สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน มาถึง 2 สัปดาห์แล้ว ช่วยวิเคราะห์ว่าจากนี้จะออกมาอย่างไร จะยืดเยื้อหรือแตกหัก และมีผลกระทบอย่างไร
เป็นช่วงที่มีหลายเหตุการณ์ที่ต้องโฟกัส เรื่องใหญ่คือต้องยอมรับว่าถึงวันนี้ถือว่ายืดยาวกว่าคนส่วนใหญ่คิดแต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นและตลาดมีปฏิกิริยาตอบรับกับข่าวนี้มากๆ
อยากจะไฮไลท์ 2-3 เรื่อง เรื่องแรก ยูเครน เรื่องที่ 2 สถานการณ์เงินเฟ้อ เพราะจะโยงไปถึงราคา สินค้าโภคภัณฑ์ Commodity อย่างราคาน้ำมัน เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดและผมให้น้ำหนักในรอบ 1-2 ปีนี้นั่นคือเรื่องภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน หรือ Stagflation (ผสมโรงทั้งภาวะ Stagnation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือไม่ขยายตัว กับ Inflation คือภาวะเงินเฟ้อ ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น)
เริ่มที่เรื่องยูเครน ต้องบอกว่าถึงตอนนี้โดยพัฒนาการนับตั้งแต่รัสเซียบุกมีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยผู้นำยูเครนบอกว่าพร้อมถอนการเข้าร่วมนาโตออกแล้ว ทางปูตินก็ส่งสัญญาณพร้อมคุยเพิ่มเติม ทางชาติตะวันตกยังกดดันต่อเนื่องในเรื่องการคว่ำบาตรต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่าตลาดวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคมที่มีข่าวนี้ได้รีบาวด์กลับขึ้นมาเร็วแต่ก็ปรับลดลงไปอย่างรวดเร็วทั้งยุโรปและอเมริกาหลังจากที่อเมริกาออกมาประกาศจะคว่ำบาตรสินค้ารัสเซียเพิ่มเติม
ทำไมอเมริกาถึงกล้าคว่ำบาตรทั้งๆ ที่รัสเซียมีสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญหลายอย่างของโลก ปุ๋ย น้ำมัน อลูมิเนียม ทองแดง พาลาเดียม วัสดุสำคัญกับเทคโนโลยียุคใหม่เช่น EV จะส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตทุกอย่าง ต้นทุนจะสูงขึ้น ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมีผลทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย เงินเฟ้อที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากราคาน้ำมันหรือสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาอาหารที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง ที่อเมริกากล้าแซงชั่นเพราะอเมริกาพึ่งแหล่งที่มาของน้ำมันจากรัสเซียเพียงแค่ 1.4% เช่นเดียวกับจีนที่ไม่ได้พึ่งพลังงานจากรัสเซียเท่าไหร่ จริงๆ แล้ว 84% ของยอดการส่งออกพลังงานรัสเซียอยู่ที่ยุโรป ดังนั้นที่จะเดือดร้อนมากกว่าคือยุโรป กลายเป็นว่าการเมือง push and pull พอสมควร
พอมาดูฝั่งตลาดหุ้นที่ลงมาเร็วมาก เรียกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นของอเมริกาลดลงมา 10% กว่า ซึ่งไม่ได้เห็นภาพแบบนี้มานานมากแล้ว ล่าสุดที่เห็นคือปี 2018 แต่สถิติอันหนึ่งที่โกลด์แมน แซคส์ ออกมาพูดน่าสนใจ คือทุกๆ ครั้งที่เห็นการปรับตัวลงของตลาดหุ้นอเมริกาเกิน 10% ในภาวะที่ไม่มีภาวะ
เศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ตามมา ส่วนใหญ่หุ้นจะรีบาวด์ ในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งที่ตลาดหุ้นลงจากปัจจัยลบแรงๆ ครั้งแรกปี 1962 ต่อมาปี 2011 และ 2018
ดังนั้นมาในรอบล่าสุดนี้จากกรณีรัสเซีย-ยูเครน ถ้าตลาดลงไปเป็น 10% แล้วในไตรมา 2 หรือ 3
ยังไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นน่าจะรีบาวด์ได้ ในอดีตเรื่องของการสู้รบเรื่องปัญหาทางการเมืองส่วนใหญ่จะอยู่กับเรายกเว้นสงครามโลก ส่วนตัวยังมองว่าท่าทีทั้ง 2 ฝั่งคือรัสเซียและยูเครนยังไม่อยากยกระดับให้เกิดสงครามโลก จากจุดตรงนี้เชื่อว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น สะท้อนจากราคาน้ำมันหลังจากทำราคาสูงสุดในรอบหลายสิบปีที่ปรับลงมาเร็ว ซึ่งในส่วนราคาน้ำมันที่ลงมาเป็นสิ่งที่ดีไม่อย่างนั้นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะแรงเกินไป เพราะจะมีปัญหา Stagflation ตามที่ผมเกร่นนำไว้ตอนต้น คืออยู่ในภาวะเงินเฟ้อแล้วการปรับตัวของเศรษฐกิจไม่มี ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแรงๆที่เกิดในปี 1970 เราไม่ได้เห็นภาวะแบบนี้มานานมาก เศรษฐกิจที่ไม่เติบโตเต็มที่แล้วมีเรื่องเงินเฟ้อมาด้วย
จริงๆ แล้วเราก็คาดหวังว่าทาง ECB น่าจะมีการผ่อนคลายมากขึ้นปรากฏว่าไม่เลยเขายังยืนยันว่าไตรมาส 3 นโยบายที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบผ่านโปรแกรมเขาจะอยู่ในไตรมาส 3 แล้วส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ผมเชื่อว่าเขายังให้น้ำหนักเรื่องเงินเฟ้อมากกว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจเพราะเขามองว่าหยุดยากโดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขณะนี้
มุมหนึ่งผมวิเคราะห์รัสเซีย ต้องถามว่าทำไมชาติตะวันตกถึงไปแซงชั่นรัสเซีย เพราะจริงๆ ในปี 1991 จุดล่มสลายของสหภาพโซเวียตตอนนั้นคือรายได้รัสเซียถูกจำกัด แต่ตอนนั้นราคาน้ำมันอยู่ที่ 18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปัจจุบันอยู่ที่ 100 กว่าดอลลาร์ ... สถานการณ์ต่างกัน เงินสำรองของรัสเซียเวลานี้มีสูงมาก เชื่อว่ายังยื้อได้พอสมควร
กลับมาที่ Stagflation...ก่อนวันที่ 15 มีนาคมที่จะมีการประชุมเฟด นางเจเน็ต เยเลน ออกมาพูดรอบหนึ่งแล้วแต่เขาไม่ได้พูดถึง Stagflation กลับไปย้อนดูว่าในอดีตทุกประธานเฟดพูดเรื่อง Stagflation ก่อนเกิดเรื่องไหม พบว่าทุกๆ ครั้งที่เกิดขึ้นไม่เคยมีใครพูดถึง เราดูยังไงคงไม่ได้รับคำเตือนจากเฟดแน่นอนเพราะไม่อยากทำให้ตลาดตกใจขนาดนั้น ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 15-16 มีนาคมขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพื่อเบรกเงินเฟ้อที่ขึ้นมาสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 7.9% จากเดือนมกราคมที่อยู่ที่ 7.5%
เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ไม่สูงมาก จากที่แรกๆ คาดกันว่าดีไม่ดีจะขึ้นรอบแรกวันที่ 15 มีนาคมถึง 0.5% เลย
ส่วนตัวผมดูจากนโยบายรัฐบาลสหรัฐ ดูเหมือนว่าไม่ได้พยายามไปล็อคกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพราะมันจะไม่ไหว ผมเชื่อว่าตลาดให้น้ำหนักเรื่องต่างประเทศ เรื่องราคาน้ำมันเยอะ เพราะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และกำลังซื้อภายในประเทศ
ถ้าหากว่ากรณีรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อออกไปอีก 1 เดือน หรือจะยาวออกไปถึงครึ่งปีหลัง ในลักษณะนี้นักลงทุนควรลงทุนอย่างไรถึงจะปลอดภัย
ผมยังมองว่าในภาวะปัจจุบันแม้ดอกเบี้ยขาขึ้นแต่เรายังอยู่ในภาวะที่ต้องตามอยู่ และพอเราดูทิศทางดอกเบี้ยในต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรที่ซื้อขายกันมีความผันผวนพอสมควร ก่อนนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรขึ้นมาเรื่อยๆ พอเกิดเรื่องรัสเซียก็ปรับตัวลงมาเร็ว และก็ปรับขึ้นเร็วด้วย ผมยังเชื่อว่าด้วยผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงการถือพันธบัตรยังไม่ใช่ทางที่ผมแนะนำ ผมยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้น การถือหุ้นกับเงินสด
ในส่วนของหุ้นเราไม่ได้แนะนำให้ถือยาว จังหวะนี้เป็นจังหวะขายและค่อยกลับมารับซื้อในราคาที่เหมาะสม ถึงแม้จากต้นปีจะถูก sale off กันมาเยอะไม่ว่าฝั่งเมืองนอกและเมืองไทย ผมยังเชื่อว่าเรายังอยู่ในกรอบการซื้อขายเทรดดิ้งได้ เมื่อต้นปีที่เราคุยกันเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,650 แล้วปรากฏมันทะลุไปถึง 1,700 ในเวลาแค่แป๊บเดียว แล้วมีเรื่องรัสเซียเข้ามากระแทก
เอาเป็นว่า ผมยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นพอสมควร เชื่อว่าในภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำขณะนี้ หุ้นยังให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจที่สุด แต่กลุ่มที่จะเข้าไปซื้อขายคงแตกต่างไป ปีที่แล้วเราเน้นหุ้น growth หุ้นที่มีการเติบโตสูง แต่ปี 2565 นี้เราจะเปลี่ยนมาหาหุ้นคุณค่า หรือ value คือ เราจะมองหาหุ้นที่มี valuation ไม่สูง P/E ยังไม่สูง มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลสูงและสม่ำเสมอ เราจะเน้นหาหุ้นที่มี value
ในภาวะแบบนี้ เป็นช่วงเหมาะสมที่จะลงทุนในหุ้น แล้วมอง growth มองข้ามปี จะมีการปรับฐานในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ซึ่งหุ้นจะ sideway จากนั้นตลาดน่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในไตรมาส 3 ตลาดที่จะ sideway ในไตรมาส 2 เพราะตอนนี้ให้น้ำหนักการ re-opening จากโอไมครอนที่ทุกคนมองข้ามไตรมาส 2 แล้วเพราะตัวเลขการติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูง แล้วเดี๋ยวจะมีสงกรานต์อีก กว่าจะได้เห็นการติดเชื้อลดลงต้องหลังสงกรานต์จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ต้นปีที่ผ่านมาหุ้นถูกเทขายออกมาเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีค่า PE สูงกว่า 30 เท่า ถูกเทขายออกมารวมๆ กัน 20-30% ขณะเดียวกันหุ้นในกลุ่ม value หรือปันผลสูงหุ้นยังไม่ค่อยวิ่งมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งเงินปันผลจะอยู่ในระดับสูง หุ้นกลุ่มนี้เชื่อว่าเม็ดเงินจะไหลกลับเข้ามาบวกกับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อ net buy เข้ามาเรื่อยๆ ... จากนี้ไปหุ้นกลุ่มที่ต่างชาติจะเข้ามาต้องไปหามาก่อนคือหุ้นตัวใหญ่และหุ้นที่มี value
ดังนั้นถ้าช่วงนี้เกิดภาวะ sale off จากความไม่ปกติจากความกดดันเรื่องสงคราม/เรื่องสินค้าโภคภัณฑ์ราคาแพง จะมีกรอบรับแถวๆ 1,610 จะเป็นจุดที่เข้าไปซื้อได้ ซึ่งจะมีแก็ปราว 30-40 จุด คือขึ้นไปที่ 1,650 ตรงนั้นค่อยทำกำไรกันออกมา
0 ความน่าสนใจของหุ้นไทยในสายตาต่างชาติ ยังมีมากอยู่ไหมเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ในตลาด EM
จุดแข็งของเราคือ นโยบายทางการเงินเราเข้มงวด ทุนสำรองระหว่างประเทศเราเยอะที่สุดในแถบนี้น่าจะเป็นจุดที่ฝรั่งสนใจแต่ฝรั่งไม่ได้ให้น้ำหนัก growth กับเรามาก เพราะ innovation ตลาดไทยค่อนข้างน้อย เงินทุนที่จะมาสนใจเราในเวลาไม่ปกติอย่างนี้ เช่นมีภาวะสงคราม แน่นอนเงินต้องไหลเข้าสินทรัพย์ safe haven ที่ตลาด EM เพราะฐานเงินแน่น แต่ความสนใจนี้ไม่ใช่ระยะยาว มันมาแล้วก็ไป จะเห็นว่าเงินบาทเราผันผวน ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาท 33 ลงมา 32 พอสงครามเริ่มผ่อนคลายเริ่มคลายกังวลเงินบาทไหลกลับมาที่ 33 เร็วมากในเวลา 1 อาทิตย์ เป็นสัญญาณว่าเงินที่เข้ามาพักในไทยเป็นเงินค่อนข้างที่จะร้อน ซึ่งย้อนกลับไป 7 ปีที่ผ่านมาฝรั่งเป็นฝ่ายขายสุทธิหุ้นไทยมาเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามในกรอบสั้นๆ จากนี้ 1-2 เดือนเราจะเห็น movement ของเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกบ่อยๆ
ที่แนะนำว่าในเวลาแบบนี้ลงทุนหุ้นดีที่สุด แล้วถ้าเป็นทองคำลงทุนได้หรือไม่
ด้วยความผันผวนของทองคำ โอกาสทำกำไรน่าจะยาก เพราะราคาขึ้นลงเร็วมาก วันที่ขึ้นแล้วก็ลงให้เวลาเรายังไม่ทันเคาะซื้อขายเลยราคาไปไกลแล้ว ในความผันผวนของทองผมยังให้น้ำหนักแค่เป็นการถือเพื่อกระจายการลงทุนในพอร์ต โดยให้ถือไม่เกิน 5% ของพอร์ต คือในภาวะสงครามทองคำทำกำไรได้ดีแต่การอยู่ในหุ้นที่มีคุณภาพจะมีความปลอดภัยมากกว่า เราค่อยๆ ไล่หาหุ้นเก็บในครึ่งปีหลังอีกรอบหนึ่ง
Comments