ชยนนท์ รักกาญจนันท์ หรือ Mr.Messenger Co-Founder FINNOMENA วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจโลกและไทย จี้ประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์ ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ข่าวบวกๆ ท่ามกลางตลาดหมีในสหรัฐยังมีให้ใจชื้น โดยเฉพาะการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐในไตรมาส 3 ที่คาดว่าจะออกมาดีช่วยทำให้พอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ขณะที่เหตุผลทางการเมืองของลุงโจ จะทำให้เฟดถอนคันเร่งไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงในไตรมาส 4 และช่วงนั้นจะกลายเป็น “จุดซื้อ” เก็บหุ้นเข้าพอร์ตดึงตลาดสหรัฐขึ้นได้ ส่วนของไทยคงต้องร้องเพลงรอไปก่อน คาดช่วงหาเสียงเลือกตั้งหุ้นค่อยดี๊ด๊า
เข้าสู่เดือนตุลาคมอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ไตรมาส 4 คุณชยนนท์ดูแล้วมีปัจจัยบวกหรือลบอะไรที่นักลงทุนต้องใส่ใจเป็นพิเศษบ้าง
ปีนี้ เฟดเหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง วันที่ 1-2 พฤศจิกายน และวันที่ 13-14 ธันวาคม ทั้ง 2 ครั้งตลาดคาดการณ์ว่า ครั้งวันที่ 1-2 พฤศจิกายนจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% และครั้งสุดท้ายของปีนี้ 13-14 ธันวาคม น่าจะขึ้นอีก 0.50% แปลว่าตอนนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดเท่ากับ 3% จะเป็น 4.25% ในปลายปีนี้ และปีหน้าตลาดเชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งไปที่ 4.5% หรือ 4.75% และถ้าไปดูตัวเลข Fed Fund Rate จะพบว่าดอกเบี้ยเฟดรอบนี้ขึ้นไปที่ราว 4.5-4.75% โดยน่าจะขึ้นไม่ได้มากกว่านั้น ถ้ามองเฉพาะรอบนี้ ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง ตามที่ตลาดคาดการณ์รอบถัดไปนี้ คือ 0.75% ถ้าขึ้นมากกว่านี้ตลาดจะลงแรง ต้องระวังเรื่องนี้ แต่ถ้าขึ้นเบากว่านี้ตลาดหุ้นจะดี๊ด๊าได้เหมือนวันที่ตัวเลขการว่างงาน อยู่ดีๆ มีแรงซื้อกลับเข้ามาทันทีเพราะตลาดมองว่าเศรษฐกิจแย่แบบนี้เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่เยอะ แบบมาซื้อหุ้นกันเถอะ มันจะมีความหวังลมๆ แล้งๆ มาแบบนี้ตลอด ... อันนี้คือเรื่องของเฟดเป็นปัจจัยที่ 1
ปัจจัยที่ 2 ที่ต้องพิจารณา คือการเริ่มประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียนซึ่งของอเมริกาเริ่มประกาศก่อน โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และธนาคาร จะประกาศประมาณกลางเดือนตุลาคม ซึ่งคราวนี้คาดว่าน่าจะเริ่มประกาศวันที่ 13-14 ตุลาคม ทีนี้เรารู้แน่ว่าเศรษฐกิจอเมริกาน่าจะเข้าสู่การชะลอตัว แต่ถ้าผลกำไรของบริษัทไตรมาส 3 ออกมาดี ผมคิดว่าตลาดเริ่มมองว่า ถ้าอย่างนี้ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอาจจะไม่เยอะ หรือเรียกว่าถ้าเกิดดีเปรสชันขึ้นจริงมันอาจจะเกิดกับเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ความสามารถในการทำกำไรหรือหารายได้ของบริษัทจดทะเบียนใหญ่ๆ ยังดีพอ
ถ้าแบบนี้ผมคิดว่า นักลงทุนจะเริ่มไหลเข้าซื้อกลับถึงแม้จะมีสัญญาณดีเปรสชันก็ตาม ตัวงบการเงินยังไงก็สำคัญ สุดท้ายเจ้ามือที่แท้จริงของตลาดหุ้นคือ ผลประกอบการ หุ้นจะลงได้ยังไงถ้ากำไรโต ปัจจัยที่ 3 คือ เราน่าจะเห็นสัญญาณดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป และเราเริ่มเห็นตั้งแต่ตอนปลายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แม้เราเริ่มเห็นการดื้อดึงไม่ให้เงินดอลลาร์แข็งข้างเดียวต่อไปของ 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่นกับอังกฤษ ที่ออกนโยบายสวน คืออยู่ดีๆ ออกนโยบายมาซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้ระยะยาว วิธีการคือ ใช้ทุนสำรองตัวเองขายดอลลาร์ที่ตัวเองถือออกไปแล้วซื้อเงินสกุลตัวเองกลับเข้ามา ถามว่าเป็นเพราะค่าเงินอ่อนเยอะทำให้ตลาดทุน capital market ของเขาพอมีความผันผวนมากจำเป็นต้องแทรกแซงเพื่อสร้างเสถียรภาพ ... สมมติไตรมาส 3 ดอลลาร์ยังแข็งในทิศทางรุนแรงขึ้นมากก็ต้องจับตาว่าธนาคารกลางประเทศอื่นๆ นอกจากญี่ปุ่นกับอังกฤษ จะเริ่มแสดงอารยะขัดขืนกับสถานการณ์ดอลลาร์แข็งขึ้นด้วยหรือไหม ถ้ามีธนาคารกลางประเทศอื่นๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้ดอลลาร์เริ่มหยุดแข็งค่า แข็งไปกว่านี้ได้ไม่เยอะแล้ว และถ้าดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าจริงๆ จังๆ แบบนี้ ผมคิดว่า “จุดซื้อ” ของตลาดหุ้นอาจจะอยู่ที่ไตรมาส 4
มองว่าวิธีการของญี่ปุ่นกับอังกฤษเป็นวิธีการที่ดีหรืออันตราย แล้วธนาคารกลางประเทศอื่นจะทำตามหรือ
ญี่ปุ่นมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 700,000 ล้านดอลลาร์ มีทุนสำรองเยอะที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 ใช้เงินออกมาประมาณ 60,000 กว่าล้านดอลลาร์ คิดเป็น 10% ของทุนสำรองถ้าใช้แบบนี้เรื่อยๆ ทุกเดือนปีหนึ่งถึงจะหมด ถามว่าใช้เยอะไหม นี่คืออันดับ 2 ของโลก ถ้าใช้ขนาดนี้ตลาดอาจจะไม่กังวลเท่าไหร่ แต่ที่น่าสนใจคือ การอ่อนค่าของเงินสกุลอื่นไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจของประเทศนั้นเพียงอย่างเดียว เกิดจากอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยรัวๆ เยอะมาก ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ต้นปีว่าขึ้นครั้งละ 0.75 ไม่ผ่อนคันเร่ง พอเกิดขึ้นทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอเมริกามันสูงกว่าคนอื่นมากเกินไป ทำให้ผู้กู้เงินดอลลาร์ก่อนหน้านี้มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำออกมาซื้อหุ้นต่างๆ เยอะ กลายเป็นว่าต้นทุนการกู้ยืมของเขาต้องจ่ายดอกที่แพงขึ้น เขาเลยบอกว่าไม่ได้แล้วแบบนี้ฉันต้องคืนหนี้ดอลลาร์ดีกว่า กลายเป็นวิ่งกลับมาคืนดอลลาร์
คือ ดอลลาร์แข็งครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากอเมริกามีเศรษฐกิจฟื้น ทุกคนบอกเศรษฐกิจอเมริกาดีแล้วถือเงินดอลลาร์แทน--ไม่ใช่ แต่ทุกคนกลับมาถือหุ้นดอลลาร์เพิ่มมากขึ้น พอรู้สึกดอลลาร์จะแข็งดอกเบี้ยกำลังจะขึ้นฉันไม่อยากเสียต้นทุนทางการเงินวันนี้เอาดอลลาร์กลับไปคืนดีกว่า กลายเป็นทุกคนกลับไปถือดอลลาร์ โดยไม่มี yield หรือตราสารหนี้ระยะสั้น
คำถามคือเศรษฐกิจอเมริกา จะรับสภาพการแข็งค่าของดอลลาร์แบบนี้ได้จริงหรือ มันไม่ได้เป็นผลดีกับเขาเยอะ เพราะเขาเป็นประเทศนำเข้าสุทธิ การที่ดอลลาร์แข็งมากแปลว่าเขามีแต่นำเข้าแปลว่ายิ่งขาดดุลเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
ถามว่าการที่ญี่ปุ่นทำแบบนี้ดีไหม ผมคิดว่าทำได้ ตลาดก็อนุญาตให้ทำได้ แต่เทรนด์ของโลกจริงๆ ไม่ใช่เทรนด์เยนอ่อนค่า แต่เป็นเทรนด์ดอลลาร์แข็ง BOJ ต้องเดาให้ถูกว่าเทรนด์ดอลลาร์แข็งมันยังเป็นไปเรื่อยๆ ไหม ถ้ายังเป็นแบบนี้คือดอลลาร์แข็งไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับน้ำป่ายังไหลหลากแล้วเอากระสอบทรายไปกั้นแค่กระสอบเดียว น้ำมันยังไหลอยู่ดี เพราะฉะนั้นจะเป็นการละลายทุนสำรองมากเกินไป ตลาดตีความแบบนั้น
ส่วน BOE ต่างกัน คือ อังกฤษตั้งแต่ต้นปีขึ้นดอกเบี้ยตามอเมริกาเพราะมีปัญหาเงินเฟ้อเหมือนกันและตลาดก็เชื่อว่าการประชุมของ BOE ที่เหลือปีนี้ยังขึ้นดอกเบี้ยได้อีก แต่สิ่งที่ BOE ทำ คือ อยู่ดีๆ ประกาศซื้อพันธบัตรของตัวเองอายุ 10 ปี 30 ปี เพราะ yield วิ่งทะลุ 5% มีแต่คนแห่ขายพันธบัตรอังกฤษออกมา ซึ่งการแห่ขายมาหลังจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเขาประกาศนโยบายลดภาษีและอยากบรรเทาค่าครองชีพของชาวอังกฤษให้ได้เยอะที่สุด ส่วนหนึ่ง คือปีนี้ไม่ต้องจ่ายภาษีแล้วกันจ่ายกันให้น้อยพอบอกแบบนี้ตัว bond yield ดีดขึ้น คือทุกคนบอกไม่เอา bond ดีกว่า ถามว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะประเทศจะยั่งยืนอยู่ได้รัฐบาลต้องมีรายได้ รายจ่ายมีเยอะแล้วมาบอกลดภาษี รายได้ภาษีก็หายแล้วอย่างนี้เสถียรภาพทางการค้าจะอยู่ที่ไหน แบบนี้ไม่น่าไว้ใจก็เลยขายพันธบัตรออกมา พอเขาขาย bond yield เยอะๆ แทนที่ BOE จะบอกกลับลำนโยบาย แต่ BOE เลือกใช้วิธีเข้าไปซื้อพันธบัตรระยะยาว จังหวะคือ ดอกเบี้ยก็ขึ้นอยู่ แต่พันธบัตรระยะยาวก็อยากซื้อกดไว้ การซื้อพันธบัตรระยะยาวโดยใช้เงินสดซื้อของ BOE ตลาดตีความได้ว่าเป็นการทำ Mini QE ซึ่งปกติ QE จะทำในยามที่ดอกเบี้ยนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย แต่นี่คือการทำแบบตึงตัวและผ่อนคลายในเวลาเดียวกันเลยเหมือนธนาคารกลางอังกฤษเป็นไบโพลาร์ คือกระตุ้นเศรษฐกิจก็อยาก อยากดูดสภาพคล่องออกจากระบบก็อยาก คือจะทำ 2 อย่างพร้อมกันไม่ได้ อันนี้เป็นความน่ากลัวที่ตลาดมองว่าเหมือน BOE ไม่มีทางเลือกต้องเข้าตาจนแบบนี้เลยหรือ
และตลาดก็แสดงให้เห็นแล้วทางอังกฤษก็ออกมาประกาศยกเลิกที่ว่าจะลดหย่อนภาษีบางอย่าง เช่น ภาษีคนรวย ทำให้ตลาดผ่อนคลายกลับมา
สิ่งที่ธนาคารกลางอังกฤษทำก็เป็นตัวอย่างให้ธนาคารกลางอื่นว่าถ้าจะเข้าไปแทรกแซง ทิศทางการแทรกแซงต้องสวนทางทิศทางนโยบายหลักที่ตัวเองทำมา อาจจะต้องใช้เครื่องมืออื่น
อย่างไรก็ตามแต่ ถ้าดอลลาร์ยังแข็งผมคิดว่าธนาคารกลางทุกประเทศอาจจะไม่มีทางเลือกอาจจำเป็นต้องทำเหมือน BOE หรือ BOJ ก็ได้
คือถ้าธนาคารกลางทำกันแบบนี้ ดอลลาร์จะอ่อน และแบบนี้ ไตรมาส 4 ก็น่าจะเป็นจุดซื้อ...ในขณะเดียวกันต้องดูเรื่องของ ทิศทางดอกเบี้ย ต้องระมัดระวังทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่ในส่วนของไทยขึ้นดอกเบี้ยไม่มาก แบบนี้ดูแล้วกระแสทุนจะไปทางไหน สำหรับนักลงทุนแนวโน้มแบบนี้ควรจะมีกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร
อย่างแรก ถ้าเฟดยังขึ้นดอกเบี้ยแรง และบ้านเรายังรอเลือกที่จะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปเพราะอยากให้เศรษฐกิจฟื้น ดอกเบี้ยนโยบายยิ่งสูงขึ้นดอลลาร์ก็จะยิ่งแข็ง แปลว่าบาทอาจจะทะลุ 39-40 บาทต่อดอลลาร์ อันนี้ต้องทำใจ แต่ถ้าบาทอ่อน 39-40 บาทต่อดอลลาร์เราได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นขึ้นมา อันนี้เราก็ไปรอลุ้นกัน
ในแง่การลงทุนแปลว่านักลงทุนอาจจะต้องกระจายความเสี่ยงถือบาทให้น้อยลง ไปถือตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เอกชนที่มี yield ดีมากขึ้น อันนี้ก็อาจจะลองหาจังหวะในการทำดู
ส่วนคำถามที่ว่าจะมองให้ยาวไปกว่าไตรมาส 4 คือ แล้วเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงเท่าไหร่เฟดถึงจะชะลอขึ้นดอกเบี้ย เลิกแล้ว ฉันไม่แคร์เงินเฟดแล้ว--ถ้าย้อนกลับไปปี 1971 เกรทรีเซสชัน ย้อนจากนั้นมาเศรษฐกิจอเมริกาเขาเจอปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทะลุมาแล้ว 6 ครั้ง ย้อนดูเฟดจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้เท่ากับหรือมากกว่าเงินเฟ้อ เช่น ปี 1980 เงินเฟ้อขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 6% เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยไป 8% หรือ ตอนซับไพรม์เราเห็นเงินเฟ้อขึ้นระดับ 5% เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 6.25% จะเห็นว่าขึ้นเยอะกว่าเงินเฟ้อ กลับมาดูตอนนี้เงินเฟ้อ 8.3% ถ้าใช้ข้อมูลในอดีตแปลว่าเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยทะลุเกิน 8% อันนี้เป็นความน่ากลัวมากๆ ว่าข้อมูลในอดีตมันบอกเราว่า รอบนี้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 4% ไม่น่าจะพอเพราะ 6 รอบที่ผ่านมาเงินเฟ้อขึ้นเท่าไหร่ดอกเบี้ยต้องขึ้นเท่านั้นหรือมากกว่า ไม่อย่างนั้นเอาเงินเฟ้อลงไม่ได้
คำถามคือถ้าเป็นอย่างนั้นทำไมทั้ง Fed Fund Rate ที่ CIMB กรุ๊ป หรือที่เฟดเพิ่งประกาศออกมาหลังการประชุมเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาถึงบอกจุดพีกของดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.5-4.75% เหตุผลมีอยู่ 2 ข้อ 1. เศรษฐกิจอเมริกาจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตถดถอย รีเซสชันปีหน้าไหม คือเมื่อเศรษฐกิจถดถอยมันจะเป็นข้ออ้างไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ 2. คือไม่ว่าอย่างไรอเมริกาก็ขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่เยอะกว่านั้นแล้ว ถึงแม้เงินเฟ้อจะสูงกว่านั้นแต่เขาไม่อยากขึ้นดอกเบี้ยเยอะกว่านั้น
อะไรที่ทำให้เฟด ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยทะลุเกิน 5% ได้---คำตอบคือ เรื่องการเมือง ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา โจ ไบเดน มีมาตรการกระตุ้นอัดไปไม่รู้กี่อย่าง มีการจ่ายเช็คช่วยครัวเรือนของอเมริกาในช่วงล็อกดาวน์ เงินสภาพคล่องหมุนวนวิ่งกันได้ เราก็เห็นแล้วว่าตอนที่ทุกคนล็อกดาวน์คนอเมริกาเอาเงินเหล่านี้ไปทำอะไรบ้าง 1. ไปซื้อคริปโตเคอร์เรนซี 2. ซื้อหุ้นผ่านแอปโรบินฮู้ด เกิดปรากฏการณ์เกม AMC Entertainment (จนตอนนี้ Netflix มีสารคดีลองไปดูสนุกมาก) 3. คนอเมริกาเอาเงินไปซื้อบ้านด้วยการดาวน์ เพราะช่วงนั้นดอกเบี้ยมันถูก ก็เฟดเป็นคนกดดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวแล้วตอนนั้นราคาบ้านก็ลงมาตลอด สมมติผมเป็นนิวยอร์กเกอร์อยู่ในคอนโดฯ ห้องแคบๆ พอล็อกดาวน์ 1-2 เดือนไม่ไหวแล้วไปหาซื้อบ้านแถวชานเมืองดีกว่าทำให้เทรนด์การซื้อบ้านเพิ่มมากขึ้น แต่ซื้อบ้านเขาไม่ได้ซื้อเงินก้อนเขาซื้อดาวน์แล้วผ่อนต่อ ทีนี้พอเฟดกำลังขึ้นดอกเบี้ยแต่เงินผ่อนที่ผมจ่ายอยู่ตอนนี้ดอกเบี้ยกลับสูงมากขึ้น กลายเป็นถ้าเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเยอะเกินไปก็กระทบฐานเสียงคุณโจ ไบเดนทั้งนั้น ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ คนอเมริกาจะไม่พอใจ สุดท้ายขึ้นจนคนอเมริกาโอดโอย ถ้าไม่ถอนคันเร่ง-ยังเหยียบคันเร่งอยู่ เจอโรม พาวเวล และ เจเน็ต เยลเลน จะโดน โจ ไบเดน เรียกเข้าไปห้องรูปไข่ แล้วบอก พวกคุณไม่ต้องสู้เงินเฟ้อ (หนักมือ) ขนาดนั้นมากก็ได้ ขึ้นมากคนอเมริกาเดือดร้อน
เหตุผลจะเป็นอย่างหลัง --- แปลว่าทุกคนอดทนหน่อยไตรมาส 4 ถ้าตลาดเห็นแบบที่ผมเห็น ตลาดเชื่อมากว่าที่ 4.5-4.75 เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่านั้น ผมมองอยู่ที่ไตรมาส 4 นี้เพราะปีหน้าตลาดคาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยแค่ 1 ครั้ง---ซึ่งตลาดไม่รอ 1 ครั้งแล้วค่อยวิ่งตลาดมักจะคาดการณ์ก่อนว่าอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ก็อาจจะมีเม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนทันที
ถ้าเงินไหลเข้าไปลงทุน ไตรมาส 4 จะเป็นจุดซื้อ จะซื้ออะไร
ถ้าเป็นจุดซื้อ อะไรที่เราควรซื้อ---เมื่อดอกเบี้ยขึ้นแรงสินทรัพย์ไหนลงแรงที่สุดอันนี้เรายอมรับว่าเป็นหุ้นทั้ง Dow Jones S&P 500 และ Nasdaq ลงมาเป็น bear market เป็นที่เรียบร้อยแต่จะเห็นตัวหุ้นดัชนี Nasdaq ลงมาจากจุดสูงสุด พวกหุ้น growth หรือหุ้นเทคโนโลยี ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการที่เฟดเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง ในทางกลับกันถ้าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยหรือส่งสัญญาณชะลอ แล้วตลาดตีความว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีก แปลว่าหุ้น growth หรือหุ้นเทคโนโลยีจะมีโอกาสปรับขึ้นได้มากกว่าหุ้นอื่น มองโอกาสอย่างแรก ใครที่ติดอยู่ในกองทุนที่มีหุ้นเทคโนโลยีอยู่เยอะๆ เราจะได้จังหวะในการเข้าซื้อในไตรมาส 4 นี้ และโอกาสรีบาวด์ได้ถึงครึ่งหนึ่งของที่ลงมา คืออาจจะรีบาวด์ระดับ 20-30% โอกาสแบบนี้ห้ามพลาดเด็ดขาด แต่ถามว่ามันแปลว่านี่คือเป็นจุดต่ำสุดแล้วของขาลงด้วยเลยไหม ผมคิดว่าขารีบาวด์ขานี้ให้ซื้อไปก่อน เหตุผลค่อยไปดู แต่ผมเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยไปได้ครึ่งทางที่จะทำให้ดึงเงินเฟ้อลงมา แสดงว่าดอกเบี้ยยังไม่ครอบคลุมเงินเฟ้อ ดังนั้นการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจึงเป็นการชะลอชั่วคราว แล้วเฟดต้องไปหาเครื่องมืออื่นในการทำให้เงินเฟ้อลง ถ้าเงินเฟ้อลงมาไม่ได้จริงๆ แปลว่าที่ผมบอกซื้อได้ในไตรมาส 4 นั้นมันอาจจะวิ่งได้แค่ไตรมาสสุดท้ายนี้ แล้วอาจจะยังปรับฐานลงอยู่ดี เท่ากับว่ายังไม่คิดว่าเป็นจุดต่ำสุด แต่เป็นผลจากการชะลอ/เบรกการขึ้นดอกเบี้ย แค่นี้ทำให้ตลาดรีบาวด์ได้แล้ว
คือแม้จะเป็นจุดซื้อ อาจมีรีบาวด์ได้หน่อย แต่ปัจจัยยังไม่เปลี่ยน ยังไม่ใช่จุดต่ำสุด ต้องระวังด้วย คือปัญหายังไม่สะเด็ดน้ำ
ใช่ ซึ่งประเด็นที่เราต้องจับตาคือความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อจะลงได้หรือไม่ คือที่ไตรมาส 4 เราเห็นมาหลายครั้งแล้วว่ามันเป็นไฮซีซันของราคาคอมโมดิตี โดยเฉพาะราคาพลังงานที่เข้าหน้าหนาวอเมริกาหรือยุโรปใช้พลังงานเยอะมาก ขณะที่ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นเพราะอเมริกากับยุโรปก็แบนรัสเซีย แถมโอเปกพลัสมาลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรลด้วย เราจะเริ่มเห็นราคาน้ำมันทั้ง Brent และ WTI ขึ้นกลับไปที่หลักกว่า 100 ดอลลาร์อีก ซึ่งแปลว่าเงินเฟ้อที่ลงมาจาก 9.1% เป็น 8.9% เป็น 8.5% และ 8.3% มันอาจจะลงได้ไม่เร็ว ดังนั้นในจุดฟื้น(ชั่วคราว) ควรซื้อ 2 อย่างคานไว้ คือซื้อหุ้น growth และอาจจะมาซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน เผื่อในกรณีเงินเฟ้อไม่ลงแล้วพอมีสัญญาณนักลงทุนจะไหลเข้าไปลงทุนหรือแห่เข้าไปเก็งกำไรในราคาน้ำมันอีกรอบ
คนที่ถือทองคำควรทำอย่างไร
ถ้าเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยผลของมัน คือหุ้นจะวิ่งขึ้น ผลกระทบที่ 2 ดอลลาร์จะหยุดแข็ง ซึ่งถ้ามีการแทรกแซงอย่างที่ BOE หรือ BOJ ทำ ดอลลาร์มันจะอ่อน แต่ทองคำมี 3 ปัจจัยที่จะกระทบตัวทองเอง 1. ทองเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดสงคราม ซึ่งที่ผ่านมาสงครามโลกมันจำกัดได้ รัสเซียคงไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ทองเลยยังวิ่งไม่ได้เยอะ 2. ทองเป็นการป้องกันความเสี่ยงกับเรื่องเงินเฟ้อซึ่งเหมือนทองก็ทำหน้าที่นั้นอยู่ แต่กลายเป็นว่าราคาทองที่หลุด 1,700 ดอลลาร์มาก่อนหน้านี้มันมาจากปัจจัยที่ 3 คือทองมักจะวิ่งผันผวนกับค่าเงินดอลลาร์ คือยิ่งดอลลาร์อ่อนทองจะวิ่งได้ดี แต่ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีดอลลาร์แข็งทองเลยวิ่งไม่ได้ แต่สมมติเฟดบอกว่า ถอนคันเร่ง ดอลลาร์กลับมาอ่อน ผมคิดว่าทองที่เราเห็นตอนนี้ 1,700 ต้นๆ มีลุ้นกลับมาทดสอบ 1,800 อีกรอบหนึ่ง แบบนี้ก็สามารถลงทุนทองได้
เอาจริงๆ แล้วก็คือว่าให้ดู ถ้าชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แปลว่าอะไรที่ลงแรงปีนี้จะกลับขึ้นทั้งหมดเพียงแต่จะขึ้นยาวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะลงได้เร็วไหม
วกมาที่ตลาดหุ้นไทยยังไปไหวไหม ตอนนี้มันต่ำกว่า 1,600 แล้ว
ตลาดหุ้นไทยตอนนี้มีจุดแข็งที่ Fund Flow นักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุน จาก
1. ตัวเลข GDP growth ปีนี้กับปีหน้า ปีหน้าบวกมากกว่าทั้งที่ประมาณการโดย World Bank แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ ประมาณการว่าประเทศในโลกนี้ จะหาที่ปีหน้าจะเติบโตมากกว่าปีนี้ หาไม่ค่อยได้ แต่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นที่จะปีหน้าดีกว่าปีนี้ เรามีจุดแข็งเรื่องนี้
2. เงินทุนสำรอง เราติด 1 ใน 10 ของโลก เงินทุนสำรองเราจริงๆ เยอะกว่าธนาคารกลางอังกฤษด้วยนะ แม้ช่วงที่ผ่านมาจะลดลงมาเพราะดอลลาร์แข็ง มันเลยขาดทุนจากการ mark to market แต่เราไม่ได้ใช้เงินแทรกแซงเยอะขนาดนั้น เรายังมีเงินทุนสำรองใช้ ทำให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพได้
3. ไตรมาส 4 นี้ นักท่องเที่ยวและการส่งออกจะดีขึ้นทำให้ ดุลบริการที่ขาดดุลมาตลอด จะกลับมาเป็นบวก แปลว่าดุลการค้าในภาพรวมของเราจะติดลบน้อยลง ตรงนี้จะเอื้อให้ตัวเงินทุนสำรองจะไม่ไหลลงเร็วเหมือนไตรมาส 3 ที่ผ่านมา
4. ต่างชาติซื้อหุ้นสุทธิเข้ามา 140,000 ล้านบาทเป็นปีแรกที่กลับมาซื้อในรอบ 8 ปีคือเขาขายมาตลอดที่ผ่านมา ที่กลับมาซื้อเพราะมุมหนึ่ง ผมได้เคยคุยกับพี่เทิด (เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส) เขาวิเคราะห์ไว้ว่า นักลงทุนต่างชาติก่อนหน้าที่จะลดหุ้นตั้งแต่ 8 ปีที่ผ่านมาเขาถือครองสัดส่วนหุ้นไทย 25-26% ของ market cap ตอนนี้เขาถือแค่ 21% เท่านั้น ถือว่า under weight มากๆ ขณะที่ประเทศอื่นฝั่งเอเชียเขาถือระดับค่าเฉลี่ย จึงมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติที่ under weight มาตลอด เริ่มใส่เงินกลับเข้าไป คำถามทำไมเขาใส่เงินกลับ เพราะเรามีกำหนดการชัดเจนที่จะสร้างบรรยากาศการลงทุน นั่นคือการเลือกตั้ง ทุกครั้งลองย้อนกลับไปดูสถิติของการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นคึกคัก ในช่วงสั้น 2-3 เดือน ซึ่งอันนี้เขาบอกว่ามันเป็นบรรยากาศดีที่บรรยากาศการเลือกตั้งจะกลับมา ส่วนพรรคการเมืองไหนจะได้หรือไม่ได้เป็นรัฐบบาลไปดูนโยบายเศรษฐกิจใครได้หรือไม่ได้เศรษฐกิจจะกลับมาอย่างไร การกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาอย่างไรค่อยดูอีกจังหวะหนึ่ง ต่างชาติเริ่มเชื่อมั่นแล้วใส่เงินกลับเข้ามา
ดังนั้นถ้าดูในระยะ 6-12 เดือนจากนี้ ผมว่าการที่หุ้นไทยจะทะลุ 1,700 มีหวังถึง 1,800 ต้องมาดูภาพรวม แต่ระยะสั้นแค่วันนี้ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนผมคิดว่าตลาดคงอยู่กับที่เรื่องของเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงขนาดไหน บาทจะอ่อนขนาดไหน ช่วงระยะสั้นผมคิดว่าหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวลงได้อยู่ แต่จะลงไม่เยอะ ถ้าจะหลุดต่ำกว่า 1,550 ลงมาแถวๆ นั้น ผมคิดว่านั่นเป็นจุดซื้อ ตรงนั้นเป็นโอกาสที่ดี ใครที่ซื้อ SSF/RMF ใช้จังหวะนี้ในการซื้อได้ แล้วจังหวะ upside ปีหน้าต้องยาวๆ ไป ระยะสั้นอาจจะเหนื่อยหน่อย
กลัวว่าที่ต่างชาติขายมาตลอดเดือนกันยายน จะเป็นสัญญาณว่าไม่เอาหุ้นไทยแล้ว จะขายมากๆ ขึ้นไปอีก
เป็นการขายจากเงินบาทจะไปชนแถว 38 บาทต่อดอลลาร์ มันเป็นแนวต้านจิตวิทยา คือมันจะทะลุไปต่อไหม ต่างชาติอาจจะมีความระวัง แล้วมีการลดทอนออกมา ถ้าไปดูมันจะเป็นแรงผสมกัน คือต่างชาติขาย กองทุนหรือสถาบันการเงินของไทยก็ขายด้วย อาจจะมาจาก กบข. หรือสถาบันใหญ่ที่อาจจะลดพอร์ต ต้องมารอดูอีกที แต่การขายสุทธิของต่างชาติเดือนเดียวไม่ได้บอกอะไรมาก เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าตั้งแต่ต้นปีถึงวันนี้หุ้นไทยไม่ได้วิ่งไปไหน ซื้อสุทธิก็ประมาณ 170,000 ล้านบาท ขายออกก็เหลือสุทธิประมาณ 140,000 ล้านบาท ถ้าเขาขายมากกว่านี้แปลว่าที่เขาซื้อทั้งปีเขาขาดทุนทันที ผมคิดว่าเขาคงไม่ขายลดพอร์ต ไม่อย่างนั้นตลาดจะตกมากกว่านี้ คือต่างชาติซื้อแถวๆ ดัชนี 1,600 แล้วมาขายแถวๆ ต่ำกว่า 1,600 ผมคิดว่าต่างชาติจะเพี้ยนไปนิดนึง ต่างชาติเข้ามาเขาหวังระยะยาวเพียงแต่ระยะสั้นอาจจะมีการปรับพอร์ตบ้าง เปลี่ยนกลยุทธ์ เปลี่ยนม้าขี่บ้างตามภาษาของเขา
Comments