ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผอ.อาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุนสายงานวิจัย บล.อิโนเวสท์เอกซ์ เผยหุ้นไทยวันนี้ตกอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงมากมาย ทั้งความเสี่ยงระดับโลก ระดับประเทศ ความเสี่ยงจากผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ความเสี่ยงในตัวหุ้นแต่ละตัว ความเสี่ยงแง่การกำกับดูแลและธรรมาภิบาล ขณะที่โลกมีปัจจัยเปราะบางเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยที่ยังเป็นขาขึ้น สภาพคล่องตึงตัว สินเชื่อทุกประเภทชะลอตัว NPL พุ่งสูง รวมทั้งปัญหาแทรกซ้อนคือภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ จะทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรของไทยมีปัญหาในไตรมาส 4 ปีนี้ ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปีหน้า แนะ...จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ นักลงทุนต้องระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น แต่ถ้าอยากลงทุนโดยเฉพาะซื้อหุ้นต้องเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการดี มีความแข็งแกร่งของงบการเงิน พร้อมคัดหุ้นเด่น 5 ตัวคือ BBL, BDMS, BEM, HOMEPRO และ OST
ส่งท้ายเดือนมิถุนายน 2566 ดูจากสภาพแล้ว หุ้นไทยยังจะไปไหวไหม
บังเอิญหุ้นไทยเผชิญหลายปัจจัย ทั้งความเสี่ยงระดับโลก ระดับประเทศ ความเสี่ยงบุคคลหรือตัวหุ้นเอง ความเสี่ยงระดับโลกที่จะคุยกันยาวๆ คือเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ความเสี่ยงระดับประเทศภาพปัจจัยใหญ่คือภาคการเมืองที่มีแนวโน้มกระทบในอนาคตต่างๆ รวมถึงนโยบาย การจัดตั้งรัฐบาล สุดท้ายยังเจอความเสี่ยงจากบริษัทในเรื่องของหุ้นบางกลุ่ม บางตัว อย่าง STARK ที่มีปัญหา เป็นการจุดประกายว่าความเสี่ยงแง่ของการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาล ซึ่งยอมรับว่ายากสำหรับนักลงทุนในการพิจารณาว่าหุ้นตัวไหนจะเป็นแบบนี้ ซึ่งทางการต้องคุมเข้มมากขึ้นในระดับหนึ่ง
อีกภาพหนึ่งคือโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ผมมองภาพตั้งแต่ต้นปีหลังจากที่มีโอกาสเข้าไปสวัสดีปีใหม่ผู้ใหญ่ในตอนนั้นผมก็คอนเฟิร์มผู้หลักผู้ใหญ่ไปว่าปี 2566 นี้เราจะได้เห็นภาพการล้มละลาย เห็นการผิดนัดชำระหนี้ คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะแย่ แต่ไม่ทราบเวลาแน่ชัดว่าเมื่อไหร่ แต่ความเสี่ยงของตลาดเงินตลาดทุนจะมีมากขึ้น ทางผู้ใหญ่ก็รับทราบในเรื่องนี้ ... แต่มาถึงจุดนี้เห็นภาพจริงๆ แล้ว ซึ่งต้องจับตาต่อไปโดยเฉพาะภาพต่างๆ ที่กระทบตัวบริษัททุนในเอเชีย
ภาพต่อไปถ้ามองในภาพใหญ่คือโลก มีความเสี่ยง 3 จุด จุดแรกคือภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาพเงินเฟ้อยังค่อนข้างสูง จริงๆ เงินเฟ้อก็ชะลอลงมาบ้างแล้ว อย่างในอเมริกาเหลือ 4% แต่บางประเทศอย่างในยุโรปหรืออังกฤษประมาณ 8% ก็ยังสูงอยู่ ทำให้ธนาคารกลางของเขาอาจจะส่งสัญญาณว่ายังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะอังกฤษขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5 บ่งชี้ว่าประเทศที่เจริญแล้วยังกังวลในจุดนี้
จากความเสี่ยงแรกนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ 2 คือ สภาพคล่องที่ตึงตัวมากขึ้น นอกจากอเมริกาที่บอกว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งในสิ้นปีนี้ ซึ่งดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาตอนนี้ก็สูงแล้วคืออยู่ที่ 5.0% ในยุโรป 3.5% และมีแนวโน้มที่จะขึ้นอีก เรื่องของอเมริกาที่ยังคงใช้นโยบาย QT ดึงสภาพคล่องจากระบบ นอกจากนั้นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะถึงแม้จะผ่านแล้ว แต่นั่นเป็นการเปิดโอกาสให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งได้มากขึ้นเพื่อมาเติมเงินคงคลังของเขาที่ร่อยหรอลงไปในช่วงที่ผ่านมา เพราะตัวเพดานหนี้ครบกำหนดมาตั้งแต่ต้นปีแล้วแต่รัฐบาลสหรัฐ ใช้มาตรการพิเศษที่จะดึงเงินโยกย้ายถ่ายเทเงินส่วนนี้มาใช้ เงินคงคลังร่อยหรอมากในช่วงที่ผ่านมาจนแถบจะเหลือศูนย์ หรือเหลือ 70,000 กว่าล้านซึ่งระดับนี้ถือว่าแทบจะเหลือน้อยมาก เพราะค่าเฉลี่ยของเขาอยู่ที่ 700,000-1,000,000 ล้าน แปลว่าอีก 3 เดือนข้างหน้ากระทรวงการคลังสหรัฐต้องออกพันธบัตรมากขึ้นเพื่อกู้เงินมาเติมเงินคงคลัง จะได้มีเงินมาใช้ในส่วนของมาตรการต่างๆ หรือใช้คืนหนี้ พอเป็นภาพเช่นนั้นทำให้เป็นการดึงสภาพคล่องในเชิงปฏิบัติ พูดง่ายๆ ว่านอกจากนโยบายการเงินที่จะดึงสภาพคล่องทั้งขึ้นดอกเบี้ยและดึง QT นโยบายการคลังก็ทำเช่นเดียวกันและมากกว่าด้วยซ้ำ
ถ้าเราลองคิดว่าใน 3 เดือนข้างหน้าสหรัฐมีการดึงสภาพคล่องออกไปประมาณ 1 ล้านล้าน เพื่อให้เงินคงคลังกลมๆ กลางๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นเดือนๆ หนึ่งต้องมีประมาณ 2-3 แสนล้าน คือ นับเป็น 3 เท่าของ QT ที่เฟดทำประมาณเดือนละ 95,000 ลองคิดดูว่ามี QT อีก 3-4 เท่ามาดูดสภาพคล่องออกไป แล้วสภาพคล่องการเงินจะเป็นยังไง ผมถึงค่อนข้างกังวลมากในจุดนี้ และในภาพ Investment มองว่าความเสี่ยงมีมากขึ้น ซึ่งความเสี่ยงดูจากภาพเศรษฐกิจของประเทศต่างที่เจริญแล้วส่งสัญญาณว่าดัชนี PMI ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกันตั้งแต่อังกฤษ ญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมัน ฝรั่งเศส และยุโรป ลงมา บางประเทศต่ำกว่า 50 แล้ว ซึ่งเป็น PMI ภาพรวมทั้งบริการและภาคการผลิต คือหลักๆ การบริการเริ่มชะลอตัวลงแล้ว
อันนี้บ่งชี้ว่าเรื่องของความเสี่ยงมีมากขึ้นในภาพของโลก ซึ่งยังไม่นับรวมของจีนที่กำลังแย่ จีนมีตัวเลขออกมาค่อนข้างแย่ ตัวเลขรายเดือนต่างๆ การบริโภค การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรค่อนข้างแย่กว่าที่หลายฝ่ายคาด เรื่องอสังหาฯ หรือเงินเฟ้อกลายเป็นเงินฝืด พอเป็นภาพเช่นนี้ทำให้ภาพเศรษฐกิจจีนเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจโลก
ไทยเองจากที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ก็จะหนักขึ้นไปอีก
ภาพของโลกแย่จะลิงก์เข้ามาสู่ไทยผ่านการส่งออก เราจะเห็นส่งออกเดือนเมษายนตัวเลขคือติดลบ 7% เดือนมีนาคมติดลบ 4% เมื่อมาดูไส้ในการส่งออกที่ลดลงเป็นกับทุกภาคอุตสาหกรรมทั้งสินค้ายาง คอมพิวเตอร์ น้ำมัน เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ทุกอย่างบ่งชี้ว่าดีมานด์ของโลกมันอ่อนแอและมากระทบการส่งออกของเรา ถ้ามาดูเรื่องสินค้าคงคลังของต่างประเทศที่ต้องนำเข้าจากเรา เมื่อเราไปดูไส้ในถึงที่นั่นปรากฏว่าส่วนใหญ่สินค้าคงคลังยังเหลือเยอะ พูดง่ายๆ ที่ผ่านมาเราผลิตเยอะ เขาสั่งซื้อเยอะ ตัวซัพพลายเชนต่างๆ คลี่คลายขึ้นและมีการส่งมามากขึ้น เขาเติมในส่วนสินค้าคงคลังไว้มาก มันเลยเหลือ ขณะที่ดีมานด์มันลดลง
พอเป็นภาพเช่นนี้เรามองภาพว่าส่งออกเราไม่น่าจะสดใส และมีการปรับลดประมาณการส่งออกลงจาก -4% เป็น -2%
นอกจากการส่งออก ที่เรากังวลอีกอย่างหนึ่งคือ ภาพการเมืองถึงแม้ กกต.จะมีการรับรองส.ส.ต่างๆ แล้ว แต่ถ้ามองภาพเราเชื่อว่าในความเป็นจริง Magic Number ที่ยังไม่สามารถตกลงกันง่ายๆ คือเสียงโหวตรับรองนายก 376 เสียง แม้จะเลือกประธานสภาได้ แต่พอเข้ามาถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือจัดตั้งครม.มันคงไม่ง่าย ต่อให้พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และ 8 พรรค รวมตัวกันได้ แต่คะแนนเสียงเขายังขาด เขายังต้องคุยกับ ส.ว. ซึ่งไม่ได้ง่าย พอเป็นภาพเช่นนี้เราเลยมองว่าการเมืองจะลากยาว อาจจะยาวกว่าไทม์ไลน์ของ กกต. ที่มองว่าจะได้ครม.ชุดใหม่ประมาณกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งเรามองว่าดีไม่ดีอาจจะเป็นเดือนกันยายน-ตุลาคม อันนี้เป็นมุมมองของเรา
กระทบต่อเรื่องงบประมาณ การบริหารเศรษฐกิจ
เรื่องของงบประมาณนี่ไม่ต้องสงสัยช้าอยู่แล้ว ปีนี้ไม่ทัน ดีไม่ดีถึงกลางปีหน้าด้วยซ้ำสำหรับงบประมาณปี 67 แม้สภาพัฒน์จะบอกว่ามีเงินอยู่ 1.9 ล้านล้านมาช่วย แต่ความเป็นจริงสภาพัฒน์พูดในตอนที่เขาออก GDP ไตรมาส 1 ซึ่งความเสี่ยงทุกปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการเมือง การเบิกจ่ายงบลงทุนต่างๆ มันล่าช้า ซึ่งคราวนี้ดูท่าจะล่าช้ากว่าปกติ เรามองภาพว่านอกจากงบเบิกจ่าย งบลงทุนแล้ว การเบิกจ่ายงบประจำหรือการเบิกจ่ายๆ ณ ปัจจุบันนี้จะล่าช้าไปด้วย เพราะตอนนี้ข้าราชการกระทวง ทบวง กรม ให้เกียรติรัฐบาลใหม่ ก็ไม่ได้อนุมัติโครงการใหม่ๆ หรือผลักดันโครงการใหม่ๆ ที่จำเป็น รวมทั้งกระบวนการตามปกติ การเบิกจ่ายของรัฐบาลจะล่าช้า ก็จะมีปัญหา
จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราควรมีรัฐบาลใหม่เร็วๆ เพื่อจะได้สานต่อราชการแผ่นดิน ถ้าเป็นแค่ภาพการตั้งผู้บริหารระดับสูงในองค์กรภาครัฐยังช้าแล้ว เรื่องการเบิกจ่าย การลงทุน เรื่องต่างๆ จะไม่ช้าหรือ
พอเป็นภาพนี้เราจึงปรับลดเรื่องการบริโภคภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ หดตัวหมดเลย จากที่เราเคยมองว่าจะเติบโตได้
ความเสี่ยง 3 จุด เรื่องแรกคือเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง เรื่องที่ 2 คือสภาพคล่องตึงตัว แล้วเรื่องที่ 3 คืออะไร
ตัวที่ 3 ที่เรากังวลคือภาคการเงิน แม้ว่าผมจะกังวลเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์จะกังวลเศรษฐกิจ หลายฝ่ายมองภาพเหมือนกัน แต่แบงก์ชาติยังมองภาพว่าเศรษฐกิจยังไปต่อได้ต่อเนื่อง เงินเฟ้อมีความเสี่ยงทั้งที่เงินเฟ้อตอนนี้อยู่ที่ 0.5% แต่ก็ยังกังวลว่าเงินเฟ้อจะสูงและเศรษฐกิจจะไปต่อได้ นี่คือสัญญาณจากแบงก์ชาติที่ค่อนข้างบอกชัดเจนอย่างต่อเนื่องว่าเศรษฐกิจยังไม่มีปัญหา ยังไปได้ต่อ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ที่ 2 ขึ้นมา 0.5 จะไม่มีปัญหาเรื่องการปล่อยกู้ ซึ่งภาพการปล่อยกู้เริ่มเข้าสู่การติดลบ และการลงทุนภาคเอกชนก็ติดลบแรงแล้วตอนนี้ แต่แบงก์ชาติบอกจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ ต่างกับมุมมองเราที่มองว่าไม่น่าจะขึ้นต่อ ควรจะคงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต่อให้คงดอกเบี้ยยาวไปถึงสิ้นปีท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายการเงินจะตึงตัวโดยอัตโนมัติ
ตอนนี้เราเห็นภาพแล้วเรื่องสินเชื่อที่ชะลอลง NPL ที่เริ่มสูงขึ้น สินเชื่อเช่าซื้อ ภาคอสังหาฯ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มเพิ่มขึ้นมาก คนซื้อบ้านระดับกลางหรือระดับเล็กมีปัญหาซื้อไม่ได้ กู้ไม่ผ่าน เริ่มเห็นชัดเพราะนโยบายการเงินที่ตึงตัว ซึ่งเขาก็อยากให้ตึงตัวต่อ
นอกจากความเสี่ยง 3 เรื่องนี้แล้วยังมีอีกความเสี่ยงที่แทรกเข้ามา คือเอลนีโญ หรือภัยแล้ง ซึ่งภาพมีความชัดเจนว่ามาแน่ๆ ในปีนี้ ปริมาณน้ำฝนที่ตกค่อนข้างน้อย น้ำในอ่างเก็บน้ำใหญ่ๆ ที่ใช้ได้มีอยู่ประมาณกว่า 30% ถือว่าต่ำมากถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ ทำให้เรากังวลว่าไตรมาส 4 ปีนี้ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปีหน้า พืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะพวกข้าว ข้าวโพด ยางต่างๆ จะมีปัญหามาก พอเป็นภาพเช่นนี้เรากังวลว่าภาคเกษตรจะหดตัว แต่รายได้ขึ้นอยู่กับราคาด้วยว่าจะขึ้นสูงมากไหม เรากังวลว่าราคาอาจจะไม่ได้สูงเพราะเศรษฐกิจโลกก็แย่ในช่วงนั้น ก็สอดคล้องกันทำให้ราคาไม่ได้ขึ้น ผลผลิตเกษตรแย่ ทำให้รายได้เกษตรกรแย่ไปด้วย
จากภาพที่เรามองว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา เราจึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลงจาก 3% เหลือ 2.7% แทบจะต่ำที่สุดในสำนักวิจัยต่างๆ ก็ยอมรับตรงนี้ เพราะมุมมองเราตอนแรกไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตดีมาก
ดังนั้น ในระยะต่อไปเราอยากให้ระมัดระวังเรื่องของการลงทุนในภาคต่างๆ แต่ก็ยังสามารถหาโอกาสในการลงทุนได้บ้างเผื่ออยากจะลงทุนจริงๆ ลงทุนในหุ้นก็อาจจะลงทุนในหุ้นที่มีผลประกอบการดีและมีความแข็งแกร่งเรื่องงบการเงิน ซึ่งเรามองภาพอยู่ 5 ตัว คือ BBL, BDMS, BEM, HOMEPRO และ OST
Comments