สัมภาษณ์ : คุณสิริวุทธิ์ เสียมภักดี
รองประธานคณะกรรมการบริษัท 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย
ไทยแล้งหนัก 2 ปีซ้อน กระทบผลผลิตอ้อย-น้ำตาล ปริมาณลดลงต่อเนื่อง แต่ราคาไม่กระเตื้องตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย เหตุราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแต่ทรงกับทรุด แถมกฎ WTO ค้ำคอ ทำให้ภาครัฐไม่กล้าเข้ามาอุดหนุนช่วยเหลือทั้งเกษตรกรและโรงงาน ล่าสุดเวียดนามตั้งป้อม ขยับเพดานภาษี กันท่าน้ำตาลนำเข้าจากไทย อ้างไทยดัมพ์ราคาถูกกว่า ทำให้โรงงานน้ำตาลในเวียดนามออกมาโวย มีผลให้ยอดส่งออกน้ำตาลไปเวียดนามในปีนี้ลดลง
สถานการณ์คนปลูกอ้อย โรงงานน้ำตาล ยังดีอยู่หรือไม่
ปีนี้เป็นที่รู้ดีกันว่าไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากถูกกระทบจากภาวะแล้ง 2 ปีติดต่อกัน ปริมาณอ้อยปีนี้คาดว่าน่าจะต่ำกว่าปีที่แล้วด้วย พออ้อยน้อย จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลที่จะน้อยไปด้วย
น้ำตาลน้อย ราคาก็จะแพงขึ้นตามหลักเศรษฐศาสตร์
ก็ควรจะเป็นอย่างนั้นตามหลักเศรษฐศาสตร์ดีมานด์ซัพพลาย แต่ความจริงแล้วประเทศไทยเรา ผลิตน้ำตาลได้เยอะกว่าการบริโภคในประเทศ เราก็ส่งน้ำตาลส่วนที่เหลือจากการบริโภคไปขายต่างประเทศ ทีนี้ในการขายต่างประเทศเราไม่ได้ส่งน้ำตาลเป็นอันดับหนึ่ง โดยบราซิลส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับหนึ่งของโลก ยอดส่งออกมากกว่าไทยประมาณ 7-8 เท่า เพราะฉะนั้นในการขายน้ำตาลไปยังตลาดโลก เราต้องขายส่งออกเท่ากับราคาตลาดโลก ไม่สามารถขายราคาเกินกว่าตลาดโลกได้เลย
ปัญหาที่ผ่านมาเราจะพบว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกไม่ดีนัก ทำให้รายได้ของระบบน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น จริงๆ แล้วถ้าเราผลิตน้ำตาลได้น้อย ไม่พอบริโภคในประเทศ ราคาน้ำตาลในประเทศต้องขึ้นแน่ๆ แต่เนื่องจากผลิตได้เยอะ เราก็ส่งขายต่างประเทศด้วย
แม้ช่วง 2 ปี จะผลิตน้อยลง แต่ก็ยังมากกว่าการบริโภคในประเทศ และมีส่วนที่ส่งออก
ใช่
ราคาอ้อยที่กำหนดออกมาล่าสุด
ในระบบอ้อยและน้ำตาลบ้านเรา ในการซื้ออ้อยจากชาวไร่ จะมีราคาตอนที่ซื้อครั้งแรก เราเรียกว่าราคาอ้อยเบื้องต้น เป็นราคาที่เราคำนวณโดยสมมุติเอาว่าราคาอ้อยนั้นเป็นราคาที่เราคาดว่าราคาน้ำตาลจะเป็นเท่าไหร่ และเอาสถิติจากการขายน้ำตาล 3 ปีย้อนหลังมาเทียบดูว่าจะเป็นเท่าไหร่ และคิดว่าราคาข้างหน้าจะเป็นเท่าไหร่ ก็มากำหนดราคาที่คิดว่าขายน้ำตาลได้ ว่าจะมีรายได้ประมาณเท่าไหร่ของระบบ เมื่อคำนวณรายได้อย่างนั้นออกมา เราก็มาดูว่า ราคาอ้อยเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณสัก 80-95% ของราคารายได้สุทธินั้น รายได้ค่าอ้อยเบื้องต้นที่คำนวณ นี้เป็นการตั้งสมมุติฐานจากสถิติที่ผ่านมา ฉะนั้นค่าอ้อยเบื้องต้นก็จะเป็นค่าอ้อยที่ชาวไร่รับไปก่อน
อย่างปีที่ผ่านมา ค่าอ้อยเบื้องต้นประกาศที่ 750 บาทเศษๆ พอหลังจากเราหีบอ้อยเรียบร้อยแล้ว เราขายน้ำตาลออกไปเรียบร้อยแล้ว เราก็จะรู้แล้วว่าในปีที่ผ่านมาเราขายน้ำตาลได้เท่าไหร่ รายได้ของระบบเท่าไหร่ เราก็หารออกมา ก็จะรู้ทันทีว่า ราคาน้ำตาลเมื่อขายไปแล้ว คิดคำนวณกลับมาเป็นราคาอ้อยจริงๆ เท่าไหร่ อย่างปีที่แล้วรัฐบาลประกาศว่าค่าอ้อยเบื้องต้น 750 บาท แต่สุดท้ายค่าอ้อยที่ขายได้จริง 833 บาท แต่ว่าเราจ่ายค่าอ้อยเบื้องต้นไป 750 บาท ฉะนั้นโรงงานจะต้องจ่ายส่วนต่างให้ชาวไร่อีก
สำหรับราคาค่าอ้อยต้องบอกว่าจะไม่รู้ได้ทันที ต้องรอจนกระทั่งขายน้ำตาลหมดเรียบร้อยแล้ว ประเด็นก็คือเป็นธรรมชาติของธุรกิจน้ำตาล เป็นการขายน้ำตาลล่วงหน้าทั้งนั้น ไม่ใช่ผลิตน้ำตาลมากองไว้แล้วค่อยๆ ขาย ปกติจะขายล่วงหน้าเป็นการรับความเสี่ยงว่าอ้อยปีนี้หรืออ้อยปีที่เราหีบจะมีอ้อยประมาณเท่าไหร่ แต่เราขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้ว อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงของเราในปีนี้ ถ้าอ้อยน้อยอาจจะขายเกินกว่าที่จะผลิตได้ ตรงนั้นเป็นความเสี่ยงของโรงงาน
โรงงานต้องไปกู้เงินเพื่อมาชดเชย
ในระบบอ้อยและน้ำตาล ตอนที่ชาวไร่ต้องการเงินมาสำหรับปลูกอ้อย ก็มาขอความช่วยเหลือจากทางโรงงาน โรงงานก็จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเรารู้จักกันในระบบอ้อยและน้ำตาลเงินเกี๊ยว ก็คือเงินที่โรงงานน้ำตาลให้กับชาวไร่ จ่ายเป็นเช็ค และชาวไร่ก็เอาเช็คนั้นไปขายลดให้กับแบงก์ ก็จะได้เงินไป ชาวไร่อ้อยก็จะเอาเงินนั้นไป เป็นทุนเพาะปลูกอ้อย ดูแลบำรุงรักษาจนกระทั่งถึงฤดูตัด เมื่อตัดอ้อยกลับเข้ามาช่วงที่ตัดก็จะมีการจ่ายค่าอ้อย ส่วนหนึ่งก็จ่ายเป็นเงินสด ส่วนที่เหลือก็จ่ายเป็นเช็ค ก็มีการหักหนี้ค่าเกี๊ยวไป ระบบก็จะเป็นอย่างนั้น ตอนที่โรงงานจ่ายค่าอ้อยเป็นเช็ค โรงงานก็ต้องไปกู้เงินจากแบงก์มา เมื่อถึงเวลาขายน้ำตาล ก็ต้องเอาเงินคืนแบงก์ไป
ระบบนี้ยังอยู่ได้ ยังไม่ถูกกระทบภาวะความผันผวนของราคาตลาดโลก
เจอมากเลยในช่วง 2-3 ปีติดๆ กันมา ราคาน้ำตาลไม่สูง ก็กระทบมาถึงรายได้ ซึ่งรายได้จากระบบต้องบอกว่าเราอยู่ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่เราเรียกว่า 70:30 ก็คือรายได้ที่ขายได้เท่าไหร่ ก็มาหักค่าแปรผันอะไรต่างๆ เหลือเท่าไหร่ก็เอามาหารเป็นของชาวไร่ 70 และของโรงงาน 30 ชาวไร่รับไปเบื้องต้น เป็นค่าอ้อยเบื้องต้นเท่าไหร่ ถ้ารายได้ยังมีเหลือก็จ่ายตามระบบนั้น ถ้าเผื่อว่ารายได้ลดลง ก็เท่ากับโดนด้วยกันทั้งคู่ทั้งชาวไร่และโรงงาน
รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยหรือไม่
ที่ผ่านมารัฐบาลเข้ามาช่วยด้วย เนื่องจากราคาอ้อยที่ได้หรือรายได้จากการขายน้ำตาลในระบบ คำนวณออกมาแล้วบอกได้ว่าไม่คุ้มกับตัวต้นทุนในการผลิตอ้อย ชาวไร่ก็เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ รัฐก็เข้ามาช่วยเหลือโดยการกู้ยืมเงินหรือซัพพอร์ตให้เป็นเงินช่วยปัจจัยการผลิตอะไรต่างๆ ที่ผ่านมาเราช่วยเหลือกัน ซึ่งทางบราซิลบอกว่ารัฐบาลเข้ามาอุดหนุน เท่ากับผิดกฎ WTO ซึ่งเราก็ได้มีการแก้ไขไป การที่รัฐเคยอุดหนุน คือขึ้นราคาขายในประเทศ 5 บาท เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้แล้ว ไม่มีแล้ว ยกเลิกกันไป
ราคาล่วงหน้าน้ำตาล ดูแล้วจะเพิ่มขึ้นหรือไม่
ผู้ที่ขายน้ำตาลมากที่สุดคือบราซิล ฉะนั้นราคาก็จะผันแปรไป บังเอิญที่ผ่านมานอกเหนือจากราคาน้ำตาลไม่ขึ้นเนื่องจากมีปริมาณซัพพลายมากกว่าดีมานด์ที่ของการบริโภคแล้ว ก็ต้องบอกว่าอีกเรื่องหนึ่งที่เราเจอคือเรื่องของการระมัดระวังเรื่องสุขภาพ คือกินน้ำตาลมากก็จะเป็นโรคอ้วน ก็เลยทำให้ดีมานด์ในการบริโภคซึ่งปกติจะขึ้นปีละประมาณ 2% ก็เลยทรงๆ ขณะเดียวกันในช่วง 1 -2 ปี ซัพพลายก็ยังทรงๆ อยู่ โดยเฉพาะประเทศไทยปริมาณอ้อยน้อยก็เลยทรงๆ อยู่
เมื่อก่อนใช้ราคาขายปลีกไปอุดหนุนผู้ปลูก โรงงาน
ที่ผ่านมาในอดีตราคาขายปลีกถูกบวกไป 5 บาท ราคาที่ขายจากหน้าโรงงานอยู่ที่ประมาณลบ 5 บาทไป เช่นขายปลีก 20 บาท ลด 5 บาทไปก็จะเหลือ 15 บาท แต่ว่าเมื่อไม่มี 5 บาทแล้วก็ต้องไปดูว่าต้นทุนจริงๆ เท่าไหร่ ต้นทุนก็จะมีเรื่องต้นทุนการผลิตอ้อยกับต้นทุนเรื่องของการทำน้ำตาล ก็มีสองต้นทุนที่บวกมาร์จิ้นนิดหน่อย อันนี้ก็จะเป็นราคาซึ่งมีการขายน้ำตาลออกไป
เรื่องเอทานอลมีผลอะไรหรือไม่
เรื่องเอทานอลจริงๆ ที่ผ่านมาเรามี 2 ตัวคือกากน้ำตาลกับมันสำปะหลัง ซึ่งแอลกอฮอล์ตัวนี้ขึ้นกับราคาน้ำมันโลกเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐด้วยว่าจะผลักดันให้ใช้มากน้อยเพียงใด ที่ผ่านมาเราก็พยายามผลักดันให้มีแอลกอฮอล์ตัวนี้ให้เพียงพอใช้ในประเทศ เราไม่มีการส่งออกไปเลย ราคาส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ 23-24 บาท
ตั้งแต่เกิดโควิด-19 คนใช้แอลกอฮอล์กันมาก
นิดหน่อย ไว้สำหรับล้างมือฆ่าเชื้อ ก็เพิ่มขึ้นนิดหน่อย ไม่ได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำ
ล่าสุดมีข่าวว่าเวียดนามจะเก็บภาษีนำเข้าน้ำตาลทราย เพื่อป้องกันการทุ่มตลาด ตรงนี้กระเทือนหรือไม่
ในอดีตที่ผ่านมาเราขายน้ำตาลให้เวียดนาม โดยปี 2561 เราขายให้เวียดนามประมาณ 2.4 แสนตัน ปี 2562 อยู่ที่ 2.9 แสนตัน ส่วนปี 2563 ขึ้นไปถึง 1.2 ล้านตัน คือขึ้นไปเยอะ เกือบ 300% การที่ขึ้นอย่างนั้นต้องเข้าใจก่อนว่า การขายน้ำตาลของเรา เราขายให้กับเทรดเดอร์ ก็คือตัวกลาง เขาก็จะซื้อน้ำตาลเป็นการซื้อล่วงหน้า เขาก็ทำสัญญากับเราว่าราคาเท่าไหร่ ซึ่งที่ขายเราขายในราคาตลาดโลก คงไม่ได้ขายราคาเกิน เพราะเทรดเดอร์คงไม่ซื้อในราคาที่สูงจนเกินไป เขาซื้อน้ำตาลเสร็จ เขาก็คอยว่าน้ำตาลเราจะส่งมอบเมื่อไหร่ ในขณะนั้น เทรดเดอร์ก็จะต้องหาทางว่าเขารู้แล้วว่าเขามีน้ำตาลราคาขนาดนี้ เขาก็ค่อยหาผู้ซื้อ ที่เขาสามารถขายได้ในราคาที่เขาก็ต้องบวกกำไร
ที่ผ่านมาราคาน้ำตาลโลกมันต่ำ เทรดเดอร์ก็สามารถขายน้ำตาลออกไปได้ ประเด็นสำคัญเขาก็ไปหาว่าผู้ซื้อที่ไหนๆ บังเอิญที่ผ่านมาเขาไปขายให้กับผู้ซื้อทางเวียดนามมาก ทีนี้ผู้ที่ซื้อจากเทรดเดอร์ เป็นใครบ้างเราก็ไม่รู้ เรารู้เฉพาะเทรดเดอร์เท่านั้น ถึงเวลาเราก็ส่งน้ำตาลไป บังเอิญปีที่ผ่านมามันเข้าไปที่เวียดนามเยอะ ทางเวียดนามก็บอกว่าอย่างนี้มันก็เท่ากับการดัมพ์ตลาดในเวียดนาม ซึ่งทางเราเองบอกว่าเราไม่รู้จริงๆ แต่ฝั่งเวียดนามเขาก็ตั้งแง่ว่าน้ำตาลที่เข้าไปมันถูกกว่าน้ำตาลในประเทศเขา เพราะเขาก็มีโรงงานน้ำตาลเหมือนกัน เขาก็บอกว่าถ้าทำอย่างนั้น โรงงานน้ำตาลเขาก็จะแย่ ก็จะล้ม เขาก็เลยบอกถ้าอย่างนั้นจะขอตั้งกำแพงภาษีไว้
ถามว่าเรื่องดังกล่าวจะกระทบไทยหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ที่ขายไปแล้วก็ขายไป แต่ประเด็นคือผลกระทบจะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ ก็มีผลเหมือนกันในตลาดนี้ แต่ต้องถามว่าน้ำตาลเราก็ขายเยอะไปหมด ซึ่งเราเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกของอาเซียนทั้งหมด ส่วนประเทศอื่นเป็นผู้ซื้อ ประเด็นคือว่าถ้าเวียดนามไม่ซื้อก็จะมีประเทศอื่นซื้อ แต่ก็เห็นใจทุกประเทศว่าต้องป้องกันอุตสาหกรรมภายในของตัวเอง
ทีนี้เราเอง เราผลิตมาก เราจะขายในราคาสูงก็ไม่ได้ เพราะเรามีบราซิลเป็นคู่แข่ง และยังมีคู่แข่งอื่นๆ อีก มันก็เป็นอย่างนั้น ทุกๆ ประเทศต้องดูแลว่าทำอย่างไรจะช่วยอุตสาหกรรมภายในประเทศให้มันยืนได้
จริงๆ คือ เทรดเดอร์เป็นตัวกลางเอาน้ำตาลจากไทยไปขาย
ภาษีก็เก็บจากเทรดเดอร์ แต่ถามว่าล็อตใหม่ที่เทรดเดอร์จะซื้อ เขาก็ต้องคิดมาก เพราะราคาน้ำตาลไทยถ้าเข้าไปในตลาดเวียดนามก็แพง เทรดเดอร์ก็บอกว่าไม่ขายเวียดนาม จะไปขายที่อื่นแทน โอกาสของน้ำตาลไทยก็น้อยลงไป แต่ว่าบังเอิญปีนี้อ้อยเราน้อย น้ำตาลเราก็ไม่มากนัก เราก็คงจะไม่เดือดร้อนเท่าไหร่
ส่วนนี้เป็นน้ำตาลทรายดิบ
คือเราขายทั้งดิบและขาว
กฎหมายอ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ มีหลายร่างที่กำลังเข้าสภา
เนื่องจากมีการเสนอเข้าไปเพื่อปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ซึ่งจริงๆ แล้ว ด้วยวัตถุประสงค์ที่บอกว่าพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลมันเกิดมาตั้งแต่ปี 2527 คือ 37 ปีมาแล้ว เขาก็มองกันว่ากฎหมายเก่าไปแล้ว กฎระเบียบต่างๆ น่าจะมีการปรับปรุงบ้าง แก้ไขบ้าง และประเด็นที่ตามมาก็คือ เนื่องจากสถานการณ์การทำธุรกิจอ้อยและน้ำตาลเปลี่ยนไปเยอะ กฎระเบียบต่างๆ ข้อบังคับต่างๆ ก็ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน อันนี้ก็เป็นเหตุผล
แต่ประเด็นสำคัญก็มี 2-3 ประเด็นหลักก็คือในพ.ร.บ.เดิม พูดกันถึงเรื่องของผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ตัวแรก ซึ่งในพ.ร.บ.เดิมนั้น พูดถึงเฉพาะน้ำตาลซึ่งเป็นผลิตผลหลัก แล้วผลพลอยได้ในพ.ร.บ.เดิมนั้น เขียนว่าผลพลอยได้ แต่ผลพลอยได้เมื่อตกลงกันแล้วระหว่างชาวไร่กับโรงน้ำตาลเป็นเฉพาะกากน้ำตาล แต่ว่าของใหม่นี้ประเด็นมาอยู่ตรงที่บอกว่า ผลผลิตเนื่องจากน้ำตาลมันถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น เอาน้ำตาลไปทำอย่างอื่นเยอะแยะ ก็มีการคิดว่าน่าจะเพิ่มคำว่า เอาน้ำตาล เอาอ้อยที่ผลิตเป็นน้ำตาล เอาน้ำตาลไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น มันมีคำว่าผลิตภัณฑ์อื่นขึ้นมา ก็จะต้องถกเถียงกันว่าคำว่าผลิตภัณฑ์อื่นนั้นมันใช่หรือเปล่า เพราะว่าเราหีบอ้อยก็ได้น้ำตาล แต่คนที่จะเอาน้ำตาลไปทำอย่างอื่นมันเป็นอีกธุรกิจหนึ่งแล้ว แต่เขาบอกว่าใครที่เอาน้ำตาลไปต้องถือว่าเป็นผลผลิตจากอ้อย จึงมีคำว่าผลิตภัณฑ์อื่น ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน
อีกประเด็นหนึ่งก็คือผลพลอยได้ เมื่อก่อนผลพลอยได้จะมีกากน้ำตาล แต่ว่าจากกระบวนการผลิตนั้นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต เขาก็ไปตีความว่าเมื่อก่อนผลพลอยได้คือกากน้ำตาลอย่างเดียว ส่วนที่เหลือเป็นของเสียจากกระบวนการผลิต เช่น ชานอ้อย น้ำเสีย อิฐ หิน ดินทรายที่ติดมากับอ้อย แต่ว่าเมื่อติดมาเยอะๆ ก็เอาสิ่งเหล่านี้ไปหาทางขจัด เนื่องจากมีโนว์ฮาวเทคโนโลยีต่างๆ ก็ลงทุนมากขึ้น บังเอิญอย่างเช่นชานอ้อยก็เอาไปเผา ไปผลิตไฟฟ้า ก็มีการบอกว่าตรงนี้เป็นผลพลอยได้ หรือกากน้ำตาลเอาไปผลิตเป็นเอทานอลซึ่งก็เป็นผลพลอยได้ ก็เลยเป็นประเด็นที่จะต้องพูดคุยกัน ซึ่งที่ส่งไปมีทั้งหมด 8 ร่าง
Comments