top of page
image.png

"สุทธิ รจิตรังสรรค์" ปั้น THREL สำเร็จ


ในบรรดาแวดวงประกันภัยนั้น น้อยคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรแล้วได้รับความเชื่อมั่น ความไว้วางใจอย่างสูงจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตร คู่ค้าและผู้ถือหุ้น ไม่เว้นสำหรับ “สุทธิ รจิตรังสรรค์” ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยรีประกันชีวิต หรือ THREL ที่ปลุกปั้นอาณาจักรแห่งนี้ให้กลายเป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทน้ำดีในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยผลประกอบการที่ต้องถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม มีความโปร่งใส สะอาด จับต้องและผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงได้ในทุกมิติ

นายสุทธิ กล่าวถึงความสำเร็จของ THREL ในวันนี้ว่าตลอดห้วงเวลาที่นั่งบริหารมาพบว่า THREL โชว์ผลงานได้ดีต่อเนื่อง เฉพาะช่วงไตรมาส 4/2563 กำไรสุทธิพุ่งกว่า 2 เท่า เกือบแตะ 50 ล้านบาท หลังกวาดเบี้ยประกันภัยต่อที่ถือเป็นรายได้สุทธิ 590 ล้านบาท ค่าเคลมสินไหมลดลงและตั้งสำรองพิเศษจบ ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2563 ว่า บริษัทมีเบี้ยประกันภัยต่อที่ถือเป็นรายได้สุทธิ จำนวน 590 ล้าน เพิ่ม 6% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายลดลงกว่า 40 ล้านบาท หรือราว 7% จากค่าสินไหมที่ลดลง ส่งผลให้กำไรจากการรับประกันภัยแตะ 70 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 2 ปี หนุนกำไรสุทธิเกือบแตะ 50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 202% หรือกว่า 2 เท่า โดยมีเบี้ยประกันภัยต่อที่ถือเป็นรายได้สุทธิเกือบ 2,300 ล้านบาท กำไรสุทธิ 121 ล้านบาท ทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผล 0.14 บาท/หุ้น ซึ่งสูงกว่าขั้นต่ำของนโยบายจ่ายเงินปันผลที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิสวนกระแสตลาดประกันชีวิตที่ติดลบเกือบ 2% ตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ความคืบหน้าล่าสุดของปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับ “Pacific Life Re” ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยต่อในกลุ่มแปซิฟิก ไลฟ์ ประกันชีวิตและสุขภาพรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชัน เพิ่มทางเลือกใหม่ๆ เป็นการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมประกันชีวิตไทย สอดรับแนวนโยบายสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ด้วยการมองหาโอกาสผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ๆพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนธุรกิจประกันชีวิตประเภทร่วมพัฒนา (Non-conventional Reinsurance) ให้เพิ่มขึ้นเป็น 60% ภายในระยะ 3 ปี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนราว 48 : 52 เมื่อเทียบกับธุรกิจประกันชีวิตประเภทดั้งเดิม (Conventional Reinsurance) ควบคู่กับเดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศ เพื่อผลักดันอัตรากำไรให้เพิ่มสูงขึ้น สร้างการเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป

ทั้งนี้ ดีลกับ Pacific Life Re ที่เป็นพันธมิตรใหม่กับบริษัท เซ็นสัญญากันเมื่อช่วงต้นปีนี้ ซึ่ง Pacific Life Re มีเครือข่ายและมีความสามารถและประสบการณ์ในการทำสินค้า จุดประสงค์หลักในการทำงานร่วมกัน คือ บริษัทต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับ Pacific Life Re ซึ่งทาง Pacific Life Re มองว่าบริษัทเป็น Local Reinsurance มีความใกล้ชิดและเข้าใจตลาด

ขณะที่ Pacific Life Re มีประสบการณ์ในการทำสินค้าในต่างประเทศและมีสถิติต่างๆ ความมือร่วมกันครั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่าจะเร่งอัตราการทำสินค้าที่เป็นกลุ่ม Non-Conventional ผ่าน Collaboration โดยมีการตั้งคณะทำงานประชุมร่วมกันและเริ่มเซ็ตอัพสินค้าขึ้นมา คาดว่าภายในกลางปีนี้ จะออกผลิตภัณฑ์มาได้ เพื่อไปนำเสนอให้ลูกค้า

นอกจากนี้ Pacific Life Re ยังมี Data Analytics เพื่อมาร่วมกันวิเคราะห์ค่าสถิติต่างๆ ที่บริษัทมีอยู่ เพื่อให้สามารถปรับปรุงคุณภาพสินค้า การทำ Pricing และการทำเคลมต่างๆ อีกส่วนที่สำคัญคือเทคโนโลยี Pacific Life Re มีแอปพลิเคชันเกี่ยวกับเครื่องมือการขายสำหรับตัวแทน ซึ่งใช้กับหลายประเทศทั่วโลกไปแล้ว ซึ่งเขามองว่าแอปนี้ จะมาช่วยเรื่องการส่งเสริมการขายให้กับตัวแทนในประเทศไทยได้ โดยให้บริษัทช่วยทำการตลาดให้และช่วยดูว่าเหมาะกับบริษัทในประเทศในลักษณะไหน เหล่านี้ถือเป็นการมาร่วมเพิ่มศักยภาพในการทำให้ THREL มี Total Solution ให้กับลูกค้าได้มากขึ้น

ในงาน Opportunity Day (งานผู้บริหาร บจ.พบนักลงทุน) เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาTHREL ระบุไฮไลต์หลักๆ ว่าปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด 13% ได้เครดิตเรตติ้งจาก A.M.Best ในระดับ A- มาโดยตลอด มีสัดส่วนของเงินกองทุน (CAR Ratio) 429% ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำ 140% ได้ CG Score 5 ดาว ได้ AGM Score อยู่ที่ 100 คะแนนเต็ม THREL เป็น Reinsurance ที่มีความเข้าใจตลาดและให้บริการได้รวดเร็ว ลูกค้าจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าหากใช้บริการกับ THREL โดยรูปแบบธุรกิจ (BUSINESS MODEL) จะมี 2 ส่วน คือ งานธุรกิจแบบดั้งเดิม (Conventional) และงานร่วมพัฒนาธุรกิจกับลูกค้า (Non-Conventional)

ภาพรวมตลาดประกันชีวิตไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตมาตลอด เพิ่งปรับลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เบี้ยประกันชีวิตรวมทั้งตลาดในปี 2563 ที่ผ่านมา มีประมาณ 6 แสนล้านบาทเศษ ติดลบ 1.7% การลดลงของเบี้ยประกันภัยนั้น เกิดจากการปรับฐานอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้ผลิตภัณฑ์แบบสะสมทรัพย์ ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นการขายแบบความคุ้มครอง จึงทำให้เบี้ยประกันทั้งตลาดลดลงไป แต่ในปีที่ผ่านมา เบี้ยประกันปีต่ออายุเริ่มเติบโตขึ้น แต่เบี้ยประกันรับปีแรกยังคงลดลง เพราะสถานการณ์โควิด-19

ปัจจุบัน ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดประกันชีวิตไทย พบว่า 2 ใน 3 เกิดจากธุรกิจที่เป็นรายสามัญ (OL) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 66% และมีแนวโน้มลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่กลุ่มประกันสุขภาพที่เป็นส่วนของสัญญาเพิ่มเติม (ไรเดอร์) มีทิศทางเติบโตตลอด

ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยประกันรวม 2,239 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยระยะยาวและเบี้ยระยะสั้น โดยเบี้ยประกันแบบระยะยาว หรือ Long term เป็นเบี้ยประกันชีวิตที่มีการต่ออายุไปเรื่อยๆ (Renewal) 1,061 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8% อีก 4% เป็นเบี้ยประกันสุขภาพ 1,270 ล้านบาท ส่วนงาน Non-Conventional มีเบี้ย 1,132 ล้านบาท เติบโต 5% จากการเร่งพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้กับลูกค้า มีกำไรจากการรับประกัน เพิ่มขึ้นจาก 93 ล้านบาท เป็น 109 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 17% ส่วนงาน Conventional มีการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นเบี้ยเครดิตไลฟ์ที่ชะลอตัวตามลูกค้าสินเชื่อแบงก์

ไฮไลต์ของปีนี้และช่วง 3-5 ปี บริษัทยังคงเน้นงาน Non-Conventional จากการหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิต โดยวางเป้าหมายการเติบโตประมาณ 3% อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าต้องมีการปรับตัวเพิ่มศักยภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งภายนอกได้ จึงกำหนดแผนกลยุทธ์ โดยมองไปที่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งเริ่มทำแล้วตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งถ้าสามารถทำตามแผนได้ คาดว่าจะได้เบี้ยประกันเพิ่มเข้ามาในสัดส่วนประมาณ 5-10%

เหล่านี้จะช่วยเพิ่มการเติบโต โดยเฉพาะการมีพันธมิตรใหม่ๆ ซึ่งจากเดิมทำอยู่กับบริษัทประกันชีวิตในประเทศ 22 ราย เพื่อเป็นการเติมเต็มโซลูชันให้กับลูกค้า โดยที่บริษัทไม่ได้มองว่ารีอินชัวเรอร์ต่างประเทศเป็นคู่แข่งแล้ว แต่จะมองเป็นพันธมิตรกับบริษัทมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นรีอินชัวเรอร์ สตาร์ทอัพและ Tech Partner ซึ่งแผนงานที่วางไว้ในส่วนพันธมิตรที่เป็นสตาร์ทอัพและ Tech Partner นั้น ซึ่งบริษัทมองจากนี้ไป ธุรกิจประกันชีวิตจะไม่ใช่เทรนด์สินค้าธรรมดา แต่บริษัทต้องการโซลูชันที่เป็นแอปพลิเคชันที่เข้ามาทำให้ธุรกิจน่าสนใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัททำโครงการ ESG ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ THREL เป็นหุ้นที่ยั่งยืน เพราะธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจสำคัญในการผลักดันให้สังคมเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการทำประกัน เพราะการประกันชีวิต สามารถจะดูแลนักลงทุนและผู้เอาประกันได้อย่างยั่งยืนในอนาคต


224 views

Comments


bottom of page