ที่มา: TISCO Economic Strategy Unit (ESU)
กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬารายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดือน ม.ค. 2020 มีจำนวน 3,810,155 คน เพิ่มขึ้น 2.5% YoY (vs. +2.5% เดือนก่อน) โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะจีน (-3.7%) ด้านนักท่องเที่ยวจากประเทศที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อ หดตัวหรือขยายตัวเล็กน้อย อาทิ เกาหลีใต้ (-3.5%) ญี่ปุ่น (+1.7%) และสหรัฐฯ (-2.6%) อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวบางแห่งยังขยายตัวดี อาทิ อาเซียน (+12.3%) และ EU (+3.4%)
ด้านรายได้จากการท่องเที่ยว อยู่ที่ 188,788 ล้านบาท หดตัว -3.6% YoY จากรายได้ของนักท่องเที่ยวหลักที่ลดลง อาทิ จีน (-10.0%) เกาหลีใต้ (-6.4%) EU (-2.7%) และสหรัฐฯ (-7.1%)
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติฯ ประกาศให้โรคไวรัส COVID-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงลำดับที่ 14 ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่พบผู้ติดเชื้อในวงจำกัด แต่ยังไม่เข้าระยะที่ 3 ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง อย่างไรก็ดี อยู่ระหว่างการพิจารณาและติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการปรับขึ้นเป็นระยะที่ 3 หรือไม่ เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ เราได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 1.7% (จากประมาณการเดิมที่ 2.6% ก่อนมีการแพร่ระบาดของไวรัส) โดยในกรณีฐาน เรามีสมมติฐานว่าการแพร่ระบาดของไวรัสจะรุนแรงที่สุดใน 1Q20F (คาดกดดัน GDP ในไตรมาสแรกให้หดตัวราว 2% YoY) และเริ่มคลี่คลายใน 2Q20 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะลดลง 2.2 ล้านคนจากปีก่อน (หรือ -5.6%)
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ล่าสุดของการแพร่ระบาดยังมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อ โดยแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศจีนจะลดลงเหลือประมาณไม่เกิน 1,000 รายต่อวัน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆ (ที่ไม่ใช่จีน) กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ.
ดังนั้น เรายังคงจับตาความเสี่ยงที่จะทำให้ GDP ที่เราคาดการณ์มีแนวโน้มด้านต่ำ โดยหากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อในไตรมาส 2 อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงกว่าที่ประเมินไว้ในกรณีฐานว่าจะลดลงเพียง 2.2 ล้านคนจากปีก่อน และทำให้เราต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงอีกครั้ง
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังน่ากังวล อาจกดดันให้ ธปท. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้ หากความเสี่ยงรุนแรงกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว เราคาดว่า ธปท. จะปรับลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติมอย่างช้าไม่เกิน 2Q20F (คณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีการประชุมในวันที่ 25 มี.ค., 20 พ.ค. และ 24 มิ.ย.)
Comentarios